DGA จัดงาน LIVE การประชุมรับฟังความคิดเห็น (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลในหัวข้อ มาตรฐานและหลักเกณฑ์การจัดทำกระบวนการและการดำเนินงานทางดิจิทัล ว่าด้วย เรื่องการใช้ดิจิทัลไอดีสำหรับบริการภาครัฐสำหรับบุคคลธรรมดาที่มีสัญชาติไทย ฉบับ Committee Draft for Vote (CDV)


31 August 2563
528

ปัจจุบัน หน่วยงานภาครัฐเพิ่มช่องทางอำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการภาครัฐผ่านออนไลน์ได้หลากหลายบริการมากขึ้น เพื่อรองรับกับวิถีชีวิตใหม่ โดยก่อนที่จะเข้าถึงบริการออนไลน์ ประชาชนต้องทำการพิสูจน์และยืนยันตัวตนเพื่อเข้าใช้บริการก่อน ซึ่งการที่หน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงานมีการจัดทำขั้นตอน และวิธีการพิสูจน์และยืนยันตัวตน เป็นมาตรฐานเดียวกัน ทำให้ประชาชนเข้าใจและตอบรับการเปลี่ยนแปลงได้ง่ายขึ้น ช่วยให้เกิดการนำเทคโนโลยีมาใช้งานอย่างเหมาะสม มีความมั่นคงปลอดภัยในการดูแลข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชน สร้างความมั่นใจและทำให้ประชาชนติดต่อกับภาครัฐทางออนไลน์ได้สะดวกยิ่งขึ้น

ดังนั้น หน่วยงานรัฐจึงจำเป็นที่จะต้องมีมาตรฐานการพิสูจน์และยืนยันตัวตนสำหรับบริการภาครัฐ มีรายละเอียดตามเอกสารที่ได้จัดทำขึ้น โดย คณะกรรมการจัดทำร่างมาตรฐาน ข้อกำหนด และหลักเกณฑ์ ภายใต้พระราชบัญญัติการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562

ทางสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สพร. หรือ DGA จึงได้จัดงาน Live ผ่านช่องทาง Facebook และ Youtube ภายใต้ชื่อ DGA Thailand หัวข้อการประชุมรับฟังความคิดเห็น (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลในหัวข้อ มาตรฐานและหลักเกณฑ์การจัดทำกระบวนการและการดำเนินงานทางดิจิทัล ว่าด้วย เรื่องการใช้ดิจิทัลไอดีสำหรับบริการภาครัฐสำหรับบุคคลธรรมดาที่มีสัญชาติไทย ฉบับ Committee Draft for Vote (CDV) เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา

โดย ดร. สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการประชุม พร้อมนำเสนอเรื่อง “ความสำคัญของ Digitalization ที่นำไปสู่ Digital Government" และ เรื่อง “DGA กับการพัฒนาระบบ Digital ID”

ทั้งนี้ ดร. สุพจน์ ได้กล่าวในการเปิดการประชุมว่า "เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนภาครัฐสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล สพร. มียุทธศาสตร์หลักในการขับเคลื่อนประเทศโดยเฉพาะเรื่องของข้อมูลที่ต้องทำให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล รวมถึงการปรับเปลี่ยนกระบวนการหรือยกระดับการทำงานและการให้บริการประชาชน ที่มีการเชื่อมโยงข้อมูลและมีการทำงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐเข้าด้วยกัน ผ่านการพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มสำหรับการให้บริการตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ
เพื่อนำไปสู่รัฐบาลดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบและพลิกโฉมการให้บริการภาครัฐ เปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต
(Life Style) ของประชาชนสู่วิถีปกติใหม่ (New Normal) ที่ประชาชนสามารถเข้าใช้บริการภาครัฐ จากที่ไหนและเมื่อไหร่ก็ได้

