ดีอี สธ. และ อีจีเอ ร่วมจับมือลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่องการดำเนินการเพิ่มคุณภาพการบริการด้านสุขภาพผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล


6 January 2560
3394

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) โดย ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรี ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดย ศ.คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรี และ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (EGA) โดย ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่องการดำเนินการเพิ่มคุณภาพการบริการด้านสุขภาพผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2560 ณ ห้องประชุม ชั้น 9 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม อาคารรัฐประศาสนภักดี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาฯ 

การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการบูรณาการด้านข้อมูลการแพทย์และสุขภาพ พัฒนาขีดความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ ให้มีความปลอดภัยและเกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม สนับสนุนการใช้ประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพการดูแลรักษาในระบบสุขภาพของประเทศร่วมกันได้ เกิดระบบจัดการความรู้สุขภาพที่ช่วยให้ประชาชนรู้เท่าทันสุขภาวะได้ด้วยตนเองด้านการสร้างการรับรู้ด้านสุขภาพผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล (Health Literacy) ซึ่งบูรณาการความร่วมมือจากทุกหน่วยงานด้านสุขภาพทั้งภาครัฐและเอกชน  และขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัลภายใต้มาตรการสำคัญในระยะต้น ได้แก่ การบูรณาการข้อมูลผ่านระบบเชื่อมโยงข้อมูลกลาง โครงสร้างพื้นฐานในการให้บริการอิเล็กทรอนิกส์

———————————————————————

ข่าวประชาสัมพันธ์
สามหน่วยงานรัฐ สธ. DE และ EGA ร่วมมือพัฒนาระบบแพทย์ทางไกล วางเครือข่ายระบบ GIN เสริมแพลทฟอร์มและซอฟต์แวร์ใหม่รองรับการเชื่อมโยงศูนย์พยาบาลเกือบ 120 แห่งทั่วประเทศถึงกัน พร้อมบันทึกองค์ความรู้ทางการแพทย์เผยแพร่ในเครือข่าย

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ DE เปิดเผยว่ารัฐบาลได้นำแนวคิดระบบการแพทย์ทางไกล (TeleMedicine) ที่หยุดให้บริการไปกลับมาให้บริการใหม่ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยให้สามหน่วยงานคือ DE กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ร่วมมือกันวางโครงสร้างทั้งระบบเครือข่าย ระบบไอที แอปพลิเคชัน เพื่อเชื่อมโยงศูนย์ให้บริการทางการแพทย์ของไทย 116 แห่งให้มีความทันสมัย

การแพทย์ทางไกล (TeleMedicine) เป็นการนำเอาความก้าวหน้าด้านการสื่อสารโทรคมนาคมมาประยุกต์ใช้กับการบริการทางการแพทย์ โดยใช้การส่งสัญญาณข้อมูลภาพและเสียงผ่านสื่อ ควบคู่กับเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ทำให้แพทย์สามารถติดต่อกันได้ด้วยภาพเคลื่อนไหวและเสียง สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลคนไข้ระหว่างกันและกัน พร้อมกับแลกเปลี่ยนประสบการณ์และปรึกษาหารือเสมือนว่าอยู่ในห้องเดียวกัน นอกนั้นยังสามารถนำมาใช้ประชุมปรึกษาหารือ ด้านการบริหารงาน วิชาการ และการเรียนการสอนหรือศึกษาทางไกล เป็นการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอันทันสมัย มาช่วยสนับสนุนการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพ เพิ่มคุณภาพการให้บริการแก่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร รวมถึงพื้นที่ห่างไกลจากตัวเมืองที่ต้องใช้ระยะเวลาในการเดินทางยาวนานและมีความยากลำบากในการเดินทางเพื่อเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุข เช่น พื้นที่บริเวณชายขอบจังหวัดทางภาพตะวันตก เป็นต้น

