รัฐมนตรีอนุชา ขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัล มุ่งเน้นการใช้ประโยชน์ด้วยข้อมูล Big Data


2 February 2565
596

นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ครั้งที่ 1/2565 ผ่านระบบออนไลน์ เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 โดยมี นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการฯ และ ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ในฐานะอนุกรรมการและเลขานุการฯ พร้อมด้วยคณะอนุกรรมการซึ่งเป็นผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ เข้าร่วมประชุมเพื่อรับรองแนวนโยบายที่สำคัญตามมติคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล และอัปเดตความก้าวหน้าการขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัล โดย รมต. อนุชา กล่าวถึงความคืบหน้าให้ฟังว่า เพื่อให้ประเทศเดินหน้าพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง ทางสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA ได้เร่งจัดทำ (ร่าง) แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย ปี พ.ศ. 2566 – 2570 ขึ้นภายใต้วิสัยทัศน์ “บริการภาครัฐสะดวก โปร่งใส ทันสมัย ตอบโจทย์ประชาชน” โดยมีเป้าหมายเพื่อให้บริการตอบสนองประชาชน และลดความเหลื่อมล้ำ (Responsive Government) เพิ่มความสามารถและศักยภาพในการแข่งขันของภาคธุรกิจ (Enhance Competitiveness) โปร่งใส เปิดเผยข้อมูล ประชาชนเชื่อถือและมีส่วนร่วม (Open Government & Trust) และภาครัฐปรับตัวทันเวลา (Agile Government) ภายใต้ยุทธศาสตร์ การพัฒนาบริการที่สะดวกและเข้าถึงง่ายด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและอำนวยความสะดวกแก่ภาคธุรกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลได้ พร้อมส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน และเปิดเผยข้อมูลเปิดภาครัฐ และร่วมกันบูรณาการข้อมูลและกระบวนงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เพื่อการบริหารงานที่ยืดหยุ่นและคล่องตัว

โดยที่ประชุมได้มีมติให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินหน้าภารกิจในโครงการขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัลต่าง ๆ ให้ความสำคัญกับ “ข้อมูล” ทั้งที่เป็นข้อมูลเปิดเพื่อประโยชน์ต่อประชาชน โดยขอให้ DGA เร่งรัดทำงานร่วมกับทุกกระทรวง ตลอดจนการนำชุดข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ที่สามารถแลกเปลี่ยนเชื่อมโยงกันระหว่างหน่วยงาน หรือ นำข้อมูลมาต่อยอดสร้างประโยชน์แก่ภาคประชาชน เอกชน และภาครัฐให้เป็นรูปธรรม และทำให้สำเร็จเพื่อเป็นตัวอย่างของ “การใช้ประโยชน์จาก Big Data” มุ่งให้ปี 2565 เป็นปีแห่ง Data Driven Government” อย่างแท้จริง นอกจากนี้ได้มอบหมายให้สํานักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน และ DGA ประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อหาแนวทางให้เกิดการยอมรับเอกสารดิจิทัลในหน่วยงานภาครัฐ และประชาสัมพันธ์ในวงกว้างมากยิ่งขึ้น ในด้านเศรษฐกิจการสนับสนุน SME ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจไทยที่ สสว. ร่วมกับ DGA พัฒนาระบบ One ID One SME เพื่ออำนวยความสะดวกให้ SME ได้เชื่อมโยงโครงการสนับสนุนของรัฐจากหน่วยงานต่างๆได้สะดวกรวดเร็วขึ้น และสำหรับด้านโครงการพัฒนาแพลตฟอร์มกลางข้อมูลด้านสวัสดิการ (Welfare Platform) ได้ให้หน่วยงานเร่งจัดทำบริการด้านสวัสดิการของตนให้เป็นบริการผ่านระบบดิจิทัล (Digital Service) แบบครบวงจร “รู้ ยื่น จ่าย รับ” โดยให้เข้ามาเชื่อมโยงข้อมูลด้านสวัสดิการ

บนแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบ ร้องขอสิทธิ์สวัสดิการของตนได้แบบเบ็ดเสร็จ และได้รับความสะดวกรวดเร็วในการได้รับสวัสดิการจากรัฐด้วย ส่วนโครงการระบบกลางด้านกฎหมาย (Law Portal) ขอให้ทุกหน่วยงานนำร่างกฎหมายมารับฟังความคิดเห็น และประเมินผลสัมฤทธิ์ผ่านระบบกลางฯ เพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ. หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ พ.ศ. 2562 รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นต่อร่างกฎหมาย และร่วมประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่เว็บไซต์ www.law.go.th ในวงกว้างมากขึ้น และได้มีมติมอบหมายให้สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาโครงการพัฒนาระบบแพลตฟอร์มอัจฉริยะเพื่อการบริหารจัดการข้อมูลด้านกำลังคนและการพัฒนาสมรรถนะ ด้วยการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประเทศไทย (E-Workforce Ecosystem) เชื่อมโยงข้อมูลกับศูนย์กลางแลกเปลี่ยนข้อมูลภาครัฐ (GDX) โดยการสนับสนุนของ DGA พร้อมรายงานความคืบหน้าต่อคณะอนุกรรมการฯ ในการประชุมครั้งถัดไป นอกจากนี้ยังมีโครงการสำคัญที่อยู่ในภารกิจมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี ได้แก่ระบบการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล ผ่านหมายเลข 1111 ของสำนักงานปลัดนายกรัฐมนตรี เป็นระบบที่เชื่อมโยงเรื่องร้องเรียนต่างๆจากประชาชนและทำให้รัฐบาลเข้าถึงปัญหาร้องเรียนจากประชาและตรวจติดตามความคืบหน้าและการแก้ไขให้กับประชาชนได้ให้รวดเร็ว คัดกรองเรื่องซ้ำซ้อน และประชาชนสามารถติดตามผลและสถานะได้ ตลอดจนเป็นระบบกลางให้กับทุกหน่วยงานนำระบบไปใช้เพื่อให้บริการประชาชนเพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายงบประมาณในการพัฒนาเอง

ด้าน ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล อนุกรรมการและเลขานุการฯ กล่าวว่า ในการนำเสนอ (ร่าง) แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลฯ ปี พ.ศ. 2566 – 2570 นี้ได้เพิ่มเติมกลุ่มที่มุ่งเน้นความสำคัญ (Focused Areas) เป็น 10 กลุ่ม ได้แก่ SMEs, ความเหลื่อมล้ำทางสิทธิสวัสดิการประชาชน การศึกษา การเกษตร การมีส่วนร่วม โปร่งใส และตรวจสอบได้ของประชาชน สุขภาพและการแพทย์ สิ่งแวดล้อม แรงงาน  ยุติธรรม และการท่องเที่ยว เพื่อให้ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม ทุกท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้เพื่อให้ประเทศสามารถรองรับการขับเคลื่อนด้วย Big Data ได้อย่างเต็มรูปแบบ และสอดคล้องกับสาระสำคัญ พ.ร.บ.การบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 DGA จึงได้จัดตั้งสถาบันนวัตกรรมและธรรมาภิบาลข้อมูล (Data Innovation & Governance Institute: DIGI) ขึ้น โดยมีเป้าหมายยกระดับการบริหารจัดการข้อมูลภาครัฐให้มีคุณภาพตามกรอบธรรมาภิบาล นำไปสู่การเปิดเผย เชื่อมโยง แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงาน เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดนวัตกรรมข้อมูลสำหรับการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล โดยสถาบัน DIGI ได้ริเริ่มโครงการความร่วมมือ การให้คำปรึกษา และพัฒนาต้นแบบกับหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ การใช้ประโยชน์จากข้อมูล Big Data เกษตรกร ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และการใช้ข้อมูล Big Data กรมธรรม์รถยนต์ภาคสมัครใจ (พัฒนาเป็นข้อมูลเปิด เพื่อต่อยอดการพัฒนาประเทศภาครัฐและเอกชน) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เป็นต้น

นอกจากนี้ DGA ได้เดินหน้าโครงการขับเคลื่อนการพัฒนาท้องถิ่นดิจิทัล ปี 2564 โดยให้การสนับสนุนระบบบริหารงานและให้บริการประชาชนสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และจัดโครงการประกวดนวัตกรรม ‘รางวัลท้องถิ่นดิจิทัล’ ขึ้นเป็นปีแรก ซึ่งจากผลงานที่เข้าร่วมประกวดในปีนี้ แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของหน่วยงานส่วนท้องถิ่นที่ต้องการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนในพื้นที่ของตนอย่างแท้จริง คาดว่า การนำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลเข้าเสริมแกร่งเพื่อสร้างรากฐานให้ 56 อปท. ทั่วประเทศก้าวสู่ ‘ท้องถิ่นดิจิทัล’ จะก่อให้เกิดพลังสำคัญในการขับเคลื่อนไปสู่รัฐบาลดิจิทัลได้อย่างยั่งยืน ซึ่งจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนในปีที่ผ่านมาส่งผลให้ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับรัฐบาลดิจิทัลนานาชาติ โดยมหาวิทยาลัย Waseda ในอันดับที่ 25 จาก 64 ประเทศ ซึ่งเป็นอันดับที่ดีขึ้นกว่าในปี 2563 โดยไทยได้รับการจัดด้านประสิทธิภาพการบริหารจัดการ อยู่อันดับที่ 5 (จาก Top 10) ซึ่งเป็นผลจากความทุ่มเทของทุกฝ่ายในการผลักดันโครงการต่าง ๆ ตามแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย พ.ศ. 2563 – 2565

เอกสารแนบ

1