ดังนั้นสิ่งแรกที่อยากให้เกิดคือ Digital ID & Signature Common Platform  เพราะ "Digital ID  คือกุญแจสำคัญที่จะเปิดประตูสู่บริการภาครัฐออนไลน์” การใช้ดิจิทัลไอดีสำหรับภาครัฐ ถือเป็นมิติใหม่ในการเข้าสู่บริการต่าง ๆ ของภาครัฐ ทำให้ประชาชนสามารถใช้ดิจิทัลไอดีเพื่อเข้ารับบริการได้หลากหลายเพียงใช้แค่ไอดีเดียว ดังนั้นจึงต้องมีการพัฒนาระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลที่น่าเชื่อถือ มีความมั่นคงปลอดภัยและรักษาข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้บริการ รวมถึงมีการบริหารจัดการข้อมูลอย่างมีธรรมาภิบาล เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการเข้ารับบริการภาครัฐผ่านทางออนไลน์ได้ดียิ่งขึ้น ทั้งหมดทั้งมวลนี้จะเกิดขึ้นได้ต้องมีการกำหนดมาตรฐาน เพื่อให้การดำเนินการดิจิทัลไอดีสำหรับบริการภาครัฐเป็นมาตรฐานเดียวกัน

สำหรับการจัดงานรับฟังความคิดเห็นในวันนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทุกท่านได้รับทราบมาตรฐานและหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการใช้ดิจิทัลไอดีสำหรับบริการภาครัฐที่ได้จัดทำขึ้น เพื่อให้ทุกท่านได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นผ่านช่องทางต่างๆ ที่ได้มีประชาสัมพันธ์ไว้"

สำหรับในช่วงเสวนาได้เสนอในหัวข้อ “เหตุใดภาครัฐจําเป็นต้องมีDigital ID สําหรับบริการภาครัฐ” โดยมี ดร. สุพจน์ เธียรวุฒิผู้อํานวยการสํานักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ผศ. ดร. ภุชงค์ อุทโยภาศประธานกรรมการคณะกรรมการจัดทําร่างมาตรฐานข้อกําหนด และหลักเกณฑ์ ภายใต้พระราชบัญญัติการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 นายสุชาติ ธานีรัตน์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการบริหารงานทะเบียน สํานักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง และ นายศักดิ์ณรงค์ แสงสง่าพงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

ต่อเนื่องด้วยการนําเสนอเรื่อง “มาตรฐานและหลักเกณฑ์การจัดทํากระบวนการและการดําเนินงานทางดิจิทัล ว่าด้วย เรื่องการใช้ดิจิทัลไอดีสําหรับบริการภาครัฐ สําหรับบุคคลธรรมดาที่มีสัญชาติไทย” (แนะนําร่างประกาศและแนวทางทั้ง 3 ฉบับ) โดย นายวิบูลย์ ภัทรพิบูล รองผู้อํานวยการสํานักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ดร. อุรัชฎา เกตุพรหม ผู้อํานวยการฝ่ายพัฒนามาตรฐานดิจิทัล และนางสาวอัญชลี โพธิ์อ่อน หัวหน้าทีมมาตรฐานดิจิทัล ฝ่ายพัฒนามาตรฐานดิจิทัล เพื่อให้ข้อมูลและรายละเอียดของร่างมาตรฐานและหลักเกณฑ์ฯ นี้ พร้อมตอบคำถามผ่าน facebook LIVE ที่มีผู้สนใจเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ สพร. หรือ DGA ขอเชิญชวนทุกท่านที่ให้ความสนใจร่วมแสดงความเห็นต่อ (ร่าง) มาตรฐานและหลักเกณฑ์การจัดทำกระบวนการและการดำเนินงานทางดิจิทัล ว่าด้วย เรื่องการใช้ดิจิทัลไอดีสำหรับบริการภาครัฐ สำหรับบุคคลธรรมดาที่มีสัญชาติไทย โดยสามารถตอบแบบแสดงความคิดเห็น กลับมาภายในวันอังคารที่ 15 กันยายน 2563 นี้

รับชม 🛑 LIVE การประชุมรับฟังความคิดเห็นฯ ย้อนหลังคลิก 👇