4 หน่วยงาน สำนักงาน ก.พ.ร. สคก. DGA ETDA จับมือสู่ก้าวใหม่ราชการไทยจัดประชุมชี้แจงวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ตามมติ ครม. เปิดความร่วมมือตอบโจทย์ “อนาคตประเทศไทยกับรัฐบาลดิจิทัล”


9 June 2566
702

สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) และสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ จัดการประชุมชี้แจงเพื่อสื่อสารและสร้างการรับรู้เกี่ยวกับวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ตามมติคณะรัฐมนตรีในหัวข้อ “อนาคตประเทศไทยกับรัฐบาลดิจิทัล” เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2566 ณ โรงแรมเดอะ เบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ กรุงเทพ เพื่อขับเคลื่อนการยกระดับการให้บริการและการปฏิบัติงานของหน่วยงานภาครัฐในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ตามแนวทางการดำเนินการของพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 ซึ่งจะเป็นการขับเคลื่อนเพื่อตอบโจทย์การเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล

นางสาวอ้อนฟ้า เวชชาชีวะ เลขาธิการ ก.พ.ร. กล่าวว่า การพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของไทยในช่วงที่ผ่านมามีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะเห็นได้จากข้อมูลสากล เช่น E-Government Development Index (EGDI) และผลสำรวจความพึงพอใจการให้บริการภาครัฐที่มีระดับความพึงพอใจอยู่ที่ร้อยละ 81.69 และความพึงพอใจต่อบริการออนไลน์อยู่ที่ร้อยละ 82.59 ซึ่งโดยที่ผ่านมา สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ขับเคลื่อนและผลักดันให้หน่วยงานของรัฐพัฒนาระบบการปฏิบัติงานและการให้บริการประชาชนในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์มาอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นการสร้างสภาพแวดล้อมทางดิจิทัล (Digital Ecosystem) ให้ไปสู่รัฐบาลดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ได้แก่ การยกระดับ e-Service ของหน่วยงานให้เกิดการให้บริการที่เป็นดิจิทัลเต็มรูปแบบ การส่งเสริมนวัตกรรมการใช้เทคโนโลยีในรูปแบบ Digital by Design การเรียนรู้จากหน่วยงานที่ประสบความสำเร็จนำมาเป็นต้นแบบ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทั้งหน่วยงานส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น การกำหนดตัวชี้วัดเป็นกลไกการขับเคลื่อน ได้แก่ การพัฒนาการให้บริการในรูปแบบ e-Service ทั้งการพัฒนาเป็นรายงานบริการ และการพัฒนางานบริการในรูปแบบ Agenda จำนวน 12 Agenda การพัฒนาข้อมูลให้เป็นดิจิทัลเพื่อนำไปสู่การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ ซึ่งการจัดประชุมชี้แจงในครั้งนี้ เป็นการสร้างความเข้าใจและให้หน่วยงานของรัฐตระหนักถึงวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ตามพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยมีสาระสำคัญ 2 ส่วน ได้แก่ 1) วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ประกอบด้วย วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ระดับเริ่มต้น และระดับมาตรฐาน 2) การกำหนดให้หน่วยงานของรัฐนำงานบริการมาให้บริการบนแพลตฟอร์มดิจิทัลกลาง (Biz Portal และ Citizen Portal) เพื่อให้การให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ของหน่วยงานของรัฐเป็นแบบเบ็ดเสร็จ ครบ จบ ณ จุดเดียว ประชาชนสามารถรับบริการได้แบบเบ็ดเสร็จตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ และหน่วยงานของรัฐ มีการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลและเอกสารของทางราชการผ่านระบบ ซึ่งทำให้ประชาชนไม่ต้องแนบสำเนาเอกสารที่ไม่จำเป็นในการติดต่อราชการอีกต่อไป

นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวว่า พระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ๒๕๖๕ เป็นก้าวสำคัญของประเทศไทย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของรัฐบาลที่จะทำให้เกิดรัฐบาลดิจิทัล (Digital Government) ขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ให้ภาครัฐสามารถปฏิบัติราชการและให้บริการแก่ประชาชนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัย โดยกฎหมายดังกล่าวจะรับรองความชอบด้วยกฎหมายของการปฏิบัติราชการโดยใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ทุกรูปแบบ ไม่ว่ากรณีการสั่งราชการ การขออนุมัติ ขออนุญาต ขอออกใบอนุญาต และการอนุมัติ อนุญาต ออกใบอนุญาต การแจ้ง การรับแจ้ง การรับจ่ายเงินต่าง ๆ การส่งเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น อันจะทำให้การปฏิบัติราชการเป็นไปโดยรวดเร็ว ช่วยลดภาระที่ไม่จำเป็นแก่ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การไม่ต้องเดินทางมาติดต่อราชการเองและการไม่ต้องนำสำเนาเอกสารหลักฐานที่ทางราชการเป็นผู้ออกให้เอามาประกอบคำขอต่าง ๆ ปิดช่องทางการทุจริตของเจ้าหน้าที่ ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ก็ปฏิบัติงานได้ง่ายขึ้น ผลทางอ้อมอีกประการหนึ่งคือการลดการเดินทางและการใช้เอกสารจะช่วยลด carbon footprint ได้อีกทางหนึ่งด้วย นอกจากนี้ ยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเป้าหมายสูงสุดของกฎหมายนี้คือการทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น (better life)

ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล หรือ DGA กล่าวว่า DGA ในฐานะหน่วยงานกลางในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านไปสู่รัฐบาลดิจิทัล เข้าใจถึงความพร้อมที่แตกต่างกันของแต่ละหน่วยงาน จึงได้จัดทำแนวปฏิบัติกระบวนการทางดิจิทัลภาครัฐ ที่เป็นคู่มือการปฏิบัติตามเพื่ออำนวยความสะดวก (https://standard.dga.or.th/DGA-STD/5212/) ให้หน่วยงานในระดับต่างๆ สามารถดำเนินการตาม พ.ร.บ.ฯ ได้ ดังนี้ หน่วยงานระดับเริ่มต้น – ให้หน่วยงานประกาศช่องทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (email) หรือใช้ช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ (social media) ที่มีการลงทะเบียนอีเมลกับ DGA หรือขึ้นทะเบียนทางการ ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 10 สำหรับให้บริการประชาชนและเป็นช่องทางในการติดต่อหน่วยงาน เพื่อป้องกันอีเมลหลอกลวง และสำหรับหน่วยงานระดับมาตรฐานที่มีบริการ e-Service แล้ว ให้หน่วยงานจัดทำวิธีการที่เป็นระบบอัตโนมัติมากขึ้นและเป็นมาตรฐานเดียวกัน เช่น การให้บริการผ่านแอปพลิเคชันก็ต้องมีการขึ้นทะเบียนผ่านแพลตฟอร์มที่น่าเชื่อถือ (google play, Appstore) มีระบบฯ รองรับการรับ/ส่ง รวบรวมข้อมูล และจัดเก็บ เผยแพร่ตลอดจนครบกระบวนเพื่อให้ประชาชนสามารถติดตามสืบค้นข้อมูลได้สะดวก

สำหรับหน่วยงานที่ต้องการระบบฯ เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนตามพ.ร.บ.ฯ ได้ทันที DGA มีแพลตฟอร์มกลางทั้ง ศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกลางภาครัฐ (gdx.dga.or.th),  ศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ (data.go.th),  ศูนย์กลางบริการภาครัฐเพื่อภาคธุรกิจ (bizportal.go.th) และแอปพลิเคชันทางรัฐ โดย DGA และหน่วยงานกลางที่เกี่ยวข้อง ได้จัดให้มีบริการพื้นฐาน เช่น บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตน (DIGITAL ID) บริการมอบอำนาจทางอิเล็กทรอนิกส์ บริการชำระค่าธรรมเนียมทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-PAYMENT) บริการออกใบอนุญาต/หนังสือรับรองในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-DOCUMENT) บริการระบบเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูล (GOVERNMENT DATA EXCHANGE) เป็นต้น เพื่อให้หน่วยงานสามารถพัฒนาบริการดิจิทัลได้ง่าย ไม่ยุ่งยาก และใช้งบประมาณน้อย นอกจากนี้บุคลากรภาครัฐสามารถเรียนรู้หลักสูตรแนวทางวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ตาม พ.ร.บ.ฯ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายได้ที่สถาบัน TDGA (tdga.dga.or.th) นี่คือ บทบาทหนึ่งของ DGA ที่พร้อมจะเป็นผู้เชื่อมโยงความร่วมมือทุกหน่วยงาน เชื่อมต่อทุกภาคส่วน เพื่อให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็น “SMART NATION SMART LIFE” ประเทศทันสมัย และคุณภาพชีวิตคนไทยดียิ่งขึ้น

ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กล่าวว่า ETDA เรามุ่งส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนเกิดความเชื่อมั่นในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ควบคู่ไปกับเกิดกระบวนการเปลี่ยนผ่านการทำงานและการทำธุรกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างมั่นคงปลอดภัยและสร้างความน่าเชื่อถือทั้งในกลุ่มผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในภาพรวม โดยการดำเนินงานภายใต้ พ.ร.บ. การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ฯ ซึ่งไม่เพียงทำงานเพื่อสนับสนุนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่เอื้อต่อกระบวนการปฏิบัติราชการและการติดต่อราชการแบบอิเล็กทรอนิกส์ ยังได้มีบทบาทในการสนับสนุนในฐานะ Regulator ที่ช่วยกำกับดูแลผู้ให้บริการระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตน ที่ต้องขออนุญาตก่อนประกอบธุรกิจ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้มีความน่าเชื่อถือและปลอดภัย ผ่าน พ.ร.ฎ. Digital ID ที่สำคัญ ETDA ยังเป็นหน่วยงานหลักที่จัดทำข้อเสนอแนะมาตรฐานเกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ในบริการที่สำคัญๆ เช่น การพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Digital ID) เอกสารอิเล็กทรอนิกส์ (e-Document) และการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Signature) เพื่อให้หน่วยงานของรัฐและเอกชนมีแนวทางเพื่อนำไปประยุกต์ใช้และปฏิบัติตามได้อย่างมั่นใจและสอดคล้องตามมาตรฐานสากล นอกจากนี้ ยังผนวกกับการให้บริการให้คำปรึกษาจากทีมผู้เชี่ยวชาญทั้งในด้านกฎหมายและมาตรฐาน ในกรณีหน่วยงานต้องการที่ปรึกษาควบคู่ไปกับการเพิ่มพูนความรู้ ความเข้าใจในการใช้งานจริง ผ่านสถาบัน ADTE by ETDA (Academy of Digital Transformation by ETDA) ที่สามารถออกแบบกระบวนการเรียนรู้ให้เหมาะกับองค์กรได้ เพื่อให้ทุกภาคส่วนพร้อมรองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

โดยมี นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการ ก.พ.ร. นายจุมพล นิติธรางกูร ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนากฎหมาย สคก. ดร.อาศิส อัญญะโพธิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ DGA และนางสาวขนิษฐ์ ผาทอง ที่ปรึกษาสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ สพธอ. ร่วมเสวนาชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการดำเนินการตามพระราชบัญญัติฯ
 
⬇ ดาวน์โหลดเอกสารประกอบการประชุมและเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวกับพ.ร.บ. การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 ได้ที่ 📍 https://standard.dga.or.th/digital4citizen/