EGA สำรวจความพร้อมหน่วยงานรัฐไทยก้าวสู่รัฐบาลดิจิทัล เผยกระทรวงต่างประเทศครองอันดับหนึ่ง แนวโน้มทั้งอีเซอร์วิช อีเพย์เม้นท์ บิ๊กดาต้า และอื่นๆ กำลังมาแรง


13 October 2559
1300

  ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ EGA เปิดเผยว่า จากผลการสำรวจระดับความพร้อมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลฯ ประจำปี 2559 ของ EGA ในระดับกระทรวง พบว่าหน่วยงานที่มีพัฒนาการยอดเยี่ยมในภาพรวม 3 หน่วยงานประกอบด้วย อันดับ 1 กระทรวงการต่างประเทศ อันดับ 2 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ อันดับ 3 กระทรวงมหาดไทย

          สำหรับการสำรวจครั้งนี้ได้จัดกลุ่มความพร้อมตามคุณลักษณะเด่น เป็น 4 กลุ่ม ดังนี้ 1. กลุ่ม Developed หรือกลุ่มที่มีระดับความพร้อมฯ ที่ดีอยู่แล้วและสามารถพัฒนาความพร้อมฯ ให้เติบโตอย่างดีต่อเนื่องในปีนี้ 2. กลุ่ม Rising Star หรือกลุ่มที่มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด 3. กลุ่ม Maintainer หรือกลุ่มที่มีระดับความพร้อมฯ ที่ดีอยู่แล้ว และยังคงรักษาระดับการพัฒนาความพร้อมฯ อย่างต่อเนื่อง และ 4. กลุ่ม Developing หรือกลุ่มที่มีความพร้อมฯ ระดับกลาง และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
 

          การสำรวจครั้งนี้ EGA จัดทำขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่สองแล้ว เพื่อติดตามระดับพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของหน่วยงานภาครัฐระดับกรมในประเทศไทย เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่มีความถูกต้อง น่าเชื่อถือ สามารถใช้อ้างอิงในการดำเนินงานด้านการจัดทำนโยบายและพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย ในปีนี้ทำการสำรวจหน่วยงานภาครัฐระดับกรม 272 หน่วยงาน แบ่งเป็น หน่วยงานภาครัฐ 146 หน่วยงาน, รัฐวิสาหกิจ 47 หน่วยงาน, องค์การมหาชนและหน่วยงานอิสระ 79 หน่วยงาน โดยมีหน่วยงานตอบกลับจำนวนทั้งสิ้น 234 หน่วยงาน หรือ 86% ของหน่วยงานทั้งหมด
 

          คะแนนความพร้อมด้านการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลในภาพรวมตามมิติทั้ง 6 ด้าน จาก 100 คะแนนเต็ม ดังนี้ ด้านโครงสร้างพื้นฐานที่มีความมั่นคงปลอดภัยและประสิทธิภาพ (Secure and Efficient Infrastructure) และด้านระบบบริหารจัดการภายใน ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (Smart Back Office Practices) เป็นด้านที่มีระดับความพร้อมมากที่สุด โดยมีค่าคะแนน 79/100 ด้านนโยบายและแนวปฏิบัติในการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (Policies and Practices) เป็นด้านที่มีระดับความพร้อมมากรองลงมา โดยมีค่าคะแนน 75/100 ด้านเทคโนโลยีอัจฉริยะและการนำมาใช้ (Smart technologies and practices) เป็นด้านที่มีระดับความพร้อมปานกลาง โดยมีคะแนน 64/100 ด้านศักยภาพของเจ้าหน้าที่ภาครัฐด้านดิจิทัล (E-Officer with digital capability) และด้านการบริการภาครัฐที่สะดวกและเข้าถึงได้ง่าย (Accessible and convenient public services) เป็นด้านที่มีความพร้อมน้อยที่สุด โดยมีคะแนน 60/100
 

          ในหมวดของการให้บริการ E-Services ในภาครัฐ พบว่า มีการให้บริการ E-Services ผ่านช่องทางต่างๆ แล้วถึง 79.9% โดยแบ่งเป็น บริการผ่านเว็บไซต์ 72% บริการผ่านแอปพลิเคชั่นโทรศัพท์มือถือ    51% และผ่านเครื่องคีออส 13%
 

