ระบบศูนย์กลางบริการภาครัฐเพื่อภาคธุรกิจ (Biz Portal)
ที่มา
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 258 ข. ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน กำหนดให้มีการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาประยุกต์ใช้ในการบริหารราชการแผ่นดินและการจัดทำบริการสาธารณะ เพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดินและเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน รวมทั้งให้มีการบูรณาการฐานข้อมูลของหน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงานเข้าด้วยกัน เพื่อให้เป็นระบบข้อมูลเพื่อการบริหารราชการแผ่นดินและการบริการประชาชน
แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการบริการประชาชนและประสิทธิภาพภาครัฐ (พ.ศ. 2561 – 2580) มุ่งเน้นพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐให้มีความทันสมัย ภาครัฐมีขนาดเหมาะสมกับภารกิจ มีสมรรถนะสูง ตอบสนองปัญหาความต้องการของประชาชนและสนับสนุนให้เป็นประเทศไทย 4.0 ที่สามารถก้าวทันความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาได้อย่างยั่งยืนด้วยหลักการ “ภาครัฐของประชาชน เพื่อประชาชนและประโยชน์ส่วนรวม” ในแผนย่อยที่ 1 การพัฒนาบริการประชาชน เน้นการให้บริการภาครัฐที่สามารถอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนได้อย่างรวดเร็ว โปร่งใส ให้เป็นภาครัฐของประชาชน เพื่อประชาชน ซึ่งจะทำให้เกิดการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในการให้บริการประชาชน
ในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๙ สำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พัฒนาระบบการให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จทางอิเล็กทรอนิกส์ (Biz Portal) เพื่อให้บริการด้านการออกหนังสือรับรอง ใบอนุญาต และเอกสารต่าง ๆ แก่ผู้ประกอบการ อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการในการขออนุมัติ อนุญาตจากทางราชการ โดยสามารถกรอกแบบฟอร์ม ยื่นเอกสารหลักฐานผ่านคอมพิวเตอร์ได้ทุกที่ ทุกเวลา โดยไม่ต้องไปติดต่อที่หน่วยงานของรัฐด้วยตนเอง
ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๙ สำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พัฒนาระบบการให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จทางอิเล็กทรอนิกส์ (Biz Portal) เพื่อให้บริการด้านการออกหนังสือรับรอง ใบอนุญาต และเอกสารต่าง ๆ แบบเบ็ดเสร็จทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีความน่าเชื่อถือและมั่นคงปลอดภัย มีการเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลและระบบการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) ของหน่วยงานภาครัฐ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนหรือผู้ประกอบการให้สามารถทำธุรกรรมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้แบบครบวงจร ยื่นที่เดียว แบบฟอร์มเดียว เอกสารชุดเดียว และติดตามได้ ทุกใบอนุญาต ที่ bizportal.go.th ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงและใช้งานได้ผ่านคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต รวมทั้งโทรศัพท์มือถือ ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนและนิติบุคคลในการลดภาระด้านเอกสารและการเดินทางในการมารับบริการจากภาครัฐ รวมถึงสามารถติดตามสถานะการดำเนินงานด้วยตัวเองได้ โดยตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ได้ทำการยกระดับสมรรถนะของระบบและยกระดับการให้บริการให้เป็นดิจิทัลโดยสมบูรณ์ (Fully Digital) ตั้งแต่การยื่นคำขอ การชำระค่าธรรมเนียม และการออกใบอนุญาตอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งใบอนุญาตเดิมที่ให้บริการผ่านระบบ Biz Portal แล้ว และงานบริการใหม่ ซึ่งในปัจจุบันระบบ Biz Portal ให้บริการด้านการออกหนังสือรับรอง ใบอนุญาต หรือเอกสารต่าง ๆ รวม 94 ใบอนุญาต ใน 25 ประเภทธุรกิจ ในเขตกรุงเทพมหานคร และให้บริการ 18 ใบอนุญาต ใน 10 ประเภทธุรกิจ ใน 76 จังหวัดทั่วประเทศ ครอบคลุมการให้บริการขออนุญาตรายใหม่ ต่ออายุ แก้ไข/เปลี่ยนแปลง และยกเลิก พร้อมทั้งยกระดับการให้บริการ 36 ใบอนุญาตให้เป็นดิจิทัลแบบเต็มรูปแบบ (Fully Digital) แล้วในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 – 2564 ที่ผ่านมา
