ขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัลเชิงรุกรับสถานการณ์ COVID-19 รัฐเร่งพัฒนาแพลตฟอร์มกลางเชื่อมต่อบริการเพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนติดต่อภาครัฐผ่านทางออนไลน์ตามแบบวิถีชีวิตใหม่ พร้อมให้ สพร. สนับสนุนการจัดทำระบบการบริหารจัดการภาครัฐรองรับการทำงานจากที่บ้าน (Work from Home)
นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธาน การประชุมคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2564 โดยมี นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และคณะกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมผ่านระบบออนไลน์ โดยที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าและเห็นควรให้สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร หรือ DGA) เร่งขับเคลื่อนการพัฒนาสถาปัตยกรรมรัฐบาลดิจิทัล ซึ่งประกอบด้วย (1) แพลตฟอร์มกลางในการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลภาครัฐ (Thailand Government Information Exchange: TGIX) เพื่อให้เกิดมิติใหม่ในการบริการประชาชนโดยไม่ต้องเตรียมเอกสารจำนวนมาก ลดการใช้สำเนาเอกสาร และลดการทำงานที่ซ้ำซ้อน สามารถให้บริการประชาชนผ่านช่องทางออนไลน์สอดรับกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 (2) ระบบพิสูจน์และยืนยันตัวบุคคลด้านดิจิทัล (Digital ID) โดยจะเริ่มนำร่องกับข้าราชการพลเรือนสามัญ รวมถึงการใช้ลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature) ในการลงนามเอกสารราชการต่างๆ ที่ไม่ต้องดำเนินการในรูปแบบกระดาษ (3) ระบบบัญชีข้อมูลภาครัฐ (Government Data Catalog) เพื่อให้ประชาชน ภาคเอกชน และหน่วยงานภาครัฐ สามารถเข้าถึงข้อมูลภาครัฐได้รวดเร็วขึ้น ซึ่งปัจจุบันไทยได้รับการเลื่อนอันดับดัชนีรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (E-Government Development Index: EGDI) เป็นอันดับที่ 57 ของโลกจาก 193 ประเทศ และเป็นอันดับที่ 3 ของอาเซียน ซึ่งเป็นการยกระดับประเทศไทยจากกลุ่มการพัฒนาสูงมาอยู่ในกลุ่มที่มีการพัฒนาในระดับสูงมาก
ที่ประชุมยังได้เห็นชอบให้ สพร. เร่งพัฒนาศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกลาง (Government Data Exchange: GDX) สำหรับการบูรณาการข้อมูลภาครัฐ ในระยะเวลา 2 ปี พ.ศ. 2564-2566 และจัดทำมาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลและแนวทางการดำเนินการศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกลางร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ให้เป็นไปตามแผนพัฒนามาตรฐานภายใต้ชื่อ “มาตรฐานการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลภาครัฐ” โดยแพลตฟอร์มการแลกเปลี่ยนข้อมูลจะทำงานร่วมกับระบบบัญชีข้อมูล ระบบการยืนยันและกำหนดสิทธิการใช้งาน และบริการดิจิทัลต่าง ๆ ซึ่งเชื่อมต่อระหว่างหน่วยงานรัฐ บนระบบที่มีความมั่นคงปลอดภัย เพื่อผลักดันรัฐบาลดิจิทัลของประเทศไปสู่หลักการ Once Only Principle หรือการที่ประชาชนให้ข้อมูลกับภาครัฐแค่ครั้งเดียวและภาครัฐทำการแลกเปลี่ยนข้อมูลนั้นผ่านแพลตฟอร์มการแลกเปลี่ยนข้อมูล ซึ่งจะทำให้ภาครัฐสามารถอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนได้แบบครบวงจร เช่น ระบบการยื่นภาษีของกรมสรรพากรจะขอใช้ข้อมูลบุคคลจากกรมการปกครอง การให้บริการด้านธุรกิจแบบเบ็ดเสร็จ และการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการศึกษาระหว่างมหาวิทยาลัย เป็นต้น
รองนายกฯ ดอนเห็นว่าการปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมในการทำงานของภาครัฐไปสู่รัฐบาลดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดที่ประชาชนพึงได้รับ การตอบสนองความต้องการของประชาชน และให้ประชาชนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างจริงจัง โดยควรให้ความสำคัญกับทุกมิติอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมด้านความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล พร้อมให้เร่งพัฒนาทักษะบุคลากรภาครัฐด้านดิจิทัลให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและเร่งผลิตบุคลากรด้านดิจิทัลให้มีเพียงพอ โดยควรให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐและความคุ้มค่าของการใช้ทรัพยากร รวมทั้งทำงานร่วมกับภาคส่วนอื่น ๆ โดยเฉพาะภาคเอกชนด้วย
ดร. สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อยกระดับการบริหารจัดการภาครัฐและการให้บริการประชาชนไปสู่ดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ สพร. ได้เตรียมระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้บริการแก่หน่วยงานภาครัฐในการรับ-ส่งเอกสารผ่านช่องทางออนไลน์ได้ พร้อมมีระบบ e-CMS สนับสนุนการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างระบบสารบรรณกลางกับระบบสารบรรณของแต่ละหน่วยงาน โดยใช้ควบคู่กับระบบพิสูจน์และยืนยันตัวบุคคลทางดิจิทัลสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐ (Digital Government ID) และการลงลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับหน่วยงานภาครัฐและความปลอดภัยของข้อมูล และวางแผนจะขยายผลการให้บริการระบบบริหารจัดการภาครัฐไปยังหน่วยงานระดับท้องถิ่นในอนาคต อีกทั้ง สพร. อยู่ระหว่างการร่วมมือกับพันธมิตรเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการใบแสดงผลการศึกษาดิจิทัล (Digital Transcript) เพื่อตอบโจทย์สำคัญในการลดการเรียกสำเนาเอกสารจากประชาชน ด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ซึ่งจะสามารถประหยัดเงินรวม 378,735,024 บาท/ปี ลดการใช้กระดาษรวม 4,029,096 แผ่น/ปี และลดการใช้ซองเอกสารรวม 2,686,064 แผ่น/ปี โดยระยะแรกจะเริ่มต้นจากการให้หน่วยงานของรัฐรับเอกสาร ใบแสดงผลการศึกษาแบบดิจิทัล (Digital Transcript) ในรูปแบบไฟล์ PDF/A-3 ที่มี Digital Signature Certificate ที่สามารถป้องกันการปลอมแปลงเอกสารได้ตามมาตรฐานที่ สพธอ. และ สพร. กำหนด แทนเอกสารใบแสดงผลการศึกษารูปแบบกระดาษ โดยให้ถือเป็นเอกสารหลักฐานทางราชการ และขยายผลไปยังเอกสารทางการศึกษาอื่น ๆ เพื่อรองรับการเป็นรัฐบาลดิจิทัล ให้บริการผ่านทางออนไลน์ตามแบบวิถีชีวิตใหม่ (new normal) และขยายผลการให้บริการ ใบแสดงผลการศึกษา ในรูปแบบดิจิทัล ไปยังโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และสถาบันการศึกษาทั้งรัฐและเอกชน ให้สามารถรับและออกเอกสารในรูปแบบดิจิทัลได้ ซึ่งเป็นการขยายผลและดำเนินงานตามนโยบายการยกเลิกเรียกสำเนาเอกสารทางราชการจากประชาชนให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น