รองนายกสมคิดเร่ง DGA และ MDES วางกรอบการดำเนินงานเดินหน้าสู่รัฐบาลดิจิทัลภายใน 3 ปี


9 October 2562
1185

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้กำกับดูแลสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สพร. หรือ DGA เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายและทิศทางการดำเนินการเกี่ยวกับการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล โดยมี นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ประธานกรรมการบริหารและคณะผู้บริหาร DGA เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้

ทั้งนี้ รองนายกสมคิด ได้กำชับมอบหมายให้ DGA และ MDES ร่วมกันผลักดันหน่วยงานภาครัฐก้าวไปสู่รัฐบาลดิจิทัลโดยต้องมีแผนและการกำหนดเวลาที่ชัดเจนไปในทิศทางเดียวกัน โดย MDES เน้นภาพใหญ่พัฒนาในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ส่วน DGA ดูเรื่องการส่งเสริมและสนับสนุนหน่วยงานรัฐในการปรับเปลี่ยนสู่รัฐบาลดิจิทัล ตามความเหมาะสมว่า หากหน่วยงานที่มีความพร้อมแล้วก็เข้าไปเสริม หากหน่วยงานที่ยังขาดแคลนบุคลากรก็ต้องไป set up ระบบเพื่อให้ทุกหน่วยงานมุ่งสู่รัฐบาลดิจิทัลไปพร้อมกันได้

ดังนั้น DGA จึงต้องมีการตั้งเป้าว่าจะดำเนินการด้านใดก่อนหลัง เช่น หากมองไปที่การสร้างเศรษฐกิจฐานราก ก็ควรเริ่มที่หน่วยงานธนาคารของรัฐก่อน ทั้งธนาคารกรุงไทย, ธนาคารออมสิน, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร, ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ซึ่งถือเป็นกลุ่มหน่วยงานที่มีข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานของเศรษฐกิจฐานรากค่อนข้างมาก ตัวอย่างโครงการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่ผ่านมา เช่น พร้อมเพย์ ชิมช้อปใช้ และบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นต้น โครงการเหล่านี้ทำให้มีฐานข้อมูลจำนวนมาก หาก DGA เข้าไปเสริมและให้เกิดความเชื่อมโยงของข้อมูล และเซ็ตให้เป็นระบบเดียวกันได้ ก็จะสามารถดีไซน์และให้ความรู้แก่เกษตรกรนำไปปฏิบัติได้จริงด้านการผลิต หรือหากมองเรื่องการค้าขาย กรมพัฒนาธุรกิจการค้าปัจจุบันก็รุดหน้าไปพอสมควรแล้ว หรือด้านการค้าระหว่างประเทศก็มีข้อมูลมากมายที่จะสามารถดีไซน์ระบบได้ว่าจะดำเนินการได้อย่างไร เป็นต้น

เมื่อมีการวางแผนกำหนดทิศทางแล้ว ต่อไปก็ดำเนินการด้านการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ในการมุ่งสู่รัฐบาลดิจิทัลอาจจะกำหนดเป้าหมายและกรอบเวลาว่า ควรจะดำเนินการให้เห็นเป็นรูปธรรมภายใน 3 ปีนี้ เช่นเรื่อง Data ก็ต้องไปช่วยหน่วยงานดีไซน์ด้านข้อมูลและเมื่อจัดการเรื่อง Data แล้วก็ต้องเปิดเป็น Open Data ด้วย ในด้านการขาดแคลนกำลังคน MDES ก็ต้องไปหาทางมาว่าจะให้การสนับสนุน CIO แต่ละหน่วยงานอย่างไร ส่วน DGA ก็มีสถาบันพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัลภาครัฐ (TDGA) อยู่แล้ว ซึ่งแผนการดำเนินงานเหล่านี้จะต้องนำเสนอคณะกรรมการรัฐบาลดิจิทัลโดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานต้นเดือนพ.ย.ที่จะถึงนี้

