แนวทางการขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัลด้านการมีส่วนร่วมทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Participation) ของประเทศชั้นนำ


1 October 2563
3751

          การมีส่วนร่วมทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นหนึ่งตัวชี้วัดความสำเร็จสำคัญของการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลในระดับสากล ที่เป็นกลไกในการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นต่อการดำเนินกิจกรรมของรัฐผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีบทบาทร่วมในการบริหารจัดการของรัฐ โดยการชี้วัดการมีส่วนร่วมทางอิเล็กทรอนิกส์ตามแนวทางขององค์การสหประชาชาตินี้ เริ่มตั้งแต่การมีนโยบายระดับชาติในการสนับสนุน การเปิดเผยข้อมูลรัฐออนไลน์ การมีช่องทางออนไลน์ กฎการรักษาความเป็นส่วนของข้อมูล การเข้าถึงบริการออนไลน์ของรัฐ หลักฐานการมีส่วนร่วมของประชาชน ฯลฯ

          องค์การสหประชาชาติ ได้กำหนดระดับการมีส่วนร่วมทางอิเล็กทรอนิกส์ไว้ทั้งหมด 3 ระดับ ประกอบด้วย E-Information คือ การให้ข้อมูลดิจิทัลภาครัฐ E-Consultation คือ การมีฟอรัมรับฟังความคิดเห็นดิจิทัลของรัฐและ E-Decision-Making คือ การเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามาร่วมกำหนดนโยบายผ่านช่องทางดิจิทัล

          จากรายงานการศึกษาเรื่อง “E-Government Survey 2020” ขององค์การสหประชาชาติ ทำให้พบเห็นการดำเนินการด้านการมีส่วนร่วมทางอิเล็กทรอนิกส์อย่างเป็นรูปธรรมจากนานาประเทศ โดยมีประเทศที่ให้ความสำคัญในการพัฒนามิติดังกล่าวอย่างหลากหลาย ซึ่งแต่ละประเทศมีแนวทางและรูปแบบแตกต่างกันไป โดยประเทศที่น่าสนใจประกอบด้วย เกาหลีใต้ สเปน และเยอรมนี (United Nations, 2020) มีรายละเอียดโดยสรุปดังนี้

เกาหลีใต้

          การมีส่วนร่วมด้านการจัดสรรงบประมาณของประเทศเกาหลีใต้มีมาตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี ในหลายระดับของหน่วยงานภาครัฐ กระจายตัวทั้งหน่วยงานภาครัฐส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยระบบงบประมาณด้านการมีส่วนร่วมของเกาหลีใต้ สามารถสืบค้นกรอบการดำเนินงาน ระยะเวลาโครงการ เพื่อให้ง่ายต่อประชาชนผู้สนใจ และระบบถูกออกแบบมา เพื่อยกระดับความโปร่งใสของการบริหารจัดการการเงินการคลัง และกระตุ้นความสนใจการสาธารณะโดยการให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้ามายื่นข้อเสนอ และร่วมคัดกรองลำดับความสำคัญโครงการ และในบางกรณีมีการนำข้อคิดเห็นของผู้มีส่วนร่วมมาปรับปรุงการทำงานของรัฐให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมจากการดำเนินงานของหน่วยงานระดับกระทรวง

👉 เว็บไซต์ https://www.epeople.go.kr/index.jsp

สเปน

          ในปี ค.ศ.2015 มาดริด เมืองหลวงของประเทศสเปนได้มีการเปิดตัวเว็บไซต์ “the Decide Madrid” ขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชน ผู้อยู่อาศัยในเมือง ต่อกระบวนการทำงานของรัฐบาล โดยช่องทางนี้เป็นเครื่องมือในการอำนวยความสะอวดด้านการมีส่วนร่วมในหลายมิติ เริ่มตั้งแต่ การเปิดโอกาสให้ผู้อยู่อาศัยในเมืองยื่นข้อเสนอในการปรับปรุงเมือง โดยหากข้อเสนอดังกล่าวได้รับความนิยม จะมีโอกาสได้รับการพิจารณาให้เกิดขึ้น ต่อด้วยช่องทางการปรึกษาหารือระหว่างกัน โดยก่อนที่จะมีการดำเนินกิจรรมใด ๆ ของรัฐ จะใช้ช่องทางนี้เป็นเครื่องมือในการปรึกษาหารือร่วมกับผู้อยู่อาศัยเสมอ และการมีส่วนร่วมด้านการจัดสรรงบประมาณ โดยจัดให้มีการโหวต เพื่อเฟ้นหาโครงการที่เหมาะสม ตรงต่อความต้องการมากที่สุดต่อการพัฒนาต่อยอด

👉 เว็บไซต์ https://decide.madrid.es/

สหราชอาณาจักร

          e-Petitions โครงการรับเรื่องร้องเรียนออนไลน์ของสหราชอาณาจักรที่ได้รับความนิยมมาตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีของโครงการ โดยผู้มีส่วนร่วมสามารถส่งข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเข้าผ่านระบบ และระบบจะนำส่งข้อมูลตรงเข้าสู่หน่วยงานผู้รับผิดชอบได้ทันที สำหรับการรับเรื่องร้องเรียนนั้น ถูกเชื่อว่าเป็นกลไกสำคัญระดับสูงในการยกระดับการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อที่จะสร้างความเชื่อมั่น และผลกระทบเชิงบวกในการบริหารจัดการของหน่วยงานรัฐออกสู่สังคมสาธารณะ

👉 เว็บไซต์ https://petition.parliament.uk/

อ้างอิง

United Nations. (2020). E-Government Survey 2020. Department of Economic and Social Affairs.