MEGA 2017 เผยโฉมหน้า 2 ทีมนักพัฒนาฯ รุ่นใหม่ คว้าสุดยอดนวัตกรรมช่วยตอบโจทย์ยุคดิจิทัล
MEGA 2017 เผยโฉมหน้า 2 ทีมนักพัฒนาฯ รุ่นใหม่ คว้าสุดยอดนวัตกรรมช่วยตอบโจทย์ยุคดิจิทัล
พลอากาศเอก ดร.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า โครงการประกวดผลงานนวัตกรรมการพัฒนาโมบายโซลูชันภาครัฐ ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประจำปี 2560 หรือ Mobile Enterprise d-Government Awards: MEGA 2017 นี้ ซึ่งเป็นเวทีที่จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดสตาร์ตอัป (Start up) ที่มาจากนักพัฒนาโมบายโซลูชันที่เป็นคนรุ่นใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผลักดันให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์เกิดความคิดและมีทักษะใหม่ๆ ซึ่งผลงานที่ได้รับรางวัลจากการประกวดจะนำไปต่อยอดให้เกิดงานบริการอัจฉริยะภาครัฐเพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุดจากการใช้บริการและใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้นในยุคดิจิทัล
MEGA 2017 เป็นโครงการบ่มเพาะเพื่อสร้างนักพัฒนารุ่นใหม่ให้เกิดขึ้น ภายใต้โจทย์การให้บริการภาครัฐไปสู่ประชาชน ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดหลักของโครงการคือ Data Economy คือ การจัดสรรระบบข้อมูลภาครัฐเพื่อพัฒนาเป็นระบบเศรษฐกิจใหม่ ที่จะขับเคลื่อนทั้งภาครัฐและเอกชนไปด้วยกัน โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากภาครัฐและเอกชนเข้าไปช่วยเป็นพี่เลี้ยงตั้งแต่แนวคิดแรกเริ่ม เพื่อบ่มเพาะและช่วยรวบรวมความคิด (Conceptual Ideas) ให้เกิดแนวคิดเป็นรูปธรรมชัดเจนขึ้น พร้อมทั้งสนับสนุนให้ผู้เข้าแข่งขันได้สั่งสมประสบการณ์จนสามารถก้าวข้ามผ่านไปสู่กระบวนการเริ่มต้นธุรกิจได้
ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ EGA เปิดเผยว่า MEGA 2017 เป็นโครงการที่มีกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา และ นักพัฒนาซอฟต์แวร์อาชีพเข้าร่วมการแข่งขันมากขึ้นทุกปี โดยการแข่งขันครั้งนี้มีผลงานส่งเข้าร่วมประกวดทั้งสิ้นกว่า 367 ทีม 256 ผลงาน แบ่งเป็นประเภทสุดยอดแนวความคิดจำนวน 247 ทีม 173 ผลงาน และประเภทสุดยอดนวัตกรรมจำนวน 120 ทีม 83 ผลงาน
ในปีนี้มีหน่วยงานพันธมิตรคือ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. , สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ DEPA , เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย หรือ ซอฟต์แวร์พาร์ค , ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ NECTEC, บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคทรอนิกส์ (ประเทศไทย) , บริษัท กูเกิ้ล (ประเทศไทย) และ บริษัท จีเอ็มโอ แซดดอทคอม เน็ตดีไซน์
MEGA 2017 ในครั้งนี้
– ผู้ชนะเลิศประเภทสุดยอดนวัตกรรม (รุ่นผู้ประกอบการ) คือ บริษัท ซีคด็อก จำกัด จากผลงาน “แอปพลิเคชันค้นหาแพทย์เฉพาะทางใกล้บ้าน นัดหมายออนไลน์” ได้รางวัลถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีและเงินรางวัล 100,000 บาท
– รองชนะเลิศอันดับ 1 คือ บริษัท ชีวีบริรักษ์ จำกัด จากผลงาน “ChiiwiiLIVE – Chronic Care Management” ซึ่งเป็นระบบการแพทย์ทางไกลสำหรับผู้ป่วยในกลุ่มโรคเรื้อรัง ได้รับเงินรางวัล 70,000 บาท พร้อมโล่เกียรติคุณและประกาศนียบัตร
– รองชนะเลิศอันดับ 2 คือ บริษัท คิว คิว (ประเทศไทย) จำกัด จากผลงาน “QueQ for Government Services & Hospitals” ได้รับเงินรางวัล 50,000 บาท พร้อมโล่เกียรติคุณและประกาศนียบัตร
– และรางวัลชมเชยคือ บริษัท ดิจิค เทคโนโลยี จำกัด จากผลงาน “โครงการพัฒนาแอปพลิเคชันข้อมูลจัดเก็บขยะและระบบบริหารจัดการการจัดเก็บขยะบนแพลตฟอร์มเมืองอัจฉริยะ” ได้รับเงินรางวัล 20,000 บาท พร้อมโล่เกียรติคุณและประกาศนียบัตร
– สำหรับประเภทสุดยอดแนวคิด (รุ่นนักศึกษา) ปีนี้ได้ผลงานชนะเลิศจาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในชื่อ “ว่าง (Wang)” ผลงาน “ตลาดข้อมูล หรือ Data Market” ได้รับเงินรางวัล 100,000 บาท พร้อมโล่เกียรติคุณและประกาศนียบัตร
– รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 คือ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ส่งผลงาน “BlueZones (Find Your Right Health Care)” ได้รับเงินรางวัล 70,000 บาท พร้อมโล่เกียรติคุณและประกาศนียบัตร
– รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 คือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จากผลงาน “Maniac Walk2Cash แอปพลิเคชันเพื่อการส่งเสริมสุขภาพด้วยการเดิน” ได้รับเงินรางวัล 50,000 บาท พร้อมโล่เกียรติคุณและประกาศนียบัตร
– และรางวัลชมเชย จาก มหาวิทยาลัยรังสิตและสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จากผลงาน “Beyond (Remote Monitoring System for Diabetic Patients)” ได้รับเงินรางวัล 20,000 บาท พร้อมโล่เกียรติคุณและประกาศนียบัตร
ส่วนผู้ที่ได้รับรางวัลพิเศษในปีนี้คือ
– รางวัลยอดเยี่ยม หมวดการขนส่งและการเดินทาง จาก บริษัท เวีย กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด จากผลงาน “ViaBus แอปพลิเคชันติดตามและนำทางรถโดยสารแบบเรียลไทม์”
– รางวัลยอดเยี่ยม หมวดการเข้าถึงบริการภาครัฐ บริษัท ซีคด็อก จำกัด ในชื่อผลงาน “ค้นหาแพทย์เฉพาะทางใกล้บ้าน นัดหมายออนไลน์”
– รางวัลยอดเยี่ยม หมวดเมืองน่าอยู่ จากบริษัท เอซีไอ ซอฟต์แวร์ จำกัด ในชื่อผลงาน “Deep Eyes”
– รางวัลยอดเยี่ยม ด้านการออกแบบ (User Interface/ User Experience) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา น่าน ในชื่อผลงาน “Deshario Cloud (Cloud Blood Bank)”
– และรางวัลขวัญใจกรรมการ คือ โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ ลพบุรี ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในชื่อผลงาน “Second การพัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับสถานศึกษา เพื่อใช้ในการติดต่อสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูล”
ซึ่งทุกรางวัลในหมวดพิเศษนี้จะได้รับเงินรางวัล 20,000 บาท พร้อมโล่เกียรติคุณและประกาศนียบัตร
“รางวัลชนะเลิศประเภทสุดยอดนวัตกรรม ผู้ประกอบการในปีนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นประสบการณ์ใหม่ในการพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคได้ตรงกับความต้องการรักษา ไม่ว่าจะอยู่จังหวัดใดในประเทศไทย ด้วยแนวคิดของ บริษัท ซีคด็อก ที่สร้างสรรค์ผลงาน แอปพลิเคชันค้นหาแพทย์เฉพาะทางใกล้บ้าน นัดหมายออนไลน์ โดยมีระบบแจ้งเตือนการนัดหมายด้วย นับเป็นแอปพลิเคชันที่ช่วยดูแลสุขภาพประชาชนที่มีประโยชน์มากๆ ส่วนทางด้านรางวัลชนะเลิศประเภทสุดยอดนวัตกรรม นักศึกษาก็มีไอเดียน่าสนใจเรื่องตลาดข้อมูล ซึ่งเป็นแนวคิดให้เกิดตัวช่วยสำหรับผู้ต้องการข้อมูล เช่น นักวิจัยในวงการการศึกษา นักวิจัยทางการตลาด และบริษัทต่างๆ สามารถเก็บข้อมูลที่ต้องการได้อย่างสะดวก ง่ายดาย ผ่านระบบ Crowdsourcing ซึ่งยังไม่เคยปรากฏมาก่อนในประเทศไทย โดย Wang จะเป็นแพลตฟอร์มที่อยู่ระหว่างบุคคล 2 กลุ่ม ได้แก่ ผู้ที่ต้องการข้อมูล และผู้มีเวลาว่างอยากได้รายได้ ผู้ที่ต้องการข้อมูลเพื่อนํามาใช้ตามต้องการ สามารถนําคําถามที่มีอยู่อัปโหลดขึ้นเว็บไซต์ Wang เพื่อแบ่งงานให้คนบนโลกออนไลน์ช่วยกันตอบได้ ผู้ทีมีเวลาว่าง อาทิ นักเรียน นักศึกษา พนักงานบริษัททัวไป ซึงมีเวลาว่างทีจะสามารถมาตอบคําถามใน Wang ผ่านอินเทอร์เน็ตเพื่อรับเงินค่าตอบแทนได้ ถือเป็นแนวคิดใหม่ที่น่าสนใจมาก” ดร.ศักดิ์กล่าว
สำหรับผลงานของผู้ประกวดในปีนี้สามารถตอบโจทย์ของ EGA ได้อย่างสร้างสรรค์ทีเดียว เห็นได้จากที่เหล่านักพัฒนาซอฟต์แวร์สามารถเชื่อมโยงข้อมูลสำคัญภาครัฐจากหน่วยงานต่างๆ มาพัฒนาเป็นโมบาย โซลูชันใหม่ๆ ได้ เป็นการทำลายขอบเขตเดิมที่หน่วยงานรัฐจะพัฒนาโมบายโซลูชันบนฐานข้อมูลของหน่วยงานตนเองเท่านั้น ซึ่งนักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ดีจะต้องรู้จักการบูรณาการข้อมูลข้ามหน่วยงานเพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาบริการใหม่ๆ ให้กับประชาชน อีกทั้งการร่วมมือกันของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน สถาบันการศึกษา ยังถือเป็นมิติใหม่ที่ดีต่อการพัฒนาต่อยอดบริการดิจิทัลอีกด้วย
********************************
ชมภาพเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/pg/EGAThailand/photos/?tab=album&album_id=1525874560815513