DGA จับมือ องค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี MOU ร่วมกับ 11 หน่วยงาน ผนึกกำลังเดินหน้า “โครงการ สมาร์ทชลบุรี ท้องถิ่นดิจิทัล” ยกระดับการบริหารจัดการท้องถิ่นสู่ระบบดิจิทัล เพื่อเปลี่ยนโฉมกระบวนการทำงานบริการประชาชน และภาคธุรกิจในท้องถิ่นให้ได้รับความสะดวก รวดเร็ว และโปร่งใส สู่การเป็น “ท้องถิ่น ดิจิทัลต้นแบบ”
สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สพร. หรือ DGA ร่วมกับ องค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับอีก 11 หน่วยงานได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ (ชลบุรี) วิทยาลัยเทคโนโลยีภาคตะวันออก (อี.เทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ สมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย สมาคมสมองกลฝังตัวไทย และสมาคมเมกเกอร์ประเทศไทย ใน “โครงการ สมาร์ทชลบุรี” เพื่อร่วมกันผลักดันให้เกิดการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาปรับกระบวนการทำงาน ในการให้บริการประชาชน และการบริหารงานหน่วยงานในท้องถิ่น ตลอดจนการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้วิเคราะห์ข้อมูลของหน่วยงานรัฐเพื่อส่งเสริมภาคบริการประชาชน และส่วนธุรกิจ ตลอดจนด้านการศึกษา วิจัย และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องโดยได้รับเกียรติจาก นายวิทยา คุณปลื้ม นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี กล่าวให้การต้อนรับพร้อมร่วมลงนาม เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2563 ณ องค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี จังหวัดชลบุรี
ทั้งนี้ นายวิทยา คุณปลื้ม นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของโครงการความร่วมมือในครั้งนี้ว่า “โครงการ สมาร์ทชลบุรี” นี้เป็นการผนึกกำลังร่วมกันระหว่าง องค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรีกับ 12 หน่วยงาน ที่มุ่งสร้างเครือข่ายความร่วมมือเพื่อศึกษาการนำเทคโนโลยีดิจิทัล และนวัตกรรมด้านเทคโนโลยี มาเพื่อพัฒนาทางด้านการศึกษางานวิจัยต่าง ๆ อาทิ ด้านปัญญาประดิษฐ์ ด้านการเกษตร ประมง ปศุสัตว์ และการแปรรูปผลผลิต ด้านพลังงานทางเลือก ด้านคมนาคมการจราจรและการขนส่ง ด้านการแพทย์และการแจ้งเหตุฉุกเฉิน ด้านการมีส่วนร่วมและการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน และด้านการพัฒนาบุคลากรของโรงเรียนและกระบวนการทำงานของหน่วยราชการส่วนท้องถิ่น รวมถึงการจัดให้มีเวทีการแข่งขันผลงานในระดับภูมิภาคและระดับชาติ ทั้งนี้เพื่อเป็น“ท้องถิ่นดิจิทัล” ต้นแบบต่อไป
นายณัฐวัชร์ วรนพกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล กล่าวเสริมว่า ด้วยบทบาทที่สำคัญของ DGA เป็นหน่วยงานกลางของระบบรัฐบาลดิจิทัล ทำหน้าที่ให้บริการส่งเสริม และสนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐ และหน่วยงานอื่นเกี่ยวกับการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล จากความร่วมมือในครั้งนี้เพื่อมุ่งเป้าการสร้างเครือข่ายศึกษา วิจัย สร้างนวัตกรรม และส่งเสริมสนับสนุนงานวิชาการ งานวิจัย และนวัตกรรมในการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล
ทั้งนี้ DGA จะผสานความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่ เพื่อพัฒนาและผลักดันการสร้างโอกาสทางการศึกษา รวมถึงในภาคธุรกิจให้สามารถนำความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลไปต่อยอดได้ เช่น การนำเทคโนโลยีไปใช้ด้านการเกษตรเพื่อยกระดับคุณภาพผลผลิตให้เพิ่มมากขึ้น การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในผลิตภัณฑ์ชุมชน (OTOP) และการกระจายรายได้ของวิสาหกิจชุมชน การถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาฝีมือแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการแรงงานในแต่ละภูมิภาคได้
ภายใต้นโยบายของการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลในระดับท้องถิ่นที่มุ่งขยายผลสำเร็จของต้นแบบ และเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเทคโนโลยีดิจิทัลผ่านศูนย์เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลภาครัฐ (DGTi) ไปสู่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศต่อไป