DGA MOU 3 หน่วยงาน สสส. สวน. และกทม. เดินหน้าพัฒนาคุณภาพชีวิตยุคดิจิทัลไลฟ์ ในโครงการพัฒนาด้านการบริหารงานแบบใช้ร่วมกันขององค์กร ต้นแบบบริการร่วมการพัฒนาคุณภาพชีวิต เด็ก เยาวชน และครอบครัวด้วยดิจิทัล (Seamless Shared Service)


25 January 2564
430

สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สพร. หรือ DGA กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนานโยบาย (สวน.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.) ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การพัฒนาต้นแบบบริการร่วมระหว่างหน่วยบริการพัฒนาคุณภาพชีวิต เด็ก เยาวชน และครอบครัวด้วยดิจิทัล (Seamless Transaction Services)” ซึ่งในปีแรกนี้ เป็นชานชาลา/แพลตฟอร์มการเรียนรู้ร่วมและส่งต่อบริการร่วมกันของ 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มผู้ให้บริการจาก ศบส. 45 ร่มเกล้า คุณครูจากศูนย์เด็กเล็ก และโรงเรียน กลุ่มผู้รับบริการที่เป็นเด็กเยาวชนและครอบครัว และคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับเขต คณะกรรมการคุ้มครองเด็ก ที่เป็นกลไกร่วมจัดการบริการ ซึ่งจะพัฒนาเป็นต้นแบบนวัตกรรมระบบดิจิทัลที่เป็นจริงได้ของเขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร และทดสอบการขยายผลในพื้นที่อื่นๆ ของกรุงเทพมหานคร เพื่อเดินหน้าโครงการต้นแบบพัฒนาคุณภาพชีวิตยุคดิจิทัลไลฟ์ เมื่อวันที่ 23 กันยายน พ.ศ.2563 ณ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร

ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล กล่าวว่า DGA ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของคุณภาพชีวิตของประชาชนเป็นสำคัญมาโดยตลอด จึงมีความยินดีที่ได้มีความร่วมมือกับหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญทางด้านเด็กและเยาวชน ทั้งกรุงเทพมหานคร กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนานโยบาย เพื่อร่วมกันพัฒนาประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ให้เป็นต้นแบบบริการทางสังคมในด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต เด็ก เยาวชนและครอบครัวที่ครอบคลุมและต่อเนื่อง รวมทั้งพร้อมที่จะร่วมพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน และแก้ไขปัญหาข้อมูลที่มีปริมาณมหาศาลที่หลากหลายและซับซ้อน อีกทั้งถูกจัดเก็บอยู่ในหลายหน่วยงานโดยมีมาตรฐานการจัดเก็บข้อมูลที่ต่างกัน และมีกฎระเบียบที่ไม่เอื้อต่อการบูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงานในเชิงปฏิบัติ ซึ่งส่งผลให้ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงต้องคำนึงถึงเงื่อนไขด้านความมั่นคงปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของข้อมูล

นอกจากนี้ ยังขาดมาตรฐานการจัดเก็บข้อมูลเด็ก เยาวชนและแนวทางการใช้ฐานข้อมูลเฉพาะครอบครัว ผู้ปกครอง สำหรับใช้วางแผนชีวิตของเด็กและเยาวชนโดยครอบครัว เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาฐานข้อมูลเฉพาะบุคคล จึงจำเป็นต้องเพิ่มบริการการเชื่อมโยงข้อมูล ให้เพียงพอต่อการพัฒนาภาครัฐสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล อันจะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่เด็ก เยาวชนและครอบครัว ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศ ดังนั้นการออกแบบในการจัดวางบริการแบบ Shared-Service ก็คือการทำให้เกิดการใช้ประโยชน์ร่วมกันจากทรัพยากรเทคโนโลยี และการเชื่อมโยงข้อมูลดิจิทัลของหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และต่อยอดขยายเป็น Open Data กับทาง กทม. และ หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิ์ของเด็กและเยาวชน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับภาครัฐ (GovTech) ไปสู่ความเป็นรัฐบาลดิจิทัลต่อไป”

