DGA ร่วมพิธีลงนามกฎบัตรภาคีปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (Thai AI Consortium) พิธีเปิดโครงการ Super AI Engineer และพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการจัดการองค์ความรู้ดิจิทัลการรับรองและพัฒนาทักษะด้านปัญญาประดิษฐ์ของประเทศ (AI Academy Alliance)
ดร. สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล, คุณณพิชญา เทพรอด ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล เข้าร่วมพิธีลงนามกฎบัตรภาคีปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (Thai AI Consortium) และร่วมเปิดโครงการ Super AI Engineer พร้อมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการจัดการองค์ความรู้ดิจิทัลการรับรองและพัฒนาทักษะด้านปัญญาประดิษฐ์ของประเทศ (AI Academy Alliance) พร้อมร่วมเสวนา เรื่องการผลักดันปัญญาประดิษฐ์ด้วย AI as a Service Platform เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2563 ณ โรงละคอนแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ปทุมธานี โดยภายในงานเป็นการรวมตัวแสดงศักยภาพของประเทศไทยที่พร้อมจะขับเคลื่อนไปสู่สังคมปัญญาประดิษฐ์ ที่เกิดจากองค์กรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา กว่า 60 องค์กร และนับเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างระบบนิเวศ (ecosystem) ทางปัญญาประดิษฐ์ของประเทศไทย
สำหรับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือ เอไอ (AI) ถือเป็นหัวใจหลักเรื่องหนึ่งในการพัฒนาประเทศ ทั้งในด้านการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ประกอบกับมีความต้องการเทคโนโลยีนี้ มาประยุกต์ใช้ในหลากหลายสาขาวิชาโดยเฉพาะอย่างยิ่งการประยุกต์ใช้ในบริบทของประเทศไทย แต่เนื่องจากปัญญาประดิษฐ์เป็นเทคโนโลยีใหม่ ประเทศไทยยังขาดผู้เชี่ยวชาญที่จะมารองรับความต้องการทั้งในภาคเอกชน ภาครัฐ และภาคการศึกษา การพัฒนาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขานี้จะใช้เวลานาน ส่งผลให้ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องลงทุนกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในมูลค่าที่สูง และทำให้การพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เกิดในวงจำกัดทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ดังนั้นจึงเกิดแนวความคิดที่จะรวบรวมผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ และผู้ที่มีแรงบันดาลใจ มีความตั้งใจพัฒนาตนเอง มาพบปะ แลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคโนโลยีนี้ร่วมกัน และสร้างชุมชนปัญญาประดิษฐ์ (AI Community) โดยมีจุดมุ่งหมายให้เกิดผลงานเป็นรูปธรรม ในทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา อันก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศ
ความร่วมมือก่อตั้งกฎบัตรภาคีปัญญาประดิษฐ์ไทยในครั้งนี้ เป็นข้อตกลงหรือบรรทัดฐานในความร่วมมือของสมาชิกหรือชุมชนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือการพัฒนาแพลตฟอร์มกลางสำหรับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์พร้อมใช้ในประเทศไทย และพัฒนานักปัญญาประดิษฐ์ในสาขาวิชาต่างๆ ให้ทำงานได้จริง เพื่อก่อให้เกิดคุณูปการต่อประเทศทั้งในแง่การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน การลดค่าใช้จ่าย การยกระดับคุณภาพชีวิต และการเพิ่มศักยภาพด้านผลผลิต (productivity) ของประเทศ
การรวมตัวครั้งนี้แสดงถึงศักยภาพของประเทศไทยที่พร้อมจะขับเคลื่อนไปสู่สังคมปัญญาประดิษฐ์ ที่เกิดจากองค์กรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา กว่า 60 องค์กร และเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างระบบนิเวศ (ecosystem) ทางปัญญาประดิษฐ์ของประเทศ โดยมุ่งหวังที่จะ (1) ประยุกต์ปัญญาประดิษฐ์ในบริบทของประเทศไทย (2) ผลักดันการยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตและบริการด้วยปัญญาประดิษฐ์ (3) เป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยน การให้คำแนะนำ การตรวจสอบ การรับรองเครือข่ายชุมชนปัญญาประดิษฐ์บนฐานการทำงานที่มีคุณภาพระดับสากล และ (4) แสวงหาโอกาสในการขยายเครือข่ายไปยังภูมิภาคอื่นๆ ต่อไปในอนาคต
สำหรับโครงการสุดยอดวิศวกรปัญญาประดิษฐ์ (Super AI Engineer) นั้น ปัจจุบันมีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 2,059 คน ซึ่งเป็นทั้งนิสิต นักศึกษา พนักงานบริษัท ผู้ประกอบการอิสระ รวมถึง ผู้ก่อตั้งวิสาหกิจเริ่มต้น โดยทางสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (Artificial Intelligence Association of Thailand: AIAT) และสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับอนุมัติทุนสนับสนุนจากหน่วยบริหารจัดการทุน ด้านการพัฒนากําลังคน การพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัย และการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ให้ดำเนินงาน “โครงการพัฒนานวัตกร/วิศวกร/นักวิจัย/วิสาหกิจเริ่มต้น ด้านปัญญาประดิษฐ์” หรือ เรียกสั้นๆ ว่า “สุดยอดวิศวกรปัญญาประดิษฐ์ (Super AI Engineer)” นี้ อนึ่งโครงการนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะพัฒนาบุคลากรด้านปัญญาประดิษฐ์เพื่อขับเคลื่อนประเทศในอนาคต ทางสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย ร่วมกับ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร ได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายสมาชิกสมาคมจากองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชนกว่า 60 องค์กร
สำหรับความร่วมมือการจัดการองค์ความรู้ดิจิทัล การรับรองและพัฒนาทักษะ ด้านปัญญาประดิษฐ์ของประเทศ หรือ เรียกสั้น ๆ ว่า พันธมิตรวิทยาสถานด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI Academy Alliance) นั้น สมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย, สถาบันพัฒนาบุคลากรแห่งอนาคต และ เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ, บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) โดย สถาบันวิชาการทีโอที, และ สมาคมโปรแกรมเมอร์ไทย ได้มีความร่วมมือกันสร้างมาตรฐานหลักสูตรการอบรมทางด้านปัญญาประดิษฐ์เพื่อบุคลากรของชาติ สร้างทรัพยากรการเรียนรู้ด้านปัญญาประดิษฐ์ และดำเนินกิจกรรมการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านปัญญาประดิษฐ์ร่วมกัน
คลิกเพื่อชมวีดิโอ 👇