          การสำรวจยังพบว่า หน่วยงานต่างๆ มีแนวปฏิบัติในการให้บริการ การรับข้อร้องเรียนและข้อเสนอแนะจากผู้รับบริการแตกต่างกัน โดยหน่วยงานที่มีการกำหนดแนวปฏิบัติมีถึง 90% แบ่งเป็น มีขั้นตอนวิธีการตอบรับที่ชัดเจน 76%, มีรูปแบบสำหรับการตอบกลับที่ชัดเจน 46%, มีการกำหนดเวลาในการตอบกลับที่แน่นอน 33% และอื่นๆ รวม 21% ประกอบด้วย มีช่องทางในการให้บริการ การรับข้อร้องเรียนฯ 50%, ดำเนินการตามระเบียบ ข้อกำหนดของหน่วยงาน 32%, อยู่ระหว่างการปรับปรุงและการดำเนินการ 9%, พิจารณาเป็นรายกรณี 7% และจัดจ้างหน่วยงานภายนอกในการดำเนินการ 2% ส่วนหน่วยงานที่ยังไม่มีการกำหนดแนวยังมีสูงถึง 10% ของหน่วยงานทั้งหมด
 

           อย่างไรก็ตามการให้บริการ E-Service นั้นจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงความต้องการใหม่ๆ ของผู้บริโภคที่มีมากขึ้น โดยในปีนี้หน่วยงานรัฐมีการทบทวนและปรับปรุงคุณภาพของบริการ E-Services มากถึง 67% โดยเป็นปรับปรุงบริการทุกปีสูงถึง 83.3% จึงถือว่าหน่วยงานรัฐไทยมีความทันสมัยในการให้บริการกับประชาชนอย่างมาก ส่วนหน่วยงานรัฐที่ไม่มีการทบทวนและปรับปรุงคุณภาพนั้นแม้จะมีถึง 33% ของการสำรวจ แต่เมื่อพิจารณาในรายละเอียดแล้วพบว่า 45% เป็นหน่วยงานไม่ได้มีหน้าที่ในการให้บริการ และ 24% อยู่ระหว่างการจัดทำการทบทวนปรับปรุงคุณภาพของบริการ
 

          สำหรับการบริการเกี่ยวกับสังคมออนไลน์ที่กำลังได้รับความนิยมในขณะนี้ การสำรวจยังพบว่าหน่วยงานรัฐมีแนวนโยบายและแนวปฏิบัติในการใช้สื่อโซเชียลมีเดียของภาครัฐแตกต่างกันออกไป โดยพบว่ามีหน่วยงานถึง 69% ได้จัดทำแนวนโยบายและแนวปฏิบัติในการใช้สื่อโซเชียลมีเดียแล้ว โดยทำการเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ 42.86%, เผยแพร่ให้พนักงานภายในรับทราบ 40% และอื่นๆ 17.14% ประกอบด้วย ผู้บริหารมีนโยบายในการดำเนินการ 42%, อยู่ระหว่างดำเนินการ 33%, ผ่านสัมมนา/บทความวิชาการ 17% และผ่านแผ่นพับประชาสัมพันธ์ 8%
 

          ส่วนเรื่องการใช้ระบบ e-payment ที่จะกลายเป็นบริการใหม่ๆ ที่จะเป็นมาตรฐานการใช้งานภาครัฐต่อไปพบว่า การรับ/จ่ายเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) ยังมีไม่สูงมากนัก คือ มีการรับ/จ่ายเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพียงแค่ 31% แบ่งเป็น การใช้งานผ่านธนาคารอิเล็กทรอนิกส์ 60%, ผ่านเครื่องรับจ่ายเงินอัตโนมัติ (ATM) 42%, ระบบบัตรเครดิต 35% และอื่นๆ 28% ซึ่งมีนัยยะสำคัญอย่างมาคือ เป็นการใช้งานผ่านระบบเคาน์เตอร์เซอร์วิสถึง 50% และผ่านอีเพย์เม้นท์ใหม่ๆ ถึง 20% รวมถึงเป็นการรับจ่ายผ่านระบบ GFMIS ของกรมบัญชีกลาง 15% แต่คาดว่าหลังจากการผลักดันนโยบายพร้อมท์เพย์ของรัฐบาลแล้ว จำนวน 69% ที่ยังไม่มีระบบอีเพย์เม้นท์จะเริ่มเข้าสู่ระบบมากขึ้นตามลำดับ
 

          ในด้านของการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐหรือ Open Data ที่รัฐบาลกำลังเร่งผลักดันในขณะนี้ก็พบว่า 95.73% ของหน่วยงานทั้งหมดมีการเปิดเผยข้อมูลที่อนุญาตให้ผู้ใช้นำไปใช้ แบบไม่มีเงื่อนไขและอยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงมาก โดยมีผู้นำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้งานประกอบด้วย หน่วยงานภาครัฐ 83% และภาคประชาชน 60% ที่สำคัญคือข้อมูลที่เปิดเผยมีผู้นำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาแอปพลิเคชั่นถึง 31% ซึ่งถือเป็นแนวโน้มที่ดีมาก
 

