DGA จับมือไมโครซอฟท์ พัฒนาทักษะบุคลากรภาครัฐ กับโครงการ “DIGI Data Camp” ซีซั่น 2 เพื่อยกระดับการให้บริการประชาชนผ่านระบบดิจิทัล
ชูแพลตฟอร์ม Microsoft 365 เสริมความคล่องตัวในการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ ครอบคลุมข้าราชการกว่า 105,000 คน พร้อมปั้นข้าราชการเป็นนักพัฒนาด้วย Power Platform
สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (DGA) ร่วมกับไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ประกาศความคืบหน้าในภารกิจการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของภาครัฐ เพื่อก้าวเข้าสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลตามวิสัยทัศน์ของ DGA โดยเทคโนโลยีของไมโครซอฟท์จะเข้ามายกระดับการปฏิบัติงานผ่านช่องทางดิจิทัล ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความสะดวกสบายของประชาชนในการติดต่อและใช้บริการที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานของภาครัฐ พร้อมกันนี้ ทั้งสองฝ่ายยังร่วมกันประกาศโครงการ “DIGI Data Camp สานฝันปั้นอัศวินข้อมูลภาครัฐ” ซีซั่น 2 กิจกรรมแฮกกาธอนที่จะเข้ามาเสริมศักยภาพของบุคลากรภาครัฐในการขับเคลื่อนหน่วยงานของตนให้ก้าวสู่การเป็น Data-Driven Organization อย่างเต็มตัว
การเร่งเครื่องพัฒนาหน่วยงานภาครัฐเข้าสู่ยุคดิจิทัลในครั้งนี้ นับเป็นการตอบรับกับพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 ซึ่งเป็นกฎหมายกลางในการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมรองรับการทำงานของหน่วยงานภาครัฐในรูปแบบไฮบริด โดยหน่วยงานภาครัฐกว่า 300 แห่ง ครอบคลุมบุคลากรรวม 105,000 คน จะนำแพลตฟอร์มที่เป็นที่ยอมรับทั่วโลกอย่าง Microsoft 365 เข้ามายกระดับการให้บริการประชาชน ผ่านการจัดการข้อมูลและการสร้างระบบงานที่ยืดหยุ่นและคล่องตัวมากยิ่งขึ้นด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ภายใต้การสนับสนุนของ DGA
ดร. สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล เผยว่า “ในฐานะที่ DGA เป็นหน่วยงานกลางของการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ซึ่งทำหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐปรับเปลี่ยนกระบวนงานด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัย ความร่วมมือกับไมโครซอฟท์ประเทศไทยในครั้งนี้ เป็นอีกบทบาทที่สำคัญในการทำงานกับผู้ให้บริการเทคโนโลยีในระดับโลกอีกหลายรายที่ DGA ได้ร่วมมือกันเพื่อส่งเสริมให้เกิดความรู้เท่าทันเทคโนโลยีที่หลากหลายต่อความจำเป็นใช้งานที่แตกต่างกันของหน่วยงานรัฐ ความร่วมมือกับเทคโนโลยีระดับโลกจากไมโครซอฟท์นี้เพื่อส่งเสริมทักษะความรู้ และการใช้ประโยชน์ให้เต็มประสิทธิภาพของบริการกับหน่วยงานกว่า 300 แห่งที่เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ จึงเป็นความสำคัญในการสร้างแนวทาง มาตรฐาน และกระบวนการดำเนินงานที่สอดรับกับศักยภาพที่มากขึ้นของนวัตกรรมในยุคดิจิทัล ซึ่งจะนำไปสู่บริการที่รวดเร็ว คล่องตัว และยืดหยุ่นกว่าเดิมสำหรับประชาชน อีกทั้งยังมั่นใจได้ยิ่งขึ้นด้วยระบบความปลอดภัยที่ได้มาตรฐานโลก”
นอกจากนี้ DGA และไมโครซอฟท์ยังจะร่วมกันจัดกิจกรรมแฮกกาธอนในโครงการ “DIGI Data Camp สานฝันปั้นอัศวินข้อมูลภาครัฐ” ซีซั่น 2 ซึ่งนับเป็นปีที่สองของโครงการเพื่อการพัฒนาบุคลากรภาครัฐให้มีทักษะดียิ่งขึ้นในการเปลี่ยนข้อมูล (Data) ในหน่วยงานและระบบงานให้เป็นข้อมูลเชิงลึก (Insight) ผ่านทางการฝึกอบรมพัฒนาทักษะและเสริมสร้างความสามารถจากผู้เชี่ยวชาญ ก่อนจะนำทักษะมาผสมผสานกับความรู้และประสบการณ์ในการทำงานจริง คิดค้นต่อยอดเป็นเครื่องมือที่เสริมประสิทธิภาพในการทำงาน เพิ่มขีดความสามารถในการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนให้ดีกว่าเดิม สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (2566-2570) โดยในปีที่สองนี้ มีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการถึง 359 ทีม หรือคิดเป็นข้าราชการ พนักงาน และลูกจ้างในสังกัดภาครัฐรวมกว่า 1,112 คน
นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย กล่าวเสริมว่า “ไมโครซอฟท์เชื่อว่าการสรรสร้างนวัตกรรมสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกที่ โดยเฉพาะในปัจจุบันที่มีเครื่องมือแบบ low-code / no-code เอื้อให้บุคลากรในงานแต่ละสายสามารถสร้างแอปมาแก้ปัญหาหรือตอบโจทย์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นได้ด้วยตนเอง เราจึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับทาง DGA เพื่อสนับสนุนโครงการ “DIGI Data Camp สานฝันปั้นอัศวินข้อมูลภาครัฐ” ซึ่งในปีนี้ มุ่งผลักดันให้บุคลากรภาครัฐยกระดับความสามารถขึ้นมาเป็น Citizen Developer สร้างแอปพลิเคชันและเครื่องมือที่ตอบโจทย์ในการทำงานจริงผ่าน Microsoft Power Apps ผมเชื่อว่าเครื่องมืออย่าง Microsoft 365 และ Power Platform จะเปิดโอกาสให้บุคลากรของภาครัฐนำไปสร้างนวัตกรรม ต่อยอดการทำงานให้สอดประสานกันมาก รวดเร็ว แม่นยำ และปลอดภัยยิ่งขึ้น พร้อมเสริมศักยภาพให้ภาครัฐมุ่งสู่ความเป็น Data Driven Organization ในรูปขององค์กรดิจิทัลที่ยกระดับบริการสาธารณะเพื่อคุณภาพชีวิตของคนไทยที่ดียิ่งขึ้น”
ขณะนี้ โครงการ “DIGI Data Camp สานฝันปั้นอัศวินข้อมูลภาครัฐ” ซีซั่น 2 กำลังเดินหน้าจัดหลักสูตรฝึกอบรมใน 6 หัวข้อหลักๆ ซึ่งรวมถึงการวิเคราะห์ข้อมูล พัฒนาแอป และการสร้างระบบอัตโนมัติในการทำงาน ก่อนจะเข้าสู่ช่วงระดมแนวคิดและนำเสนอผลงานในเดือนพฤษภาคม เพื่อเฟ้นหาไอเดียสร้างสรรค์ดีเด่นจาก 8 ทีมให้เข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ เพื่อนำโอกาสและแนวคิดจากโครงการไปพัฒนาต่อยอดเป็นเครื่องมือและบริการเพื่อใช้งานจริงต่อไปในอนาคต โดยจะประกาศผลผู้ชนะเลิศจากโครงการในวันที่ 26 มิถุนายน 2566 นี้