คำนิยาม
- ผู้ประกอบการ หมายถึง ประชาชน หรือนิติบุคคล ที่จำเป็นต้องมีหนังสือรับรอง ใบอนุญาต หรือจำเป็นต้องได้รับบริการจากรัฐ เพื่อใช้ในการประกอบธุรกิจ
- บริการ (Service) หมายถึง กระบวนการออกหนังสือรับรอง ใบอนุญาต และเอกสารต่าง ๆ หรือการดำเนินการอื่นๆ ให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การรับคำขอ (Request) จากผู้ประกอบการ การตรวจสอบความครบถ้วนถูกต้องของคำขอและเอกสารประกอบ การพิจารณาอนุมัติอนุญาต การรับชำระค่าธรรมเนียม/ค่าบริการ การออกและส่งหนังสือรับรอง/ใบอนุญาต/เอกสารต่าง ๆ ให้กับผู้ประกอบการ
- หน่วยงานผู้ให้บริการ (Service Producer) หมายถึง หน่วยงานที่ผู้รับผิดชอบกระบวนการออกหนังสือรับรอง ใบอนุญาต และเอกสารต่าง ๆ หรือการดำเนินการอื่น ๆ ให้กับผู้ประกอบการ
ประโยชน์ที่หน่วยงานจะได้รับ
ผู้ประกอบการ
- สามารถได้รับบริการจากหน่วยงานภาครัฐได้โดยสะดวก ทุกที่ ทุกเวลา ผ่านช่องทางดิจิทัล
- สามารถติดตาม และได้รับแจ้งเตือนความคืบหน้าของการขอรับบริการ
หน่วยงานผู้ให้บริการ
- เพิ่มช่องทางในการบริการผู้ประกอบการผ่านระบบดิจิทัล อันเป็นการอำนวยความสะดวกต่อผู้ประกอบการ
- หน่วยงานที่ยังไม่มีระบบสนับสนุนการให้บริการ สามารถใช้ระบบ Biz Portal ให้เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานใช้ในการให้ผู้ประกอบการ ซึ่งครอบคลุมขั้นตอนต่าง ๆ เช่น การพิจารณาอนุมัติ/อนุญาต การรับชำระค่าธรรมเนียม การออกใบอนุญาต เป็นต้น
สื่อการเรียนรู้
ลักษณะเชิงเทคนิค (System Flow)
การให้บริการต่าง ๆ แก่ผู้ขอรับบริการ ผ่านระบบศูนย์กลางบริการภาครัฐเพื่อภาคธุรกิจ (Biz Portal) เกี่ยวข้องกับระบบย่อยต่าง ๆ (Micro Services) ที่ให้บริการโดย สพร. ดังนี้
- ระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Digital ID) รองรับการพิสูจน์และยืนยันตัวตนประชาชน/ผู้ประกอบการ (Identity Proofing and Authentication)
- ระบบศูนย์กลางบริการภาครัฐเพื่อภาคธุรกิจ (Biz Portal) รองรับการขอหนังสือรับรอง ใบอนุญาต และเอกสารต่าง ๆ โดยผู้ประกอบการ รวมถึงรองรับการติดตามความคืบหน้าในการขอรับบริการ
- ระบบสนับสนุนการให้บริการ (Service Backend) รองรับการดำเนินงานของหน่วยงานผู้ให้บริการ หลังจากที่ผู้ขอรับบริการยื่นคำขอรับบริการมาแล้ว ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ การตรวจสอบความครบถ้วนถูกต้องของคำขอและเอกสารประกอบ การพิจารณาอนุมัติอนุญาต การรับชำระค่าธรรมเนียม/ค่าบริการ การออกและส่งหนังสือรับรอง/ใบอนุญาต/เอกสารต่าง ๆ ให้กับผู้ขอรับบริการ
- ระบบศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกลางภาครัฐ (Government Data Exchange : GDX) รองรับการเชื่อมโยงข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาอนุมัติ/อนุญาต โดยหน่วยงานผู้ให้บริการ เช่น ข้อมูลทะเบียนราษฎรจากกรมการปกครอง ข้อมูลทะเบียนนิติบุคคลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เป็นต้น
ในการให้บริการต่าง ๆ แก่ผู้ขอรับบริการ ระบบย่อยต่าง ๆ จะมีการทำงานร่วมกัน ตามแผนภาพการไหลของข้อมูล (System Flow) ข้างบน โดยมีรายละเอียด ดังนี้
- ผู้ประกอบการทำการยืนยันตัวตน (Login) กับ ระบบ Digital ID โดยหากยังไม่มีบัญชีผู้ใช้งาน ผู้ประกอบการจะต้องสมัครขอบัญชีผู้ใช้งานก่อน
- กรณีผู้ประกอบการเป็นบุคคลธรรมดา สามารถระบุข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อทำการพิสูจน์ตัวตน (Identity Proofing) ซึ่งครอบคลุมถึง ข้อมูลชื่อ นามสกุล เลขประจำตัวประชาชน วันเดือนปีเกิด รหัสเลเซอร์โค้ดหลังบัตรประชาชน