นพ.ชวินทร์ ศิรินาค ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กทม.มีโรงเรียนในสังกัด 300 แห่ง มีนักเรียนกว่า 2 แสนคน มีศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนสังกัด กทม.ใน 50 เขต 298 ศูนย์ มีเด็ก 25,975 คน มีเด็กและเยาวชนที่อยู่ในครอบครัวที่เปราะบางในพื้นที่จำนวนมาก รายงานผลการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในเขตกรุงเทพฯ จากผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติร่วมกับองค์การยูนิเซฟ  พบว่า เกือบ 1 ใน 6 (ร้อยละ 15.8) ของเด็กอายุ 0-17 ปี ไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อและแม่ ในชุมชนของกรุงเทพฯมีเด็กที่กำพร้าพ่อหรือแม่ หรือทั้งพ่อและแม่ ร้อยละ 3.6 และร้อยละ 0.4 ที่พ่อหรือแม่อย่างน้อย 1 คนอาศัยอยู่ต่างประเทศ และเด็กอายุ 1-14 ปี ในชุมชนของกรุงเทพฯ ร้อยละ 73.1 ถูกอบรมด้วยการทำร้ายจิตใจหรือร่างกายในช่วง 1 เดือนก่อนการสำรวจ

 ดังนั้น ต้นแบบบริการไร้ตะเข็บด้วยนวัตกรรมดิจิทัล จึงเป็นการพลิกโฉมบริการที่เคยแยกส่วนกันให้เกิดเป็นองค์รวม สามารถดูแลต่อเนื่องตลอดช่วงวัย ตั้งแต่ฝากครรภ์ เด็กแรกเกิด เข้าสู่ศูนย์เด็กเล็ก เด็กอนุบาล เด็กและเยาวชนในวัยเรียน จนถึงวัยรุ่น  อันเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพตามวิสัยทัศน์ยุทธศาสตร์ประเทศไทย 20 ปี  และตามวิสัยทัศน์“มหานครสุขภาพดี ทุกชีวีแข็งแรง”

นางสาวณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. กล่าวว่า โครงการนี้มุ่งพัฒนาต้นแบบระบบการบริหารงานแบบใช้ร่วมกันของหน่วยงานที่ทำหน้าที่จัดบริการ (Shared Service) ทางสังคม สุขภาพ เศรษฐกิจ และการคุ้มครองสิทธิ์เด็ก เยาวชน และครอบครัวเปราะบาง นับเป็นการทำงานเชิงรุก กับเหตุปัจจัยต้นน้ำก่อนที่เด็กและเยาวชนจะเกิดปัญหาหรือวิกฤตในชีวิต ในขณะเดียวกันก็มีระบบดูแลช่วยเหลือส่งต่อเด็กและเยาวชนที่ตกอยู่ในภาวะวิกฤตด้วย ที่ผ่านมา สสส. ได้ดำเนินโครงการพัฒนารูปแบบการดูแลเด็กปฐมวัยในศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนของ กทม. 3 แห่ง คือ ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนชุมชนวัดสวัสดิ์วารีสีมาราม ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนชุมชนแป้นรักษา และ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กพิทักษา โดยสนับสนุนการพัฒนารูปแบบการดูแลเด็กปฐมวัยของศูนย์ฯ เครื่องมือสำหรับพัฒนาคุณภาพศูนย์ฯ และพัฒนาสมรรถนะอาสาสมัครผู้ดูแลเด็ก ดังนั้น คาดหวังว่าผลงานนี้จะช่วยอุดช่องว่างการทำงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเด็ก เยาวชน และครอบครัว เพราะมุ่งให้ทุกฝ่ายทำงานบนข้อมูลชุดเดียวกันของผู้ใช้บริการแบบไร้รอยต่อ

  นายธรรมรักษ์ การพิศิษฏ์ ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนานโยบาย (สวน.) กล่าวว่า ต้นแบบนี้ใช้เป็นพื้นที่เสริมศักยภาพการเรียนรู้ (Empower) ผู้รับบริการ ผู้ให้บริการ และกลไกคณะกรรมการคุณภาพชีวิตระดับเขต (พชข.) และคณะกรรมการคุ้มครองเด็ก ให้มีความมุ่งมั่นในการเปลี่ยนผ่านระบบงานแบบดั้งเดิม ไปสู่ระบบงานแบบดิจิทัล เพื่อให้ ร่วมวางแผนขับเคลื่อน (Governance)