ด้านนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (MDES) กล่าวว่า ที่ DGA และสำนักงาน ก.พ.ร. ดำเนินงานร่วมกันที่ผ่านมา คือ การเข้าไปปรับให้หน่วยงานราชการมีความพร้อมในเรื่องการทำข้อมูล Big data ไปสู่การสร้างประโยชน์แก่ประชาชนได้เต็มที่ ซึ่งทั้ง 2 หน่วยงานพยายามหาข้อมูลเพื่อเข้าไปปรับทั้งในด้านโครงสร้างและฐานข้อมูลต่างๆ เพื่อไปสู่การนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในอนาคตได้ ในส่วน MDES ก็มีแนวทางเข้าไปช่วยพัฒนา Big Data เช่นกัน แต่กว่าจะถึงวันนั้นการเข้าไปสู่การเป็นศูนย์กลางการบริการภาครัฐเพื่อภาคธุรกิจก็ต้องเริ่มจากการปรับพื้นฐานของหน่วยงานต่างๆ เองเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมในการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ และจากนี้ไปก็จะทำงานร่วมกันทั้งการวางแผนและด้านการพัฒนาบุคลากรต่างๆ ที่ทั้งในเรื่องของการวิเคราะห์ข้อมูลการเข้าไปปรับแผนการบริหารจัดการในองค์กรของภาครัฐ เพื่อให้ภาคประชาชนและเอกชนสามารถเข้าถึงข้อมูลของรัฐในชั้นของความลับที่สามารถเปิดเผยได้ ซึ่งก็จะเป็นแนวทางในการพัฒนาในอนาคตต่อไป

ด้านนางไอรดา เหลืองวิไล รองผู้อำนวยการ รักษาการผู้อำนวยการ DGA กล่าวถึงการดำเนินงานที่ผ่านมาว่า อยากให้มองเรื่องของรัฐบาลดิจิทัลเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งคือ หน่วยงานของรัฐทั้งหมดต้องปรับตัววิธีการทำงาน ปรับเปลี่ยนข้อมูลต่างๆ ให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัลคือ ปรับตัวเองเป็นดิจิทัลก่อน จากนั้นที่ต้องทำคือ ต้องมีแพลตฟอร์มกลางที่เป็นศูนย์กลางในการเข้าถึงข้อมูลและบริการภาครัฐได้จากจุดเดียว หรือ One Stop Service  (OSS) ซึ่งแบ่งเป็น OSS สำหรับประชาชน ตั้งแต่เกิดจนเสียชีวิตจะต้องได้รับข้อมูลหรือติดต่อราชการเรื่องไหนบ้าง จากเดิมต้องไปติดต่อเคาน์เตอร์หรือแยกเข้าระบบแต่ละหน่วยงาน คนละเว็บไซต์ คนละแอปพลิเคชัน จากนี้ไปต้องรวมเป็นช่องทางเดียวหรือ Citizen Portal อีกส่วนคือ OSS สำหรับภาคธุรกิจ ตั้งแต่เปิดกิจการจนปิดกิจการ ต้องติดต่อภาครัฐในเรื่องใด ก็ต้องมีช่องทางการเข้าถึงและขอรับบริการจากจุดเดียว และยืนยันตัวตนด้วยดิจิทัล ID นั่นคือภาพที่จะเห็นว่าระบบจะมีทั้งที่เป็นแพลตฟอร์มกลาง และในส่วนที่แต่ละหน่วยงานไปปรับตัวเองให้เป็นดิจิทัล

ซึ่งปัจจุบันได้เริ่มดำเนินการแล้ว คือ แอปพลิเคชัน CITIZENinfo เป็นเหมือนศูนย์กลางในการติดต่อราชการซึ่งเป็นเสมือนกูเกิ้ลภาครัฐว่า หากต้องการติดต่อราชการแล้วต้องไปที่ไหนแอปก็นำทางไปได้ทันที ทั้งนี้จะมีบริการจากหน่วยงานรัฐเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ ล่าสุดก็สามารถหาร้านค้าถุงเงินที่เข้าร่วมโครงการชิมช้อปใช้ใกล้บ้านได้ โดยสามารถเข้าไปดาวน์โหลดได้ที่ http://bit.ly/2pScz7d