การจัดประชุมระดมสมอง (Focus Group)


14 October 2564
4181

แนวคิดการประชุมระดมสมองเพื่อรับฟังความคิดเห็น ประกอบการจัดทำ (ร่าง) แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย พ.ศ. 2566 - 2570

หลักการและเหตุผล

เนื่องด้วยรัฐบาลไทยตระหนักถึงความสำคัญของการปรับเปลี่ยนหน่วยงานภาครัฐสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล เพื่อให้สามารถรองรับการทำงานในโลกที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงได้มีการตราพระราชบัญญัติการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 เพื่อเป็นกลไกหลักใน
การขับเคลื่อนให้การบริหารงานของภาครัฐอยู่ในระบบดิจิทัล และสามารถยกระดับการให้บริการประชาชน

พระราชบัญญัติดังกล่าวได้กำหนดให้มีการจัดทำแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลเพื่อกำหนดกรอบและทิศทางการบริหารงานภาครัฐ และการจัดทำบริการสาธารณะในรูปแบบของเทคโนโลยีดิจิทัล สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ สพร. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลเป็นผู้รับผิดชอบการจัดทำ (ร่าง) แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย พ.ศ. 2566 – 2570 โดยครอบคลุมขีดความสามารถของรัฐบาลดิจิทัลใน 6 ด้านสำคัญ (Focus areas) ประกอบด้วย ด้านการศึกษา ด้านสุขภาพและการแพทย์ ด้านการเกษตร ด้านความเหลื่อมล้ำทางสิทธิสวัสดิการประชาชน ด้านการมีส่วนร่วมและตรวจสอบได้โดยประชาชน และด้านการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME)

ทั้งนี้ สพร. เล็งเห็นความสำคัญของการเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการจัดทำแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล เพื่อให้แผนดังกล่าวสามารถสนับสนุนการทำงานของหน่วยงานภาครัฐในแต่ละด้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งตอบโจทย์ความคาดหวังของผู้ใช้งานจริง จึงได้กำหนดให้มีการประชุมระดมสมองกลุ่มย่อยขึ้นระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และตัวแทนภาคส่วนต่าง ๆ ที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัลทั้ง 6 ด้าน

การประชุมระดมสมองจะเริ่มต้นด้วยการเสวนาโดยผู้แทนจากหลายภาคส่วน อาทิ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้แทนภาครัฐ รวมถึงผู้มีประสบการณ์ในฐานะผู้ใช้งาน โดยการเสวนาจะเน้นประเด็นเกี่ยวกับปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นในด้านนั้น ๆ สถานะการดำเนินงานในปัจจุบัน และความคาดหวังของแนวทางการพัฒนาสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลในด้านดังกล่าว จากนั้น จะเป็นการนำเสนอ (ร่าง) ผลการวิเคราะห์ขีดความสามารถเชิงดิจิทัลของประเทศไทย กรอบของขีดความสามารถเชิงดิจิทัล (Maturity Model) รวมถึงเป้าหมายความสามารถเชิงดิจิทัลที่เหมาะสมในปี พ.ศ. 2570 เพื่อให้ที่ประชุมร่วมแสดงความคิดเห็น ทั้งในแง่ความถูกต้องครบถ้วนสมบูรณ์ของสถานะปัจจุบัน รวมถึงความเป็นไปได้และความเหมาะสมของเป้าหมายการพัฒนาที่กำหนดไว้

เอกสารแนบ

1
2
3
4
5
6
7
8