- กรณีผู้ประกอบการเป็นนิติบุคคล สามารถสมัครขอรับบัญชีผู้ใช้งานจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้
- เมื่อผู้ประกอบทำการพิสูจน์และยืนยันตัวตนสำเร็จแล้ว ระบบ Digital ID จะนำประชาชน/ผู้ประกอบการไปยังหน้าจอของ ระบบ Biz Portal พร้อมส่งข้อมูลของผู้ประกอบการ (User Profile) ไปยังระบบ Biz Portal
- ผู้ประกอบการใช้ ระบบ Biz Portal เลือกใบอนุญาต/บริการที่ตนต้องการ ทำการกรอกข้อมูลตามแบบคำขอใบอนุญาต/บริการที่ตนเลือก รวมถึงแนบเอกสาร/หลักฐานประกอบตามที่หน่วยงานร้องขอ และยืนยันการยื่นคำขอ
- ระบบ Biz Portal ทำการส่งข้อมูลตามแบบคำขอใบอนุญาต/บริการไปยัง ระบบService Backend เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานทราบ และดำเนินการตามขั้นตอนในให้บริการต่อไป
- ระบบ Service Backend ทำการร้องขอข้อมูลที่จำเป็นต้องใช้ประกอบการพิจารณาไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผ่านระบบ Government Data Exchangeเช่น ข้อมูลทะเบียนราษฎร (จากกรมการปกครอง) ข้อมูลนิติบุคคล (จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า) เป็นต้น
- เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าสู่ระบบ Service Backend เพื่อพิจารณาอนุมัติ/อนุญาต ซึ่งครอบคลุมขั้นตอน ดังนี้
- ขั้นตอนการตรวจสอบความครบถ้วนถูกต้องของคำขอและเอกสารประกอบ
- เจ้าหน้าที่พิจารณารายละเอียดคำขอ/เอกสารประกอบ
- บันทึกผลการพิจารณาความครบถ้วน/ถูกต้องของข้อมูลและเอกสาร
- แจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ประกอบการทราบ (ผ่านระบบ Biz Portal)
- ขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติอนุญาต
- เจ้าหน้าที่พิจารณารายละเอียดคำขอ/เอกสารประกอบ และอาจรวบรวมข้อมูลดังกล่าวเสนอต่อผู้มีอำนาจพิจารณาอนุมัติ/อนุญาต (เช่น คณะกรรมการ)
- บันทึกผลการพิจารณาอนุมัติ/อนุญาต
- แจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ประกอบการทราบ (ผ่านระบบ Biz Portal)
- ขั้นตอนการรับชำระค่าธรรมเนียม/ค่าบริการ
- เจ้าหน้าที่บันทึกค่าธรรมเนียมที่ผู้ประกอบการต้องชำระ
- แจ้งค่าธรรมเนียมให้ผู้ประกอบการทราบ (ผ่านระบบ Biz Portal)
- ผู้ประกอบการชำระค่าธรรมเนียมตามช่องทางที่หน่วยงานกำหนด
- ผู้ประกอบการแจ้งผลการชำระค่าธรรมเนียม พร้อมแนบหลักฐานการชำระค่าธรรมเนียม
- เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ และยืนยันการชำระค่าธรรมเนียม
- ขั้นตอนการออกและส่งหนังสือรับรอง/ใบอนุญาต/เอกสารต่าง ๆ ให้กับผู้ขอรับบริการ
- เจ้าหน้าที่จัดทำหนังสือรับรอง/ใบอนุญาตแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Document) และเสนอผู้มีอำนาจลงนาม
- ผู้มีอำนาจพิจารณาความครบถ้วน ถูกต้องของหนังสือรับรอง/ใบอนุญาตแบบอิเล็กทรอนิกส์ และทำการลงลายมือชื่อแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Signature)
- แจ้งผลการออกใบอนุญาตให้ผู้ประกอบการทราบ (ผ่านระบบ Biz Portal)
- ขั้นตอนการตรวจสอบความครบถ้วนถูกต้องของคำขอและเอกสารประกอบ
ทั้งนี้ ขั้นตอนย่อยในข้อ 6 อาจปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสมของขั้นตอนการออกหนังสือรับรอง/ใบอนุญาต หรือการให้บริการของหน่วยงาน เช่น บางบริการอาจไม่มีค่าธรรมเนียม เป็นต้น
ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
หน่วยงานผู้ให้บริการ
พระราชบัญญัติการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 มาตรา 4 “เพื่อให้การบริหารงานภาครัฐและการจัดทำบริการสาธารณะเป็นไปด้วยความสะดวก รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และตอบสนองต่อการให้บริการและการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ให้หน่วยงานของรัฐจัดให้มีการบริหารงานและการจัดทำบริการสาธารณะในรูปแบบและช่องทางดิจิทัล โดยมีการบริหารจัดการและการบูรณาการข้อมูลภาครัฐและการทำงานให้มีความสอดคล้องกันและ เชื่อมโยงเข้าด้วยกันอย่างมั่นคงปลอดภัยและมีธรรมาภิบาล โดยมุ่งหมายในการเพิ่มประสิทธิภาพและ อำนวยความสะดวกในการให้บริการและการเข้าถึงของประชาชน และในการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐต่อ สาธารณะและสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน”
สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน)
- พระราชบัญญัติการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 มาตรา 10 (5) “สนับสนุนการเชื่อมโยงบริการดิจิทัลของหน่วยงานของรัฐให้เกิดบริการสาธารณะแบบเบ็ดเสร็จ ตามที่คณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลกำหนด เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน”
- พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2562 มาตรา 8 (5) “พัฒนาบริการดิจิทัลภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียวที่ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการ ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และมั่นคงปลอดภัย”
- พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 มาตรา ๑๐ “ในวาระเริ่มแรก ให้สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) จัดให้มีแพลตฟอร์มดิจิทัลกลางเพื่อให้ส่วนราชการใช้ในการบริการประชาชนและการติดต่อประสานงานระหว่างกันได้ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ”
การรักษาความมั่นคงปลอดภัยของระบบ
ระบบศูนย์กลางบริการภาครัฐเพื่อภาคธุรกิจ (Biz Portal) ติดตั้งอยู่บนระบบคลาวด์ที่ให้บริการ และบริหารจัดการ โดย สพร. ระบบคลาวด์ภาครัฐดังกล่าวมีระดับเสถียรภาพ (SLA) ไม่น้อยกว่า 99.5% และเป็นระบบที่มีมาตรการป้องกันการโจรกรรมข้อมูลอย่างรัดกุม มีความปลอดภัยสูง ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO/IEC 27001: 2013 ระบบการบริหารจัดการความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ (Information Security Management Systems – ISMS)
ทั้งนี้ แอปพลิเคชัน และระบบงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง มีการดำเนินงานต่างๆ ตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐ และ พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. ๒๕๖๒
นอกจากนี้ ระบบศูนย์กลางบริการภาครัฐเพื่อภาคธุรกิจ (Biz Portal) ได้รับการพัฒนาขึ้น โดยคำนึงถึงความมั่นคงปลอดภัยต่างๆ ดังนี้
- การพัฒนาแอปพลิเคชัน ระบบและแพลตฟอร์มต่างๆ ของ สพร. ดำเนินการภายใต้มาตรฐาน ISO/IEC 9001
- ก่อนที่จะเปิดแอปพลิเคชัน ระบบและแพลตฟอร์ม เพื่อให้บริการจริง แอปพลิเคชันระบบ และแพลตฟอร์มดังกล่าวจะต้องผ่านการทดสอบ ทั้งในด้านคุณสมบัติ (Functional Test) และด้านอื่นๆ (Non-Functional Test) เช่น Performance Test และ Security Test โดยผลการทดสอบต้องแสดงให้เห็นว่าระบบทำงานได้โดยสมบูรณ์ มีระดับความมั่นคงสูง (Highly Available) มีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยต่ำ
สพร. ทดสอบความปลอดภัยของแอปพลิเคชันและแพลตฟอร์ม (Security Test) โดยใช้อย่างน้อย 2 วิธี ดังนี้
- วิธี Static Application Security Testing (SAST) ซึ่งเป็นการตรวจสอบ Source Code ของแอปพลิเคชัน และแพลตฟอร์มที่เขียนขึ้น ว่าเป็นการเขียนโปรแกรมที่มีความเสี่ยงที่จะถูกโจมตี หรือถูกเจาะโดยผู้ไม่หวังดีมากน้อยเพียงใด
- วิธี Vulnerability Assessment (VA) ซึ่งเป็นการตรวจสอบแอปพลิเคชันและแพลตฟอร์มที่ติดตั้งแล้วในภาพรวม ว่ามีความเสี่ยงที่จะถูกโจมตีเนื่องจากการตั้งค่า (Settings) ต่างๆ หรือโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่ปลอดภัยเพียงพอหรือไม่
การติดต่อขอใช้บริการ
- ผู้ประกอบการที่สนใจใช้บริการระบบศูนย์กลางบริการภาครัฐเพื่อภาคธุรกิจ (Biz Portal) สามารถเข้าใช้บริการได้ทันทีที่เว็บไซต์ https://bizportal.go.th
- หน่วยงานภาครัฐที่สนใจใช้บริการ ติดต่อได้ที่ DGA Contact Center โทร 02-612-6060 หรืออีเมล์ [email protected]
รายละเอียดเพิ่มเติม
- เอกสารนำเสนอบริการ
- วิดีทัศน์รายละเอียดบริการ
- แบบคำขอใช้บริการ