แผนแม่บทพอร์ทัลกลางเพื่อประชาชน ระยะ 3 ปี (Citizen Portal Roadmap)
ที่มาโครงการ
ด้วยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) ภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่สนับสนุนการเชื่อมโยงบริการดิจิทัลของหน่วยงานรัฐให้เกิดบริการสาธารณะแบบเบ็ดเสร็จ ตามที่คณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลกำหนด เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน ซึ่งปัจจุบันพบว่าหน่วยงานของรัฐได้ให้บริการประชาชนผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น การลงทะเบียนขอรับสิทธิสวัสดิการ การขอใช้บริการของภาครัฐ งานทะเบียน และการขอใบอนุญาต ณ ที่ทำการของหน่วยงานของรัฐ แม้ปัจจุบันในบางบริการ หน่วยงานผู้รับผิดชอบได้มีการพัฒนาและให้บริการในรูปแบบออนไลน์แล้ว แต่พบว่าประชาชนยังไม่สามารถทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัลกลางของประเทศได้ทั้งหมดแบบครบวงจร อีกทั้งบางงานบริการยังต้องยื่นส่งเอกสารหลายขั้นตอน และต้องติดต่อหลายหน่วยงานที่มีสถานที่ทำการห่างไกล ซึ่งอาจเกิดความไม่สะดวกและมีโอกาสเกิดความเหลื่อมล้ำในช่องทางการเข้าถึงบริการของรัฐ ผนวกกับความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทางเทคโนโลยี ส่งผลให้ประชาชนมีความคาดหวังที่สูงขึ้นต่อการรับบริการจากภาครัฐที่ควรมุ่งเน้นความสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น
สพร. จึงได้จัดทำแผนแม่บทพอร์ทัลกลางเพื่อประชาชน ระยะ 3 ปี (Citizen Portal Roadmap) เพื่อวางรากฐานของประเทศในการยกระดับการให้บริการประชาชน โดยการพัฒนาระบบกลางของประเทศที่รวบรวมงานบริการภาครัฐเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการติดต่อขอรับบริการผ่านช่องทางออนไลน์ โดยได้ทำการศึกษาวิเคราะห์ความต้องการและความคาดหวังของประชาชนต่อการรับบริการภาครัฐ (Citizen’s Needs Analysis) และแบบอย่างการพัฒนาบริการดิจิทัลจากประเทศผู้นำ (Leading Practice Analysis) เพื่อสังเคราะห์แนวทางการพัฒนาบริการดิจิทัลสำหรับประเทศไทย รวมถึงดำเนินการรวบรวมข้อมูลบริการที่เกี่ยวข้องกับประชาชน พร้อมสำรวจสถานภาพปัจจุบันของงานบริการ เพื่อนำมาจัดลำดับความสำคัญของงานบริการสำหรับประชาชน (Service Prioritization)
นอกจากการศึกษาข้างต้นแล้ว สพร. ยังได้จัดประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ทั้งด้านขีดความสามารถของระบบ บริการที่อยู่บนพอร์ทัล อุปสรรคและสิ่งที่ต้องการได้รับการสนับสนุน ซึ่งข้อมูลดังกล่าวนี้ ได้นำมาประกอบและจัดทำเป็นแผนแม่บทพอร์ทัลกลางเพื่อประชาชน ระยะ 3 ปี ซึ่งจะเป็นกรอบแนวทางการพัฒนาที่ สพร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปขับเคลื่อนต่อได้จริงในทิศทางที่สอดคล้องกัน