ความเป็นมาแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของ ประเทศไทย พ.ศ.2563-2565


15 January 2564
6451

ในปัจจุบันกระแสของการเปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Disruption) ต่อการให้บริการและการดำเนินธุรกรรมต่างๆ มีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน และการประกอบกิจการต่างๆ มากยิ่งขึ้นอย่างก้าวกระโดด ดังจะเห็นได้จากผลสำรวจจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยมีมากกว่า 47.5 ล้านคน จากผลสำรวจในปี 2562 คิดเป็นร้อยละ 71.5 ของประชากรทั้งหมดในประเทศไทย ซึ่งสอดคล้องกับรายงานการจัดทำดัชนีรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ขององค์การสหประชาชาติ (UN e-Government Index) ในปี 2563 ที่ได้มีการรายงานจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ผ่านอุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งทำให้สัดส่วนของดำเนินการธุรกรรมผ่านช่องทางออนไลน์ การชำระค่าสินค้าและบริการ การซื้อสินค้าและบริการ การสั่งอาหาร รวมถึงการรับบริการจากภาครัฐในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น

การเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจและสังคมดังที่กล่าวมานี้ส่งผลให้ภาคส่วนต่างๆ จะต้องมีการปรับตัวให้สอดรับกับพฤติกรรมของผู้รับบริการที่เปลี่ยนแปลงไป ตลอดจนการระบาดของโรคไวรัส Covid – 19 ที่ทำให้สังคมเข้าสู่ยุคของความปกติใหม่ (New Normal) ตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดินที่จะต้องดำเนินการให้สอดรับกับพฤติกรรมของผู้คนจะต้องเว้นระยะห่าง และลดการสัมผัสร่างกายระหว่างกัน ยิ่งทำให้ความจำเป็นของการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้งานสำหรับการให้บริการเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้บริการภาครัฐ ซึ่งที่ผ่านมาผู้รับบริการมักจะต้องไปรับบริการยังสถานที่ให้บริการซึ่งมีความแออัด ดังจะเห็นได้จากบริการที่สำคัญอย่างบริการทางด้านสุขภาพในสถานบริการของภาครัฐที่มีผู้เข้ารับบริการจำนวนมาก และจะต้องใช้เวลานานในการรอเข้ารับบริการ ส่งผลให้ผู้รับบริการเสียเวลาในการประกอบอาชีพ อีกทั้งยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโรคได้ง่ายขึ้น นอกจากผลกระทบทางสังคมและสุขภาพแล้วนั้น ผลกระทบทางเศรษฐกิจก็อยู่ในสภาวะวิกฤตที่ภาครัฐมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมการลงทุน และการสนับสนุนการประกอบการของวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม ซึ่งหมายรวมไปถึงผู้ประกอบการรายย่อย หรือผู้ประกอบการอิสระ ที่มีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสูง โดยจากรายงานความยาก – ง่ายในการประกอบกิจการในประเทศไทยของธนาคารโลก (Ease of Doing Businesses) ในปี 2020 ซึ่งพบว่าประเทศไทยยังต้องมีการปรับปรุงในขั้นตอนและกระบวนการในการประกอบกิจการต่างๆ เช่น การขอใบอนุญาตก่อสร้าง การค้าชายแดน การจดทะเบียนทรัพย์สิน เป็นต้น ซึ่งเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลสามารถเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกและลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ จะสามารถช่วยให้ภาพรวมของการค้าและการลงทุนของประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกครั้ง

จากบริบทของการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมที่กล่าวมานี้ ทำภาครัฐเล็งเห็นความจำเป็นที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้หน่วยงานภาครัฐ ซึ่งรวมทั้งการให้บริการและกระบวนการทำงานให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล (Digital Transformation) เพื่อรองรับกับพฤติกรรมและสถานการณ์ในความต้องการรับบริการผ่านช่องทางออนไลน์ของประชาชน และภาคธุรกิจมากยิ่งขึ้น ซึ่งการที่จะทำให้การปรับเปลี่ยนรูปแบบนี้อย่างเป็นรูปธรรม รัฐบาลจึงได้มีการตราพระราชบัญญัติการบริการงานและการให้บริการภาครัฐผ่านช่องทางดิจิทัล พ.ศ. 2562 ซึ่งได้มีการกำหนดให้มีการจัดทำแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทยเพื่อรองรับการดำเนินการปรับเปลี่ยนกระบวนการให้บริการและการทำงานของภาครัฐให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และแผนดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ด้วยเหตุนี้ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัลจึงได้ดำเนินการจัดทำ แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย พ.ศ. 2563 – 2565 โดยมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้

  1. เพื่อบูรณาการการดำเนินงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน
  2. เพื่อให้มีกรอบการขับเคลื่อนกิจกรรม/โครงการที่ชัดเจนมุ่งสู่จุดหมายเดียวกัน
  3. เพื่อกำหนดกรอบการขับเคลื่อนการบูรณาการรัฐบาลดิจิทัลที่สำคัญ สำหรับกำหนดประเด็นแผนบูรณาการประจำปีงบประมาณ
  4. เพื่อกำหนดหน่วยงานหลักและหน่วยงานรองในการขับเคลื่อนประเด็นที่เกี่ยวข้อง พร้อมกรอบงบประมาณในการดำเนินงาน
  5. เพื่อเป็นกรอบแนวทางให้หน่วยงานภาครัฐจัดทำแผนการดำเนินงานที่สอดคล้องกับ พระราชบัญญัติการบริการงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562

แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย พ.ศ. 2563 – 2565 ฉบับนี้ประกอบไปด้วยการอธิบายความสอดคล้องตามนโยบายและแผนระดับชาติที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 และแผนดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม การวิเคราะห์สถานการณ์ของการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล สาระสำคัญของแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย พ.ศ. 2563 – 2565 และแนวทางการขับเคลื่อนของแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล เพื่อเป็นกรอบแนวทางให้หน่วยงานภาครัฐดำเนินการปรับเปลี่ยนสู่การเป็นองค์กรดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