แพลตฟอร์มเติมเต็ม : นวัตกรรมพลิกโฉมบริการคุณภาพชีวิตเด็กเปราะบาง
กรุงเทพมหานคร ร่วมกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. และมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนานโยบาย (สวน.) จัดงาน “การจัดการร่วมของทุกภาคส่วน เติมเต็มคุณภาพชีวิตเด็ก ให้พัฒนาได้ตามศักยภาพ” ในวันที่ 8 มิถุนายน 2566 เวลา 09.00 – 13.00 น. ณ ห้องบางกอก อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 (ดินแดง) เพื่อแถลงผลสัมฤทธิ์ของความร่วมมือการรังสรรค์นวัตกรรมแพลตฟอร์ม“เติมเต็ม” ตลอดจนเพื่อสร้างและขยายข่ายงานความร่วมมือกับหน่วยบริการต่างๆ ในการทดสอบและพัฒนา “ศูนย์รังสรรค์นวัตกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็ก” พร้อมเตรียมขยายผลความร่วมมือกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในระยะถัดไป
แพลตฟอร์มเติมเต็ม : นวัตกรรมพลิกโฉมบริการคุณภาพชีวิตเด็กเปราะบาง เป็นการจัดความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ร่วมภาคส่วนภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง กรุงเทพมหานคร สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. และมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนานโยบาย (สวน.) ผ่านการจัดกระบวนการร่วมศึกษาในรูปแบบ ของ “ศูนย์รังสรรค์นวัตกรรม (Innovation Sandbox)” ภายใต้ โครงการพัฒนาแพลตฟอร์มการบริการแบบแบ่งปันข้อมูลเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต (ระยะที่ 1) กลุ่มเด็กและเยาวชนในครอบครัวเปราะบาง ของ กรุงเทพมหานคร สามารถแสดงผลเชิงประจักษ์ในการประยุกต์ ใช้แนวคิดและแนวทางดำเนินการเพื่อการดูแลและคุ้มครองป้องกันเด็กตั้งแต่ระยะแรกปรากฎของภัยคุกคาม มุ่งเน้น ให้เห็นถึงผลประจักษ์ในการการคุ้มครองป้องกันเด็กต่อการถูกละเมิดสิทธิ์ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ตลอดจนให้ตอบสนองต่อนโยบายการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จากผลลัพธ์ดังกล่าวทำให้เกิดการรวมพลังของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อจะขยายผลความร่วมมือ ที่จะเป็นประโยชน์กับการดูแลกลุ่มเด็กและเยาวชนในครอบครัวเปราะบางได้อย่างครอบคลุม โดยความร่วมมือ กับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือ พม. เพื่อให้เกิดกระบวนการจัดบริการทางสังคม ที่ดำเนินการได้แบบไร้ตะเข็บและขยายผล Sandbox ออกไปยังในพื้นที่ต่าง ๆ ของ 4 ภูมิภาคในระยะถัดไป
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดงาน “การจัด การร่วมของทุกภาคส่วน เติมเต็มคุณภาพชีวิตเด็ก ให้พัฒนาได้ตามศักยภาพ” และร่วมเสวนาในหัวข้อ “ต้นแบบแพลตฟอร์มดิจิทัลเติมเต็ม : พลิกโฉมการจัดบริการคุณภาพชีวิตเด็ก 4 มิติที่ไร้รอยต่อ” (Innovative Smart Governance)” โดยมีแนวคิดขยายผลแพลตฟอร์มเติมเต็มจะดำเนินการทดสอบขยายผลให้ครอบคลุม 6 โซน ครอบคลุมทั้ง 50 เขต กรุงเทพมหานคร เพราะเด็กคือทรัพยากรที่สำคัญของกรุงเทพมหานคร เป็นเจ้าของเมืองและเป็นผู้ขับเคลื่อนเมืองในอนาคต การเติบโตในสภาพแวดล้อมนี้จำเป็นต้องมีผู้ใหญ่ดูแลอย่างรอบด้าน ปัจจุบันมีเด็กที่อยู่ในสภาวะขาดแคลนหรือมีปัญหาต่าง ๆ ทั้งการศึกษา ที่อยู่อาศัย การปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง สุขภาพกายและสุขภาพจิต การขาดสารอาหารและอื่น ๆ มากมาย ล้วนแต่เป็นประเด็นที่สลับซับซ้อน ซึ่งข้อมูลความต้องการเหล่านี้สามารถส่งผ่านข้อมูลไปยังหน่วยงานหรือผู้ที่ต้องการให้ความช่วยเหลือได้อย่างถูกต้อง เป็นไปอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ที่สำคัญคือจะทำอย่างไรให้ เด็กที่มีความต้องการความช่วยเหลือ ได้รับความช่วยเหลือความช่วยเหลือจากทั้งภาครัฐและเอกชนมได้อย่างครอบคลุม
นายสุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล กล่าวถึงภารกิจการขับเคลื่อนให้เป็นรัฐบาลดิจิทัล คือ การพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนด้วยระบบดิจิทัล โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่ต้องให้ความสนใจ เป็นพิเศษที่ต้องให้สามารถเข้าถึงได้ และไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ประชาชนทุกคนมีสมาร์ทไลฟ์ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ประเทศมีความทันสมัย หรือ สมาร์ทเนชั่น ทั้งนี้ แนวคิดของการออกแบบแพลตฟอร์ม “เติมเต็ม” เป็นการแชร์ข้อมูลและบริการต่าง ๆ ของหน่วยงานรัฐให้กับผู้ดูแลคนที่ใช้และวางแผนการให้ความช่วยเหลือร่วมกัน การใช้เครื่องมือ แบบประเมิน 4 มิติช่วยให้เกิดการแบ่งปันข้อมูลระหว่างกัน นักสังคมสงเคราะห์และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องสามารถแบ่งปันและวางแผนร่วมกันเพื่อตอบสนองความต้องการของคนในชุมชนให้ได้ และให้การช่วยเหลือแบบรอบ ด้าน ประโยชน์ที่ได้รับจากแพลตฟอร์มคือการบูรณาการข้อมูลและการวางแผนที่มีความเกี่ยวข้องสามารถช่วยให้การช่วยเหลือสามารถดำเนินการได้ตั้งแต่ระดับครอบครัวจนถึงระดับเขต และยังสามารถนำเสนอเพิ่มเติมต่อผู้บริหาร เพื่อพิจารณาตัดสินใจในการสนับสนุนทรัพยากรเพิ่มเติมและสอดคล้องกับความต้องการในแต่ละพื้นที่ ซึ่ง DGA หรือ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) มีความมุ่งมั่นในการส่งเสริมสนับสนุน กรุงเทพมหานคร และกระทรวงพัฒนาการสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อผลักดันการยกระดับแพลตฟอร์มเติมเต็มให้เป็นแพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์การให้บริการได้ดียิ่งขึ้นต่อไป
นพ.วิพุธ พูลเจริญ กล่าวถึงความมุ่งหมายของแพลตฟอร์มเติมเต็มที่มีเครื่องมือดอกไม้ 4 มิติ สำหรับ สื่อความเข้าใจร่วมกันระหว่าง เด็กและผู้ปกครอง กับ ศูนย์บริการสาธารณสุข นักสังคมสงเคราะห์ ครูศูนย์เด็กเล็ก ครูโรงเรียน ฝ่ายพัฒนาสังคมและสวัสดิการของเขต ตามแนวทางกลไกการจัดการความรู้ที่เป็นต้นแบบของข่ายงานให้บริการทางสังคมร่วมกับชุมชน ที่ทำงานบนแพลตฟอร์ม “เติมเต็ม” ให้ค้นพบและตระหนักในสถานการณ์ภัยคุกคามก่อนที่จะเกิดอันตรายต่อเด็ก และสามารถร่วมวางเป้าหมาย และกำหนดแผนขั้นตอนเปลี่ยนวิถีชีวิต ให้พัฒนาไปได้เต็มตามศักยภาพที่ควรจะเป็นของเด็ก พร้อมกันนั้นก็สร้างความเข้มแข็งให้กับข่ายงานทางสังคมในระดับชุมชน และสื่อข่าวสารในรูปข่าวกรอง (Intelligence) ให้กับการจัดข่ายบริการในระดับเขตให้มีการปรับปรุงคุณภาพเท่าทันภาวะคุกคามที่เปลี่ยนไปในอนาคต ตลอดจนสื่อสารข้อจำกัดเชิงระบบขึ้นไปสู่คณะกรรมการคุ้มครองเด็ก กทม. ให้สามารถปรับใช้ข่าวสาร ความรู้และภูมิปัญญาจากประสบการณ์ในชุมชน เพื่อปรับนโยบายคุ้มครองเด็ก ให้มีประสิทธิภาพเหมาะสมกับสภานการณ์ทางสังคมและเศรษฐกิจ อันถือเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน
การรังสรรค์นวัตกรรมพลิกโฉมบริการคุณภาพชีวิตเด็กเปราะบาง (Innovation Sandbox) จึงถือเป็นหมุดหมายสำคัญที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ให้การสนับสนุนการดำเนินการกับ กทม. สพร. สวน.และ พม. ในแผน 10 ปีของ สสส. เพื่อรับมือกับสังคมที่ผันผวนอย่างรุนแรง (VUCA) ทพ.สุปรีดา ผู้จัดการ สสส. กล่าวเน้นย้ำ
สุดท้ายนี้ จึงขอเชิญชวนให้ผู้มีส่วนร่วมทั้งหลายเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งเพื่อทดสอบแพลตฟอร์มเติมเต็มนี้ร่วมกัน เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่จะนำไปสู่การพัฒนาแพลตฟอร์มที่พร้อมตอบโจทย์การพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชนได้ดียิ่งขึ้น เพื่อปกป้องและคุ้มครองเด็กที่เผชิญกับภาวะคุกคามก่อนเข้าสู่วิกฤติได้รับความช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว ทันท่วงที และมีประสิทธิภาพมากขึ้น