DGA เร่งสปีดรัฐบาลดิจิทัลระดมสมองภาครัฐไทยจัดทำ (ร่าง) แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย พ.ศ. 2566-2570 ให้ภาครัฐปรับตัวและรับมือกับ VUCA World โลกที่เปลี่ยนแปลงและคาดเดาไม่ได้


14 January 2565
538

สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ  DGA จัดประชุมผ่านระบบออนไลน์ร่วมกับหน่วยงานรัฐเพื่อระดมสมองจัดทำ (ร่าง) แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย พ.ศ. 2566-2570 เพิ่มสปีดรัฐบาลดิจิทัลรับมือกับโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ยากต่อการคาดเดาทั้งในด้านการทำงานและการดำเนินธุรกิจ (VUCA World and Disruption) นำโดย นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล และคณะผู้บริหาร DGA ร่วมกับผู้บริหารและผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาทิ นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ และผู้แทนจากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ สํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน และคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2565

โดยที่ประชุมได้เสนอประเด็นเรื่องของการทำให้เกิดกระบวนการ Digitization โดยหน่วยงานของรัฐสามารถจัดเก็บข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบ Digital ที่พร้อมนำไปใช้ประโยชน์และนำไปสู่กระบวนการ Digitalization ที่นำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยในกระบวนการทำงานหรือการให้บริการต่างๆ ของภาครัฐ รวมถึงสามารถเปิดข้อมูลภาครัฐแบบ Open by Default ของทุกหน่วยงานเพื่อให้ประชาชนและภาคธุรกิจสามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์และต่อยอดในการสร้างนวัตกรรมเพื่อพัฒนาประเทศได้

และนอกจากนี้ที่ประชุมยังเสนอความคิดเห็นการทำ Digital transformation ให้กับหน่วยงานรัฐต้องให้ความสำคัญในเรื่องของการปรับ Mindset บุคลากรภาครัฐให้เปิดรับการเปลี่ยนแปลงและพัฒนากระบวนการทำงานรูปแบบใหม่ในยุคดิจิทัล รวมถึงการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลเพื่อเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัล ทำให้ประชาชนสัมผัสได้ถึงการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ (Fully Digital) ซึ่งต้องอาศัยการยกระดับการให้บริการสู่ดิจิทัลอย่างครบวงจร อันจะช่วยอำนวยความสะดวกและลดภาระของประชาชนในการติดต่อกับหน่วยงานภาครัฐได้อย่างแท้จริง ควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานภายในของภาครัฐสู่ความเป็นระบบราชการ 4.0 ที่สะดวก คล่องตัว และตอบสนองความต้องการของประชาชน ภายใต้วิสัยทัศน์ “รัฐบาลดิจิทัล  สะดวก โปร่งใส ทันสมัย ตอบโจทย์ประชาชน” DGA ได้รับความคิดเห็นต่าง ๆ ที่ได้รับนำไปประกอบการจัดทำ (ร่าง) แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย พ.ศ. 2566-2570 ให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ร่างแผนดังกล่าวได้ผ่านการร่างและพิจารณาจากนโยบายและแผนระดับชาติที่เกี่ยวข้อง เช่น ยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561 2580), (ร่าง) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13, Sustainable Development Goals รวมถึงได้พิจารณาจากปัจจัยอื่น ๆ เช่น การจัดอันดับในตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลในระดับสากล, แผน นโยบาย และแนวทางของการพัฒนาของรัฐบาลดิจิทัลของประเทศที่ประสบความสำเร็จ, ผลสำรวจความพร้อมรัฐบาลดิจิทัล ผลการดำเนินงาน ความสำเร็จ และปัญหาอุปสรรคของแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย พ.ศ. 2563-2565 ที่ผ่านมา เป็นต้น