นายกรัฐมนตรี ชื่นชมรัฐบาลดิจิทัลไทยทะยานสู่อันดับ 22 จาก 64 ประเทศทั่วโลก พร้อมมอบ 4 แนวทางพัฒนารัฐบาลดิจิทัล บริหารจัดการองค์กรด้วยข้อมูล เสริมทักษะดิจิทัลกับบุคลากร เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน และขยายการเชื่อมโยงข้อมูลและบริการภาครัฐ


30 November 2565
596

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้เกียรติเป็นประธานมอบรางวัลรัฐบาลดิจิทัลประจำปี 2565 “Digital Government Awards 2022” แก่หน่วยงานภาครัฐที่มีการปรับเปลี่ยนองค์กรสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลในระดับสูง จำนวนทั้งสิ้น 53 รางวัล พร้อมด้วย นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จัดขึ้นโดย สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA เพื่อเป็นต้นแบบที่ดีให้กับหน่วยงานภาครัฐ ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล

ในการนี้ นายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายและทิศทางการขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัล พร้อมแสดงความยินดีกับหน่วยงานที่ได้รับรางวัลรัฐบาลดิจิทัลประจำปี 2565 ที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการปรับเปลี่ยนหน่วยงานสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล จนส่งผลให้อันดับดัชนีรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government Development Index)  หรือ EGDI ประจำปี 2565 ของประเทศไทยขึ้นมา 2 อันดับ อยู่อันดับที่ 55 จากอันดับที่ 57 ในปี 2563 โดยประเทศไทยได้อันดับ 3 ของอาเซียน และผลการจัดอันดับดัชนีชี้วัดการมีส่วนร่วมทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Participation Index)  หรือ EPI ประเทศไทยขึ้นมาอย่างก้าวกระโดดถึง 33 อันดับ มาอยู่อันดับที่ 18 จากอันดับที่ 51 ในปี 2563 โดยประเทศไทยได้อันดับ 2 ของอาเซียน และอีกหนึ่งดัชนี้ชี้วัดระดับสากล คือ  Waseda-IAC World Digital Government Ranking ซึ่งจัดอันดับจาก 64 ประเทศทั่วโลก โดยในปีนี้ ประเทศไทยมีอันดับดีขึ้นมา 3 อันดับ อยู่อันดับที่ 22 จากอันดับที่ 25 ปี 2021 พร้อมมอบเป็นนโยบายเพื่อย้ำเตือนให้ความสำคัญแก่หน่วยงานภาครัฐ ซึ่งเป็นผลสะท้อนจากการทำสำรวจระดับความพร้อมรัฐบาลดิจิทัลของ DGA ในปีนี้ 4 ประการ คือ ประการแรก มุ่งเน้นการบริหารจัดการและขับเคลื่อนองค์กรด้วยข้อมูลอย่างต่อเนื่อง ประการที่สอง เร่งส่งเสริมทักษะด้านดิจิทัลแก่เจ้าหน้าที่ภาครัฐ ประการที่สาม ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชน และประการสุดท้าย ขยายการเชื่อมโยงข้อมูลและบริการผ่านแพลตฟอร์มกลาง

นอกจากนั้นนายกรัฐมนตรี ยังได้ขอบคุณคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล โดยมีท่านรองนายกดอน ปรมัตถ์วินัย เป็นประธาน และท่านรัฐมนตรีอนุชา นาคาศัย เป็นที่ปรึกษา ที่ได้จัดทำร่างแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย พ.ศ. 2566 – 2570 ภายใต้วิสัยทัศน์ “บริการภาครัฐสะดวก โปร่งใส ทันสมัย ตอบโจทย์ประชาชน” เพื่อมุ่งยกระดับการให้บริการที่ตอบสนองประชาชนและลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของภาคธุรกิจ สร้างความโปร่งใสที่เน้นการเปิดเผยข้อมูลแก่ประชาชนโดยไม่ต้องร้องขอ สนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชน และเป็นภาครัฐที่ปรับตัวทันการณ์ อันจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่อไป

นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวรายงานถึงโครงการสำรวจระดับความพร้อมรัฐบาลดิจิทัลของหน่วยงานภาครัฐว่า DGA ได้ดำเนินโครงการฯ มาตั้งแต่ปี 2558 โดยมุ่งหวังว่าผลสำรวจจะสะท้อนให้เห็นสถานะความพร้อมด้านการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล รวมถึงปัญหาอุปสรรค ความท้าทาย และปัจจัยแห่งความสำเร็จในการขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย สำหรับปี 2565 นี้ ได้ทำการสำรวจหน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศ ประกอบด้วย หน่วยงานภาครัฐระดับกรมหรือเทียบเท่า หน่วยงานภาครัฐระดับภูมิภาคทั้ง 76 จังหวัด (ไม่รวมกรุงเทพฯ) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ (กรุงเทพมหานคร และ เมืองพัทยา) รวมทั้งสิ้น 1,935 หน่วยงาน มีหน่วยงานที่ตอบแบบสำรวจทั้งสิ้น 1,889 หน่วยงาน คิดเป็นร้อยละ 97.62 ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.26 จากปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า หน่วยงานยังคงมีความตื่นตัวและให้ความร่วมมือในการตอบแบบสำรวจอย่างดียิ่ง จากผลการสำรวจ พบว่าหน่วยงานระดับกรมหรือเทียบเท่าที่ตอบแบบสำรวจจำนวน 310 หน่วยงาน ส่วนใหญ่มีระดับความพร้อมรัฐบาลดิจิทัลอยู่ในระดับสูงและปานกลาง โดยมีคะแนนความพร้อมด้านการบริหารจัดการรูปแบบดิจิทัลสูงที่สุด รองลงมาคือด้านโครงสร้างพื้นฐานความมั่นคงปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ เช่นเดียวกับหน่วยงานระดับจังหวัดที่ตอบแบบสำรวจทั้งหมด 1,577 หน่วยงาน ส่วนใหญ่มีระดับความพร้อมรัฐบาลดิจิทัลอยู่ในระดับสูงและปานกลางโดยมีคะแนนความพร้อมด้านนโยบายและหลักปฏิบัติสูงที่สุด รองลงมาคือด้านโครงสร้างพื้นฐานความมั่นคงปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ

ดร. สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล กล่าวเพิ่มเติมว่า ในครั้งที่ผ่านมานายกรัฐมนตรี ได้ให้นโยบายในการพัฒนาภาครัฐไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลซึ่ง DGA มีการดำเนินการสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมตามนโยบายแล้วประกอบด้วย

1. ด้านกฎหมาย นโยบาย แผน และแพลตฟอร์มกลางภาครัฐ โดยที่หน่วยงานภาครัฐร่วมกันผลักดันพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 และ (ร่าง) แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย พ.ศ. 2566 – 2570 เพื่อกำหนดกรอบและทิศทางการบริหารงานภาครัฐและการจัดทำบริการสาธารณะในรูปแบบเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการพัฒนาประเทศ อีกทั้ง ได้พัฒนาพอร์ทัลกลางเพื่อให้บริการแก่ภาคประชาชน ภาคธุรกิจ และภาครัฐ ผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” ที่มีบริการสะสมแล้วกว่า 80 บริการ ยอดดาวน์โหลดใช้งานแล้วกว่า 3 แสนครั้ง พอร์ทัลกลางสำหรับภาคธุรกิจ เป็นศูนย์กลางข้อมูลให้ธุรกิจติดต่อราชการแบบเบ็ดเสร็จ ครบวงจร ณ จุดเดียว บนเว็บไซต์ biz.govchannel.go.th  มีการให้บริการ 78 ใบอนุญาตใน 25 ประเภทธุรกิจ พอร์ทัลกลางด้านกฎหมายเพื่อเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลทางด้านกฎหมายของประเทศ รวมถึงเป็นช่องทางสําหรับรับฟังความคิดเห็นและประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการดําเนินการจัดทํากฎหมายหรือร่างกฎหมาย ปัจจุบันมีกฎหมายเข้าสู่ระบบเพื่อรับฟังความคิดเห็นและประเมินผลสัมฤทธิ์รวมทั้งหมดแล้วจำนวน 301 ฉบับ จาก 83 หน่วยงาน โดยมีผู้เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์สะสมกว่า 240,000 ครั้ง ผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นบนระบบ Law Portal สะสมกว่า 72,000 ครั้ง

และเพื่ออำนวยความสะดวกภาครัฐในการปรับเปลี่ยนไปสู่การเป็นองค์กรดิจิทัล (Digital Transformation) ในระดับท้องถิ่น DGA ได้ดำเดินการจัดทำระบบท้องถิ่นดิจิทัล ที่ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในการบริหารงานและให้บริการประชาชนผ่านระบบดิจิทัล โดยเปิดให้บริการแล้ว 5 ระบบ คือ ระบบบริหารจัดการจุดเดียวเบ็ดเสร็จ (OSS) ระบบขออนุญาตก่อสร้าง ระบบออกหนังสือรับรองการแจ้งฯ ระบบชำระค่าธรรมเนียมออนไลน์ และ ระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์

2. ศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐและส่งเสริมการเปิดเผยและใช้ประโยชน์จากข้อมูล (Open Data) ผ่าน go.th ซึ่งปัจจุบันมีชุดข้อมูลเปิดบนระบบแล้วกว่า 7,700 ชุดข้อมูล  มีผู้ใช้บริการสะสม มากกว่า 2.7 ล้านคน และมีการใช้บริการเว็บไซต์แล้วกว่า 10 ล้านครั้ง รวมถึงการพัฒนาระบบคลาวด์กลางภาครัฐ (Government Data Center and Cloud Service)  โดยเป็นการรวมศูนย์การให้บริการเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่ายเสมือนที่ได้มาตรฐานและมีความปลอดภัยสูงสำหรับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อรองรับความต้องการในการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่รัฐบาลดิจิทัล และการใช้งานการวิเคราะห์และใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ซึ่งปัจจุบัน มีหน่วยงานภาครัฐใช้บริการ GDCC จำนวนกว่า 250 กรม 880 หน่วยงาน

3. การส่งเสริมทักษะดิจิทัลของข้าราชการและบุคลากรภาครัฐ เพื่อให้มีความพร้อมและสามารถขับเคลื่อนการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของหน่วยงานให้สอดคล้องกับแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล โดยสถาบันพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัลภาครัฐ (Thailand

Digital Government Academy หรือ TDGA) ได้มีการพัฒนาบุคลากรภาครัฐ จำนวนกว่า 678,000 คน โดยเป็นการอบรมในรูปแบบออนไลน์ (e-Learning) และ Onsite

รางวัลรัฐบาลดิจิทัลประจำปี 2565 (Digital Government Awards 2022) ประกอบด้วย

รางวัลรัฐบาลดิจิทัล แบ่งเป็น

  • รางวัลรัฐบาลดิจิทัลสำหรับหน่วยงานภาครัฐระดับกรมที่ให้บริการเป็นหลัก ที่มีคะแนนรวมสูงสุด 6 หน่วยงาน ได้แก่ 1) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
    2) กรมศุลกากร 3) กรมพัฒนาธุรกิจการค้า 4) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ 5) กรมทรัพยากรน้ำ และ
    6) กรมสรรพากร
  • รางวัลรัฐบาลดิจิทัลสำหรับหน่วยงานภาครัฐระดับกรมที่จัดทำนโยบาย ประสานงาน กำกับดูแล หรืออื่นๆเป็นหลักที่มีคะแนนรวมสูงสุด 4 หน่วยงาน ได้แก่ 1) สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 2) สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ 3) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และ 4) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
  • รางวัลผู้นำองค์กรดิจิทัลดีเด่น 1 รางวัล ได้แก่ ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา

       วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

  • รางวัลระดับดิจิทัลระดับจังหวัด จำนวน 5 รางวัล ได้แก่ จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดบึงกาฬ จังหวัดปัตตานี จังหวัดสระบุรี และจังหวัดสิงห์บุรี
  • รางวัลท้องถิ่นดิจิทัล 3 รางวัล ได้แก่ เทศบาลนครยะลา จังหวัดยะลา เทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี และองค์การบริหารส่วนตำบลป่าหุ่ง จังหวัดเชียงราย
  • รางวัลเฉพาะด้านประจำปี ประกอบด้วย
  • รางวัลหน่วยงานคุณภาพด้านการใช้ธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ (Data Governance) จำนวน 19 รางวัล ได้แก่ กรมชลประทาน กรมทางหลวงชนบท  กรมพัฒนาที่ดิน กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมสุขภาพจิต กรมหม่อนไหม  กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์  สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์  สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)
  • รางวัลหน่วยงานคุณภาพด้านการเปิดเผยข้อมูลผ่านศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ (go.th) จำนวน 5 รางวัล ได้แก่ กรมสรรพสามิต สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน และสำนักงานสถิติแห่งชาติ
  • รางวัลหน่วยงานคุณภาพด้านบุคลากรดิจิทัล จำนวน 5 รางวัล ได้แก่ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) และสำนักงานศาลยุติธรรม
  • รางวัลพัฒนาการดีเด่น จำนวน 5 รางวัล แบ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐระดับกรมที่ให้บริการเป็นหลัก 3 รางวัล ได้แก่ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ และสำนักงานอัยการสูงสุด หน่วยงานภาครัฐระดับกรมที่จัดทำนโยบาย ประสานงาน กำกับดูแล หรืออื่นๆเป็นหลัก 2 รางวัล ได้แก่ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และกองอำนวยรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร

สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ dgawards.dga.or.th

รับชม 🔴 LIVE ย้อนหลังคลิก