ระบบนี้จะเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการรักษาพยาบาลแก่ประชาชนในท้องที่ห่างไกลซึ่งขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เป็นการพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขในชนบท ที่่ผ่านมา
ได้มีการติดตั้งอุปกรณ์ระบบแพทย์ทางไกลผ่านดาวเทียมในปี 2538-39 จำนวน 20 แห่ง ประกอบด้วยโรงพยาบาลในส่วนภูมิภาค 17 แห่ง โดยระบบสื่อสารโทรคมนาคมที่เหมาะสมสำหรับระบบการแพทย์ทางไกลผ่านดาวเทียมขณะนั้น คือการใช้ช่องสัญญาณดาวเทียม C-Band ขนาด 1/8 transponder บนเครือข่าย VSAT (Very Small Aperture Terminal) เนื่องจากเหมาะสมสำหรับสภาพภูมิศาสตร์และระยะทางของพื้นที่ห่างไกล ไม่มีผลกระทบจากเมฆฝนต่อการรับส่งสัญญาณ โดยใช้งานในกิจกรรมหลัก 4 ประการ คือ ระบบการประชุมทางไกล  Video Conferencing, ระบบการปรึกษาแพทย์ทางไกล Medical Consultation มีระบบย่อยเป็น TeleRadiology TeleCardiology TelePathology, ระบบการเรียนการสอนทางไกล Distance Learning, ระบบเชื่อมโยงเครือข่ายข้อมูลและโทรศัพท์

อย่างไรก็ตามปัจจุบันไทยมีความพร้อมใช้งานของโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศทั้งคุณภาพความเร็ว และความมีเสถียรภาพ ประกอบกับนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ทำให้มีโครงการขยายโครงข่ายใยแก้วนำแสง (Fiber Optic) ไปยังชุมชนพื้นที่ห่างไกลทั่วประเทศ การสร้างระบบ TeleMedicine ให้ประสบความสำเร็จจึงสามารถดำเนินการได้โดย
(1) ใช้เครือข่ายสารสนเทศภาครัฐ (Government Information Network : GIN) ในการสื่อสารข้อมูลภาพและเสียง
(2) ใช้ระบบ VDO High definition (HD) ซึ่งมีความละเอียดสูงทั้งภาพและเสียง ช่วยให้แพทย์สื่อสารกันได้อย่างชัดเจน สนับสนุนให้การวินิจฉัยโรคมีความถูกต้องแม่นยำมากยิ่งขึ้น
(3) ดำเนินงานสอดคล้องกับแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) ของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนในการส่งต่อผู้ป่วย (Refer) จากโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ไปยังโรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) และมีแพทย์เป็นผู้รับผิดชอบในทุกขั้นตอนตลอดระยะเวลาที่ผู้ป่วยอยู่ในระบบการรักษา  

ดังนั้นการกลัมาใหม่ของระบบ TeleMedicine ในครั้งนี้จะส่งผลให้ลดปัญหาความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องตรงกันระหว่างแพทย์ทั้งสองโรงพยาบาล ด้วยการสื่อสารที่ชัดเจน รวดเร็ว ทันต่อการตัดสินใจซึ่งมีผลต่อชีวิตของผู้ป่วย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการ ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านสาธารณสุขของประเทศ อันจะส่งผลให้ ประชาชนสุขภาพดี และเจ้าหน้าที่มีความสุข เป็นการเพิ่มช่องทางการเข้าถึงบริการให้แก่ประชาชนในทุกระดับและครอบคลุมพื้นที่ห่างไกล ให้ประชาชนได้รับการรักษาพยาบาลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ณ โรงพยาบาลชุมชน เสมือนรับการรักษา ณ โรงพยาบาลทั่วไป ทำให้การรักษาเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ลดระยะเวลาและลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพื่อรับการตรวจรักษา

นอกจากนั้นยังเป็นช่องทางพัฒนาผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยเฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ครอบครัว ผ่านกระบวนการศึกษาทางไกลระหว่างแพทย์ประจำโรงพยาบาลกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของศูนย์แพทยศาสตร์ชั้นคลินิกในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เทคโนโลยีสารสนเทศสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข (eHealth Strategy)  โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ที่ 6 การพัฒนาทุนมนุษย์ด้าน eHealth และเทคโนโลยีสารสนเทศการจัดการความรู้ด้านการแพทย์และสุขภาพสำหรับประชาชน ที่มีกลยุทธ์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการพัฒนาทรัพยากรบุคคลสาธารณสุขด้าน Health IT 

