TDGA ร่วมกับ มหาวิทยาลัยรังสิต จัดโครงการนำร่องฝึกอบรมหลักสูตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์สำหรับผู้ปฏิบัติงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข


15 March 2564
377

สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สพร. หรือ DGA โดย สถาบันพัฒนาบุคลากรภาครัฐด้านดิจิทัล หรือ TDGA ร่วมกับ มหาวิทยาลัยรังสิต จัด “โครงการนำร่องฝึกอบรมหลักสูตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์สำหรับผู้ปฏิบัติงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข” โดย ดร. สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล และ ดร.อรรถวิท อุไรรัตน์ รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวให้การต้อนรับภายในงานแก่ผู้เข้าร่วมอบรม คณาจารย์ และคณะผู้บริหาร DGA นางไอรดา เหลืองวิไล รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ดร. ศุภวรรณ ธาราโภคากุล ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาบุคลากรภาครัฐด้านดิจิทัล ในวันที่ 15 มีนาคม 2564 ณ มหาวิทยาลัยรังสิต

ทั้งนี้เพื่อมุ่งส่งเสริมให้บุคลากรผู้ปฏิบัติงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐที่มีระบบสารสนเทศขนาดใหญ่และมีข้อมูลของประชาชนและบุคลากรจำนวนมาก ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ สามารถป้องกันภัยคุกคามไซเบอร์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างถูกต้องและทันท่วงที และมีแนวทางการดำเนินงานที่ถูกต้องเหมาะสมเมื่อเกิดภัยคุกคามทางไซเบอร์ตามมาตรฐานสากล

ดร. สุพจน์ เธียรวุฒิ กล่าวว่า โครงการนำร่องฝึกอบรมหลักสูตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์สำหรับผู้ปฏิบัติงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขในครั้งนี้ ด้วยทาง สพร. เล็งเห็นว่า มหาวิทยาลัยรังสิต มีคณาจารย์ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม โดยเฉพาะความเชี่ยวชาญเรื่อง Cybersecurity และเป็นสถาบันที่มุ่งเน้นการเรียนการสอนที่ครอบคลุมทั้งทฤษฎีและการปฏิบัติจริง ซึ่งผู้เรียนหรือผู้ผ่านการอบรมสามารถนำความรู้ที่ได้รับไป

ประยุกต์ใช้ในการพัฒนาหน่วยงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ DGA จึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสร่วมเป็นพันธมิตรกับมหาวิทยาลัยรังสิตในครั้งนี้ เพื่อที่จะได้ร่วมกันผลักดันให้เกิดการพัฒนาบุคลากรภาครัฐด้านดิจิทัลอย่างมีคุณภาพและทั่วถึง

สำหรับการฝึกอบรมในหลักสูตรความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์นี้ สืบเนื่องจากปัจจุบันการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่พัฒนาอย่างรวดเร็วส่งผลให้เกิดการพัฒนาทั้งทางเศรษฐกิจ และสังคมอย่างก้าวกระโดด และเป็นผลลัพธ์มาจากการพัฒนาแอปพลิเคชันและซอฟแวร์ที่มีประสิทธิภาพสูง ทำให้ผู้ใช้งานทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูลและบริการได้สะดวกและรวดเร็ว หน่วยงานของรัฐทุกระดับต่างตระหนักถึงศักยภาพของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารหรือเทคโนโลยีดิจิทัลและได้พยายามใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเหล่านี้ในการยกระดับการทำงานและการให้บริการประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารจะมีประโยชน์สำหรับการปฏิบัติงานของหน่วยงานของรัฐในหลากหลายมิติ แต่ในขณะเดียวกันหน่วยงานของรัฐกลับต้องเผชิญกับภัยคุกคามไซเบอร์ (Cyber Threat) มากขึ้นอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ภัยคุกคามเหล่านี้เป็นภัยคุกคามใหม่ที่มีศักยภาพสูงในการสร้างความเสียหายให้แก่หน่วยงานของรัฐทั้งในระดับบุคคล ระดับหน่วยงาน และระดับประเทศ รวมทั้งสร้างความเสียหายต่อประชาชนผู้รับบริการอีกด้วย ดังนั้นหน่วยงานของรัฐจึงจำเป็นต้องเร่งเตรียม

ความพร้อมในทุกมิติเพื่อรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการพัฒนาบุคลากรของหน่วยงานของรัฐให้มีศักยภาพเพียงพอในการรับมือภัยคุกคามไซเบอร์ได้ซึ่งถือเป็นการวางรากฐานที่สำคัญยิ่งในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cyber Security)

DGA โดยสถาบันพัฒนาบุคลากรภาครัฐด้านดิจิทัล (TDGA) ซึ่งมีภารกิจหลักในการส่งเสริม สนับสนุน ให้บริการวิชาการ และพัฒนาทักษะความรู้ความสามารถด้านดิจิทัลให้แก่บุคลากรภาครัฐ จึงเล็งเห็นประเด็นความสำคัญในการพัฒนาบุคลากรผู้ปฏิบัติงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐที่มีระบบสารสนเทศขนาดใหญ่และมีข้อมูลของประชาชนและบุคลากรจำนวนมาก โดยมุ่งหวังให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ สามารถป้องกันภัยคุกคามไซเบอร์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างถูกต้องและทันท่วงที และมีแนวทางการดำเนินงานที่ถูกต้องเหมาะสมเมื่อเกิดภัยคุกคามทางไซเบอร์ตามมาตรฐานสากล รวมทั้งเพื่อผู้เข้ารับการอบรมมีความรู้และความเข้าใจด้านกฎหมายดิจิทัลที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ เพื่อให้ทุกท่านได้มั่นใจว่าจะปฏิบัติหน้าที่งานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศภาครัฐได้อย่างมั่นใจ

โดยหลักสูตรดังกล่าว เป็นโครงการนำร่อง ของสถาบันพัฒนาบุคลากรภาครัฐด้านดิจิทัล ซึ่งจะได้นำผลการฝึกอบรมดังกล่าว มาพัฒนาเพื่อให้เป็นหลักสูตรที่ทันสมัยและพร้อมสำหรับการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ต่อไป