รัฐบาลดิจิทัลจะพัฒนาไปในทิศทางไหน และคนไทยจะได้อะไร? Digital Government ในอีก 5 ปีข้างหน้า
สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA จัด ‘การประชุมประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็น (ร่าง) แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย พ.ศ. 2566 – 2570’ โดยมี นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ประธานคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล กล่าวเปิดการประชุม พร้อมด้วย นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษผ่านวีดิโอเรื่อง “ความคาดหวังต่อการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล” และ ดร. สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล นำเสนอเรื่อง “ทิศทางพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย” เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 ผ่านระบบออนไลน์
ทั้งนี้เพื่อเป็นการดำเนินงานด้านการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง DGA ได้จัดทำ (ร่าง) แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย พ.ศ. 2566 – 2570 ขึ้น โดยมุ่งหวังให้ภาคประชาชน ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม และภาครัฐได้ประโยชน์จากการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล บรรลุผลลัพธ์ในปี 2570 ตามแผน 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 พัฒนาบริการที่สะดวกและเข้าถึงง่ายด้วยรัฐบาลดิจิทัล ยุทธศาสตร์ที่ 2 เสร้างมูลค่าเพิ่มและอำนวยความสะดวกแก่ภาคธุรกิจด้วยรัฐบาลดิจิทัล ยุทธศาสตร์ที่ 3 ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน และเปิดเผยข้อมูลเปิดภาครัฐ และยุทธศาสตร์ที่ 4 บูรณาการข้อมูลและกระบวนงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เพื่อการบริหารงานที่ยืดหยุ่นและคล่องตัว
โดย นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีฯ กล่าวว่า ภายใต้การเปลี่ยนแปลงและความจำเป็นเร่งด่วนของสถานการณ์ปัจจุบัน ภาครัฐจึงต้องเร่งขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัลในเชิงรุกมากขึ้น ตามแนวทางการพัฒนา 4 ประการ คือ 1. การบูรณาการการทำงานและเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เพื่อเปิดทางสู่การใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ในการพัฒนาประเทศด้านต่าง ๆ 2. ยกระดับทักษะด้านดิจิทัลและการพัฒนาทัศนคติของบุคลากรให้พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลง 3. พัฒนาบริการออนไลน์ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม โดยผู้ที่อาจยังไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัยได้ พร้อมสร้างความรู้ความเข้าใจและพัฒนาทักษะดิจิทัล (Digital Literacy) เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุดจากการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล และ 4. การตระหนักถึงความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลและเคารพความเป็นส่วนตัวของข้อมูลประชาชน รวมถึงการเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Economy) ที่เป็นวาระแห่งชาติ ด้วยการเชื่อมโยง BCG เข้ากับการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล โดยส่งเสริมด้านเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ความปลอดภัย (Safety) และความยั่งยืน (Sustainability) เพื่อเป็นทางเลือกหนึ่งของยุทธศาสตร์อาเซียนในยุคหลังโควิด-19
ด้าน นายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เล่าให้ฟังถึงภาพในอีก 5 ปีข้างหน้าว่า ในอนาคตมุ่งหวังให้ภาครัฐจะสามารถปรับตัวได้ได้รวดเร็ว ทันเวลา ทันสมัยต่อเหตุการณ์และความต้องการของประชาชน ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ผ่านการให้บริการต่าง ๆ ของภาครัฐที่เข้าถึงได้ง่ายและสะดวก ตอบสนองความต้องการประชาชน ทุกช่วงวัย อย่างทั่วถึง และเท่าเทียม การบริหารงานโปร่งใส ตรวจสอบได้ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งการเดินหน้าภารกิจสำคัญในการขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัลนี้ จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับ “ข้อมูล” ทั้งในส่วนของข้อมูลเปิดและชุดข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) มาใช้ในการต่อยอดสร้างประโยชน์แก่ภาคประชาชน เอกชน และภาครัฐให้เป็นรูปธรรม เพื่อผลักดันให้เกิด “การใช้ประโยชน์จากข้อมูล และมุ่งสู่ “Data Driven Government” อย่างแท้จริง
ดร. สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ได้เล่าให้ฟังถึงทิศทางพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย ตามแนวทาง (ร่าง) แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย พ.ศ. 2566 – 2570 ว่า ดำเนินการภายใต้วิสัยทัศน์ “บริการภาครัฐสะดวก โปร่งใส ทันสมัย ตอบโจทย์ประชาชน” โดยมุ่งเน้นความสำคัญ (Focused Areas) 10 กลุ่ม ได้แก่ SMEs, ความเหลื่อมล้ำทางสิทธิสวัสดิการประชาชน การศึกษา การเกษตร การมีส่วนร่วม โปร่งใส และตรวจสอบได้ของประชาชน สุขภาพและการแพทย์ สิ่งแวดล้อม แรงงาน ยุติธรรม และการท่องเที่ยว เพื่อให้ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม ทุกท้องถิ่นมากขึ้น และเมื่อทุกหน่วยงานภาครัฐสามารถเพิ่มขีดความสามารถด้วยการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในการพัฒนาประเทศทั้งเทคโนโลยี AI, Blockchain ฯลฯ จะส่งผลให้เกิดประโยชน์มหาศาลกับการพัฒนาประเทศอย่างก้าวกระโดด อาทิ ประชาชนและภาคธุรกิจเข้าถึงบริการภาครัฐผ่านช่องทางออนไลน์แบบเบ็ดเสร็จ ครบถ้วนทุกบริการและการใช้งาน ได้รับบริการได้ง่ายด้วยบัตรประชาชนหรือการยืนยันตัวตนในการติดต่อหรือทำธุรกรรม ประชาชนสามารถร่วมกำหนดและออกแบบบริการที่ตนเองต้องการกับหน่วยงานภาครัฐได้ ภาคธุรกิจเข้าถึงข้อมูลแนวโน้มตลาดแรงงานของประเทศสามารถประเมินการทำธุรกิจได้แม่นยำมากขึ้น หน่วยงานภาครัฐประหยัดงบประมาณจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล สามารถเข้าถึงข้อมูลพื้นฐานที่จำเป็นในการทำงานของแต่ละหน่วยงานได้อย่างไร้รอยต่อ หน่วยงานรัฐท้องถิ่นมีชุดเครื่องมือเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นต้น
สำหรับการจัดงานประชาพิจารณ์ฯ ในครั้งนี้ มีหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นที่มีประโยชน์เป็นอย่างยิ่ง ซึ่ง DGA ได้รวบรวมข้อเสนอแนะที่ได้รับนำไปประกอบการจัดทำ (ร่าง) แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลฯ ให้มีความครบถ้วนและสมบูรณ์ยิ่งขึ้นต่อไป จึงขอเชิญชวนผู้ที่สนใจมาเป็นส่วนหนึ่งในพลังที่สร้างสรรค์ร่วมส่งความคิดเห็นต่อ (ร่าง) แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย พ.ศ. 2566-2570 (สามารถดาวน์โหลดเอกสารได้ตามลิงก์: https://www.dga.or.th/policy-standard/policy-regulation/dga-019/dga-027/) ภายในวันที่ 10 มีนาคม 2565 ได้ที่อีเมล [email protected]