ศ.คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หรือ สธ. เปิดเผยว่า จากการที่สธ. ผลักดันให้เกิดระบบการแพทย์ทางไกล (TeleMedicine) ตั้งแต่ปี 2538 แต่ในปี 2548 โครงการระบบการแพทย์ทางไกลผ่านดาวเทียมกลับต้องยุติลง เนื่องจากขาดความพร้อมในด้านต่างๆ ตั้งแต่ด้านบุคลากรที่ขาดแคลนเจ้าหน้าที่ดูแลอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคม โดยเฉพาะอุปกรณ์รับส่งสัญญาณดาวเทียม, ด้านอุปกรณ์ที่ลดการเช่าช่องสัญญาณดาวเทียม C-Band ขนาด 1/8 transponder เหลือ 1/16 transponder, ด้านสถานที่ จากที่กำหนดพื้นที่ของโครงการมากถึง 60 แห่ง แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ครบ จึงทำให้เครือข่ายการปรึกษาทางการแพทย์ไม่ครอบคลุมตามเป้าหมาย, ด้านการบริหารจัดการ โดยเฉพาะการได้รับจัดสรรเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ ทำให้ไม่สามารถดูแลจัดการได้ครบถ้วน ทั้งการปรึกษาแพทย์ทางไกล การประชุมทางไกล การเรียนการสอนทางไกล และการเชื่อมโยงเครือข่ายข้อมูล และสุดท้ายคือด้านงบประมาณ ถูกพิจารณาตัดลดงบประมาณลงทุกปี 

อย่างไรก็ดีการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเรื่องการดำเนินการเพิ่มคุณภาพการบริการด้านสุขภาพผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงสาธารณสุข และ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) จะทำให้ระบบการแพทย์ทางไกล (TeleMedicine) ของไทยกลับมาอีกครั้งและจะเป็นการกลับมาอย่างยั่งยืน เพราะจะเป็นการแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ทั้งหมด และจะเป็นการวางโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเครือข่ายไอทีใหม่ให้กับสธ.ทั้งหมด
โดยบทบาทหน้าที่ของสธ.ในโครงการนี้คือ ผลักดันให้หน่วยงานใช้ประโยชน์จากระบบเครือข่ายสื่อสารข้อมูลเชื่อมโยงหน่วยงานภาครัฐ  (GIN) อย่างเต็มประสิทธิภาพ และควบคุมความเสี่ยงไม่ให้เป็นช่องทางเข้าถึงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ โดยสธ.จะเข้ามาควบคุม กำกับติดตาม และเฝ้าระวังการใช้ระบบสำรองและจัดเก็บข้อมูลกลาง (Storage and Backup) ของทุกหน่วยงานในสังกัดให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ภายใต้ข้อกำหนดและกฎระเบียบที่กระทรวงดิจิทัลฯ กำหนดอย่างมีประสิทธิภาพ

งานหลักของสธ.คือ ต้องจัดทำและตรวจสอบเนื้อหาการรับรู้ด้านสุขภาพผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล (Health Literacy) เพื่อเข้าสู่ระบบ Digital Literacy อย่างต่อเนื่องและปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน เหมาะสมกับสถานการณ์ด้านสุขภาพของโลก เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนทุกกลุ่มวัยได้อย่างแท้จริง และมีการสนับสนุนให้นำเข้าข้อมูลและบริการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อเผยแพร่ และให้บริการผ่านศูนย์กลางบริการภาครัฐสำหรับประชาชน (GovChannel) รวมถึงการร่วมพัฒนานวัตกรรมด้านสุขภาพและสาธารณสุขภายใต้แนวคิด Digital Government Innovation Center

