DGA จัดกิจกรรม Special Forum for Government ครั้งที่ 1 “แนวทางการพัฒนาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Digital ID) สำหรับพนักงานและข้าราชการภาครัฐ
เมื่อพระราชบัญญัติการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 มีผลบังคับใช้ วันที่ 22 พฤษภาคม 2562 ตามมาตรา 12 (4) ที่ผ่านมา ตามข้อบัญญัติในการ “จัดให้มีระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล เพื่อประโยชน์ในการอำนวยความสะดวกในการบริการประชาชน ซึ่งมีมาตรฐานและแนวทางที่สอดคล้องกันตามที่คณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลกำหนด”
สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล องค์การมหาชน (สพร.) หรือ DGA จึงได้ดำเนินการจัด กิจกรรม Specialist Forum for Government ครั้งที่ 1 ภายใต้หัวข้อ “แนวทางการพัฒนาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Digital ID) สำหรับพนักงานและข้าราชการภาครัฐ” ขึ้นโดยเชิญผู้เชี่ยวชาญทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเพื่อระดมความคิดเห็น แลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ประกอบการพิจารณาแนวทางการพัฒนาระบบดังกล่าวให้สอดคล้องกับบริบทการทำงานของภาครัฐไทยได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
ทั้งนี้ การพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล หรือ Digital ID นั้นเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญเพื่อใช้ในการยืนยันตัวตน โดยที่ผ่านมาการให้บริการภาครัฐแก่ประชาชนและภาคธุรกิจ หรือการให้บริการของภาคธุรกิจแก่ประชาชนประกอบด้วยขั้นตอนการพิสูจน์และยืนยันตัวตนที่มีความซ้ำซ้อน สิ้นเปลืองทั้งเวลาและทรัพยากร เกิดภาระต่อผู้แสดงตนและผู้มีหน้าที่ในการตรวจสอบความถูกต้องและยืนยันตัวตน
การพิสูจน์ตัวตนที่ผ่านมา มักจะให้ผู้ทำธุรกรรมต้องไปแสดงตนต่อผู้ให้บริการ พร้อมทั้งส่งเอกสารหลักฐานในการพิสูจน์และยืนยันตัวตน ก่อให้เกิดความไม่สะดวก และเกิดภาระต่อผู้ใช้บริการ รัฐบาลได้ตระหนักถึงความสำคัญของการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้กับการให้บริการประชาชนและภาคธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ จึงมีการวางโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในเรื่อง National Digital ID Platform (ระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล) เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้การประกอบธุรกิจและการทำธุรกรรมต่างๆ ในยุคดิจิทัลและ Thailand 4.0 ให้มีความรวดเร็วและมั่นคงปลอดภัยตามมาตรฐานสากล รวมถึงสอดคล้องกับนโยบายโครงการ Doing Business Portal (ระบบอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจแบบครบวงจร) ที่ต้องการยกระดับ Ease of Doing Business Ranking ของประเทศ เพื่อการพัฒนาประเทศเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ โครงการ National Digital ID มุ่งเป้าพัฒนาภาครัฐที่ให้บริการแก่ประชาชนในด้านการประกอบธุรกิจ เพื่อสนับสนุนโครงการการพัฒนาระบบอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจแบบครบวงจร หากแต่การทำงานระหว่างภาครัฐก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน โดยปัจจุบันการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ ยังคงขาดการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลร่วมกันซึ่งส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการทำงาน ดังนั้นหากมีการพัฒนาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Digital ID) สำหรับพนักงานและข้าราชการภาครัฐขึ้น เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้กับเจ้าหน้าที่รัฐในการทำธุรกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐด้วยกัน ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอนการพิสูจน์และยืนยันตัวตนที่มีความซ้ำซ้อนดังกล่าวลงได้ อีกทั้งยังเป็นการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการการทำงานภาครัฐ และการให้บริการแก่ประชาชนได้ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาประเทศ ตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561 – 2580 ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ
ผลจากการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ได้รับการตอบรับจากหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดี ซึ่ง DGA จะมีการจัดกิจกรรม Specialist Forum for Government ขึ้นอีกอย่างต่อเนื่องเพื่อดำเนินงานขับเคลื่อนภายใต้ พระราชบัญญัติการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 ต่อไป