          อีกจุดหนึ่งที่มีการกล่าวถึงกันมากก็คือ การให้บริการอินเทอร์เน็ตไร้สาย หรือ WiFi Hotspot ของหน่วยงานราชการ ซึ่งในการสำรวจครั้งนี้ได้มีการระบุถึงด้วย โดยพบว่า หน่วยงานรัฐ 99% มีการเปิดให้ใช้เรียบร้อยแล้ว แต่ยังเปิดให้ผู้มาติดต่อขอรับบริการใช้งานเพียง 41% นอกนั้นเป็นการเปิดให้เจ้าหน้าที่และหน่วยงานภายนอกที่เข้ามาทำงานร่วมกันใช้งาน ส่วนรัฐวิสาหกิจและองค์การมหาชน/หน่วยงานอิสระ มีสัดส่วนที่เท่ากันคือ มี WiFi Hotspot ให้ใช้แล้ว 95% และทั้งสองหน่วยงานมีแนวโน้มให้ผู้มาติดต่อใช้งานในปริมาณที่สูงขึ้น โดยในปีนี้อยู่ที่ 65% เลยทีเดียว จุดที่น่าสนใจคือ วิธีการใช้งาน พบว่าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจกำหนดให้ต้องลงทะเบียนก่อนเข้าใช้งานถึง 100% ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ดีมาก
 

          ด้านการใช้งานระบบคลาวด์คอมพิวติ้ง (Cloud Computing) พบว่ามีการใช้ถึง 64% โดยเป็น ด้านซอฟต์แวร์ (SaaS) 43%, ด้านโครงสร้างพื้นฐาน (IaaS) 63%, ด้านแพลตฟอร์ม (PaaS) 29% และด้านอื่นๆ 11% ขณะที่ภาครัฐเองก็มีการบริหารระบบสำรองข้อมูลสารสนเทศในยามฉุกเฉินด้วย พบว่ามีการใช้งานในขณะนี้ถึง 97%

          ในการสำรวจความต้องการเจ้าหน้าที่ภาครัฐด้าน IT นั้นพบว่า ตำแหน่งที่ต้องการได้แก่ เจ้าหน้าที่ด้าน ICT และ Network Security สูงเป็นอันดับหนึ่งคือ 76% อันดับสองคือ โปรแกรมเมอร์ 75% และอันดับสามคือ เว็บมาสเตอร์ 48% นอกจากนั้นเป็นตำแหน่งอื่นๆ 31% เช่น System Administration หรือเจ้าหน้าที่ดูและระบบ/ Database Officer หรือเจ้าหน้าที่จัดการฐานข้อมูล 41%, System Analyst หรือ นักวิเคราะห์ระบบ 29% เป็นต้น
 

          ส่วนของเทคโนโลยีใหม่ที่หน่วยงานภาครัฐเริ่มใช้งานกันแล้ว ปรากฏว่า เทคโนโลยี Big Data หรือการจัดการข้อมูลมหาศาล พบว่ามีหน่วยงานที่ริเริ่มใช้งานแล้วถึง 36% ขณะที่เทคโนโลยี IoT หรือ Internet of Things เริ่มมีการใช้งานในหน่วยงานภาครัฐแล้ว 11% และจากการสำรวจยังพบว่าแนวโน้มที่ภาครัฐที่อยู่ระหว่างการติดตั้งเทคโนโลยีทั้งสองเพื่อนำมาใช้งานเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น
 

          “ในภาพรวมแล้วผลสำรวจครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงทิศทางการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทยและนับเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน” ดร.ศักดิ์ กล่าวสรุป

          สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (สรอ.) หรือชื่อภาษาอังกฤษ Electronic Government Agency (EGA) เป็นองค์การมหาชนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อพัฒนาบริหารจัดการและให้บริการโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศสำหรับหน่วยงานรัฐ ตลอดจนส่งเสริมให้ความรู้เพื่อยกระดับทักษะความรู้ความสามารถของเจ้าหน้าที่รัฐให้พร้อมก้าวสู่สู่รัฐบาลดิจิทัล

****************************

รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
ส่วนสื่อสารและส่งเสริมการตลาด
ชัชมนต์ สมาร์ท / วรารัฐ หาญไพโรจน์ขจร / สุวินันท์ ฤกษ์สง่า
โทรศัพท์ 02 612 6000 ต่อ 3406, 3405

ชมภาพเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/EGAThailand/photos/?tab=album&album_id=1131350926934547