นอกจากนั้นจะมีการจัดทำแนวทางปฏิบัติให้ทุกหน่วยงานในสังกัดใช้ประโยชน์จากระบบสื่อสารภายในองค์กรภาครัฐอย่างจริงจัง พร้อมให้ความร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในการพัฒนาและปรับปรุงระบบให้ดียิ่งขึ้น และจะต้องดำเนินการใช้ระบบการแพทย์ทางไกล (Tele-medicine) ในพื้นที่ต้นแบบระหว่างโรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไป เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาประชาชน

ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ EGA เปิดเผยว่า ในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเรื่องการดำเนินการเพิ่มคุณภาพการบริการด้านสุขภาพผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงสาธารณสุข และ EGA ในครั้งนี้ บทบาทหน้าที่ของ EGA หลักๆ คือการสนับสนุนระบบเครือข่ายสื่อสารข้อมูลเชื่อมโยงหน่วยงานภาครัฐ (GIN) ให้ครอบคลุมโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 116 แห่ง ซึ่งการวางโครงสร้างพื้นฐานครั้งนี้นอกจากระบบการแพทย์ทางไกล หรือ TeleMedicine จะมีความสมบูรณ์แบบมากขึ้นแล้ว ยังทำให้การเชื่อมโยงทุกระบบของโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปสามารถติดต่อในเครือข่ายเดียวกันอย่างสมบูรณ์แบบอีกด้วย
นอกจากการติดตั้งเครือข่าย GIN แล้ว EGA ยังจะติดตั้งระบบสำรองและจัดเก็บข้อมูลกลาง (Storage and Backup) ขนาด 400 TB ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 และอีก 400 TB ในปีงบประมาณถัดไป พร้อมด้วยแอปพลิเคชันในการบริหารจัดการ สำหรับสำรองข้อมูลผู้ป่วยและข้อมูลสำคัญของโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป   และโรงพยาบาลชุมชนเพื่อรับส่งต่อผู้ป่วย
ส่วนการสนับสนุนอื่นๆ จะประกอบด้วยการจัดหาอุปกรณ์และโปรแกรม (Platform) ให้รองรับระบบ Digital Literacy เพื่อใช้เป็นระบบฐานข้อมูลกลางของประเทศในการรวบรวมองค์ความรู้การรับรู้ด้านสุขภาพผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล (Health Literacy) สำหรับประชาชนในทุกรูปแบบ เช่นวิดีโอคลิป รูปภาพ เป็นต้น รวมถึงการเข้ามาปรับปรุงระบบ G-Chat หรือ แอปพลิเคชันที่มีคุณสมบัติเทียบเท่าให้สนับสนุนการสื่อสารสำหรับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน   (อสม.) ทั่วประเทศ
ยิ่งไปกว่านั้น EGA จะเข้ามาสนับสนุนระบบการประชุมทางไกลภาครัฐ (GIN Conference) เพื่อประยุกต์ใช้ในการทำระบบการแพทย์ทางไกล (Tele-medicine) เพื่อให้แพทย์และผู้ป่วยสามารถตอบโต้กันได้ทั้งภาพและเสียงในพื้นที่ต้นแบบระหว่างโรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไป เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาประชาชน และยังสนับสนุนเทคโนโลยี ผู้เชี่ยวชาญ ตลอดจนส่งเสริมการพัฒนาทักษะความรู้ เพิ่มศักยภาพด้าน Data Scientists, Data Analyst, Enterprise Architecture และ Information Security ให้แก่บุคลากร   ที่ปฏิบัติงานด้านไอทีของกระทรวงสาธารณสุข
“การร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขครั้งนี้ถือเป็นการทำงานชิ้นใหญ่ของ EGA ถือเป็นการทำงานแบบ G to G to C ที่มีผลกระทบกับประชาชนในวงกว้าง เป็นทั้งการวางโครงสร้างพื้นฐานทั้งระบบ และวางแนวทางการพัฒนาระยะยาวรองรับแอปพลิเคชันใหม่ๆ ของกระทรวงสาธารณสุขที่จะเกิดขึ้น และยังจะสนับสนุนให้ทุกระบบของ สธ. เข้าสู่ศูนย์กลางบริการภาครัฐสำหรับประชาชน (GovChannel) ต่อไป” ดร.ศักดิ์ กล่าวสรุป