ข้อมูลเผยแพร่
รายงานการศึกษาเพื่อยกระดับการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย
รัฐบาลทั่วโลกมีความพยายามในการขับเคลื่อนการเข้าสู่ความเป็นดิจิทัล (Digital transformation) เพื่อตอบสนองต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมอันเกิดจากผลกระทบของความก้าวหน้า
ทางเทคโนโลยี รัฐบาลดิจิทัลจึงเป็นแนวคิดที่สำคัญในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพ
การให้บริการของภาครัฐ และเป็นกลไกที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศในภาพรวม ซึ่งสอดคล้องกับวาระ
การพัฒนาอย่างยั่งยืน ค.ศ. 2030 (the 2030 Agenda for Sustainable Development) ขององค์การสหประชาชาติ (United Nations) ที่ได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 เป้าหมาย (17 Sustainable Development Goals) เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการพัฒนาที่ยั่งยืนให้แก่ประชาคมโลก โดยในประเด็นด้านการพัฒนาศักยภาพเทคโนโลยีสารสนเทศ การลดความเลื่อมล้ำทางเทคโนโลยี และการสร้างสังคมความรู้ ได้มีการหยิบยกบทบาทของรัฐบาลดิจิทัลในการส่งเสริมแนวคิดดังกล่าวเช่นกัน
แนวคิดดังกล่าวจึงเป็นแนวคิดที่สำคัญต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศและสอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมรัฐบาลดิจิทัล ดังนั้น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
โดย สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (สรอ.) จึงได้จัดทำแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทยระยะ 3 ปี
(พ.ศ. 2559-2561) เพื่อกำหนดทิศทางในการยกระดับขีดความสามารถเชิงดิจิทัลของภาครัฐไทย
และได้ดำเนินการศึกษาแนวทางการยกระดับรัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอกรอบแนวคิดการพัฒนาบริการออนไลน์แก่หน่วยงานภาครัฐ โดยคำนึงถึงประเด็นที่ส่งเสริมให้เกิดประสิทธิภาพในการให้บริการประชาชน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ สร้างความโปร่งใส
และการสร้างการมีส่วนร่วมของหน่วยงานรัฐในประเทศ
การศึกษาฉบับนี้ได้ทำการประเมินสถานะปัจจุบันของการให้บริการออนไลน์ของหน่วยงานรัฐ
ของประเทศไทยที่สำคัญต่อดำเนินชีวิตของประชาชนหลายด้าน โดยอาศัยการศึกษาแนวทางการประเมินระดับการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลในระดับสากล ได้แก่ การสำรวจรัฐบาลดิจิทัลขององค์การสหประชาชาติ 2017 (UN e-Government Survey 2017) การสำรวจอันดับรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ของสถาบันรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ มหาวิทยาลัยวาเซดะ (Waseda-IAC International e-Government Ranking Survey) และมาตรฐานเว็บไซต์ภาครัฐ ที่จัดทำโดย สรอ. เป็นแนวทางประกอบกัน รวมทั้งได้เปรียบเทียบการให้บริการออนไลน์ของหน่วยงานรัฐในกลุ่มประเทศตัวอย่างกับสถานะปัจจุบันของประเทศไทย อันนำไปสู่การจัดทำข้อเสนอแนะแนวทางการยกระดับรัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทยในระดับการพัฒนาพอร์ทัลแห่งชาติ ข้อเสนอแนะในระดับบริการออนไลน์ของกระทรวง และข้อเสนอแนะในระดับนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อไป โดยการศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาเบื้องต้นที่ได้นำเสนอกรอบแนวคิดและแนวทางการยกระดับการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ซึ่งอาจต้องมีการศึกษาเชิงลึกเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดแนวทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป