แนวทางการขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัลด้านการรวมศูนย์ข้อมูล (Data Centric) ของประเทศชั้นนำ


26 September 2563
2900

          การบริการประชาชนและการบริหารงานภาครัฐในปัจจุบัน มีความจำเป็นต้องใช้ข้อมูลที่หลากหลาย ไม่เพียงแต่ข้อมูลที่มีอยู่ภายในหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเท่านั้น เนื่องจากข้อมูลของหน่วยงานเพียงหน่วยงานเดียวไม่สามารถตอบโจทย์ต่อความต้องการของผู้ใช้บริการที่หลากหลายได้ อีกทั้งข้อมูลภาครัฐอยู่อย่างกระจัดกระจาย ขาดความเชื่อมโยงและบูรณาการเข้าด้วยกัน ภาระจึงตกไปอยู่ที่ผู้รับบริการ หรือหน่วยงานที่ต้องการข้อมูล ที่ต้องดำเนินการหาและรวบรวมข้อมูลที่ต้องการจากหน่วยงานต่าง ๆ ด้วยตนเอง 

การรวมศูนย์ข้อมูล (Data Centric) จึงเป็นกลไกสำคัญในการยกระดับการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลในระดับมหภาค ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวข้างต้นได้ เนื่องจากการดำเนินการของรัฐที่จะเกิดขึ้นจากการรวมศูนย์ข้อมูล ก่อให้เกิดการควบรวม และบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงาน อันจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการและการบริหารงานภาครัฐ ที่จะเป็นประโยชน์ในการต่อยอดเชิงนวัตกรรม จากการเชื่อมโยงข้อมูลเข้าด้วยกัน ภายใต้มาตรฐานกลางเดียวกัน

ดังนั้น จากรายงานการศึกษาเรื่อง “E-Government Survey 2020” ขององค์การสหประชาชาติ ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าว โดยประเทศที่มีการดำเนินการพัฒนาด้านการรวมศูนย์ข้อมูลที่น่าสนใจ ประกอบด้วย ประเทศจีน และสิงค์โปร์ (United Nations, 2020) โดยมีรายละเอียดดังนี้

ประเทศจีน

          เซี่ยงไฮ้ คือ หนึ่งในเมืองใหญ่ด้านยุทธศาสตร์การค้าของประเทศจีน โดยมีประชากรมากถึง 24 ล้านคน การรวมศูนย์ข้อมูลเพื่อทำให้เกิดบริการที่มีประสิทธิภาพจึงเป็นความท้าทายหลักของเมืองมาโดยตลอด ซึ่งจากความพยายามของภาครัฐ จึงได้ดำเนินการกำหนดนโยบายด้านธรรมาภิบาลข้อมูล ที่ครอบคลุมการดำเนินงานและการให้บริการทั้งแบบออนไลน์ และออฟไลน์ สำหรับการแลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานของรัฐเพื่อการให้บริการที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

          ในปี ค.ศ.2018 ได้มีการจัดตั้ง “ศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่แห่งเมืองเซี่ยงไฮ้ (The Shanghai Municipal Big Data Center)” ที่มีลักษณะเป็นศูนย์กลางบริการแบบเบ็ดเสร็จ สามารถทำงานข้ามหน่วยงาน ข้ามระบบ และบริการกว่า 200 บริการของภาครัฐ โดยการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานของศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่นี้ ถูกออกแบบมาเพื่อยกระดับการทำงานร่วมกันของหน่วยงานภาครัฐ มีการประยุกต์ใช้และผสมผสานเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ในการบริหารจัดการ และการให้บริการในเมืองแบบทันท่วงที โดยการให้บริการของศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ มีทั้งรูปแบบออฟไลน์ และออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือ ที่ทำให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าใช้บริการได้ทุกที่ทุกเวลา ซึ่งในปัจจุบันมีประชาชนลงทะเบียนแล้วกว่า 13 ล้านคน

ประเทศสิงคโปร์

          ประเทศสิงคโปร์ให้ความสำคัญกับข้อมูล ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักของการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ตามแนวคิดของสำนักงานนายกรัฐมนตรีของประเทศสิงคโปร์ ที่มุ่งสนับสนุนการบริการโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลางเพื่อการส่งผ่านบริการที่มีประสิทธิภาพ

          ในปี ค.ศ.2018 รัฐบาลได้มีการจัดทำยุทธศาสตร์ข้อมูลภาครัฐ (the Government Data Strategy) ซึ่งครอบคลุมการจัดทำสถาปัตยกรรมทางเทคโนโลยี ที่เป็นการวางโครงสร้างของข้อมูลภาครัฐให้มีมาตรฐาน นอกจากนี้ ยังได้มีการวางกรอบการดำเนินงานของการจัดการข้อมูลภาครัฐ เพื่อให้สามารถเชื่อมโยง แลกเปลี่ยน และบริหารจัดการได้อย่างเต็มศักยภาพแบบครบวงจร พร้อมกับจัดให้มีช่องทางการบริการแบบเบ็ดเสร็จสำหรับผู้ใช้บริการ ที่จะสามารถเข้าถึงข้อมูลภาครัฐอย่างสะดวก และรวดเร็ว ดังนั้น เมื่อผู้ใช้บริการต้องการข้อมูลข้ามหน่วยงาน จึงไม่จำเป็นต้องเดินทางไปยังหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อร้องขอหรือรวบรวมข้อมูลและเอกสาร แต่สามารถเข้ารับบริการจากหน่วยงาน ณ จุดเดียวที่ได้รับการรองรับจากรัฐบาล ที่มีการเชื่อมโยงข้อมูลข้ามหน่วยงานไว้แล้ว

อ้างอิง

United Nations. (2020). E-Government Survey 2020. Department of Economic and Social Affairs.