สตาร์ทอัพฟิตจัดลงแข่ง MEGA2017 เพียบ EGA ดึงภาครัฐสร้าง Data Economy เปิดชุดข้อมูลอัตโนมัติรองรับ
สตาร์ทอัพฟิตจัดลงแข่ง MEGA2017 เพียบ EGA ดึงภาครัฐสร้าง Data Economy เปิดชุดข้อมูลอัตโนมัติรองรับ ด้าน NIA เตรียมช้อนผลงานดีต่อยอดเชิงพาณิชย์ พร้อมสร้างแคมป์บ่มเพาะรองรับทีมจากนักศึกษา เผยพร้อมผลักเข้าตลาดได้ทันที
ดร.พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ DE เปิดเผยว่า โครงการประกวดผลงานนวัตกรรมการพัฒนาโมบายโซลูชันภาครัฐ ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประจำปี 2560” หรือ Mobile Enterprise d-Government Awards 2017 : MEGA 2017” เป็นการนำข้อมูลของภาครัฐมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน และช่วยในการตัดสินใจและแก้ไขปัญหาที่มีพลวัตที่รวดเร็วและซับซ้อน โดยการนำฐานข้อมูลภาครัฐที่เข้าถึงการบริการประชาชนทั้งประเทศในทุกภาคส่วนมาใช้ ซึ่งจะทำให้ภาคเอกชนเองสามารถคิดค้นแอปพลิเคชันใหม่ ๆ ได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตามการสร้างโลกของ Open Government Data นั้นหาใช่การที่มีหน่วยงานมากมายนำชุดข้อมูลออกมาเผยแพร่ แต่คือการเร่งสร้าง Ecosystem หรือ สภาพแวดล้อมทั้งระบบของ Open Data นั่นคือทุกหน่วยงานพร้อมเปิดเผยข้อมูล และข้อมูลต้องมีความจำเป็น มีมาตรฐาน สามารถนำไปใช้งานต่อได้ รัฐพร้อมสนับสนุนทั้งในส่วนของกฎระเบียบและงบประมาณ หน่วยงานเอกชนนอกจากแบ่งปันข้อมูลแล้วยังนำข้อมูลไปใช้อย่างบูรณาการและสร้างสรรค์ และจะมีประชาชนจำนวนมากได้ใช้ชุดข้อมูลเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตประจำวันต่อไป
งานหลักของปีนี้คือ การเร่งผลักดันฝั่งใช้งานชุดข้อมูล ตั้งแต่การสร้างแรงจูงใจให้ทั้งภาครัฐและเอกชนสามารถนำชุดข้อมูลไปประยุกต์และบูรณาการเพื่อให้เกิดข้อมูลใหม่ๆ เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมและการพัฒนาผลงาน เช่น การสร้างแอปพลิเคชันรองรับชุดข้อมูลที่มีอยู่ ซึ่งหากวัดกันตามตัวเลขในหลักสากลนั้นในฝั่งผู้ใช้หรือ Demand ควรมีตัวเลขมากกว่าชุดข้อมูลที่มีอยู่ 2 เท่าหรือมากกว่า ดังนั้นการสร้าง Data Economy จึงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะจะทำอย่างไรให้เกิดชุดข้อมูลที่น่าสนใจ ใช้งานได้จริง และเป็นที่นิยมของประชาชน
ไอรดา เหลืองวิไล รองผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ EGA (อีจีเอ) เปิดเผยว่า ในโครงการประกวดผลงานนวัตกรรมการพัฒนาโมบายโซลูชันภาครัฐ ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประจำปี 2560 หรือ Mobile Enterprise d-Government Awards 2017 : MEGA 2017 ได้รับความสนใจจากผู้เข้าแข่งขันกลุ่มสตาร์ทอัพจำนวนมาก โดยขณะนี้มีผู้สมัครและเสนอตัวเข้ารับข้อมูลภาครัฐไปพัฒนาต่อเป็นโมบายแอปพลิเคชันแล้วกว่า 120 ราย ถือเป็นแนวโน้มที่ดีในการเกิดนวัตกรรมการพัฒนาโมบายโซลูชันภาครัฐที่จะให้บริการประชาชนมากขึ้น
โดยภาพรวมของงานในปีนี้จะเป็นการยกระดับแนวคิด Data Economy เพื่อทำให้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในระดับนักพัฒนาโปรแกรม ได้รับรู้ถึงการขับเคลื่อนสังคมใหม่ด้วยชุดข้อมูล โดยภาครัฐจะทำการนำร่องเปิดชุดข้อมูลในระดับ API หรือ ชุดข้อมูลที่นักพัฒนาโปรแกรมทุกระดับสามารถนำไปปลั๊กอิน หรือ เขียนโปรแกรมทับต่อยอดลงไปได้โดยไม่ต้องไปพิมพ์ข้อมูลใหม่ และทันทีที่ข้อมูลต้นทางเกิดการเปลี่ยนแปลงข้อมูลที่ถูกดึงนำไปใช้จะแก้ไขโดยอัตโนมัติ ทำให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์และผู้ใช้งานไม่ต้องเกิดความยุ่งยากในการอัพเดทอีกต่อไป
“ปีนี้ถือเป็นปีแรกที่มีการเปิด API เช่นนี้ ชุดข้อมูลที่เปิดอาจจะยังมีไม่มากนัก แต่ก็ได้รับความสนใจจากนักพัฒนาซอฟต์แวร์จำนวนมาก ซึ่งจะส่งผลดีให้กับนักพัฒนาซอฟต์แวร์เองและหน่วยงานรัฐที่ปล่อยชุดข้อมูล API ออกมาด้วย เพราะจะเกิดซอฟต์แวร์ใหม่ๆ ที่เกี่ยวกับภาครัฐนั้นๆ เกิดขึ้น ส่งผลให้ในปีต่อไปจะมีทั้งหน่วยงานรัฐที่เปิดเผยข้อมูลในระดับนี้มากขึ้น ขณะที่ภาคเอกชนที่จะนำไปใช้ประโยชน์ก็จะมากขึ้นเช่นกัน ทำให้ Data Economy เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมได้ในที่สุด” ไอรดาฯ กล่าว
ในปีนี้นอกจากรางวัลของ MEGA ที่ได้จาก EGA จำนวน 1 แสนบาท พร้อมถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีแล้ว ทางกลุ่มสตาร์ทอัพที่เข้าแข่งขันยังมีสิทธิ์ได้รับเงินทุนสนับสนุนพัฒนาต้นแบบจากทางสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เพื่อนำผลงานเข้าสู่การทำธุรกิจสตาร์ทอัพอีก 1 ล้านบาทอีกด้วย ถือเป็นทุนตั้งต้นในระดับ seed round แบบไม่มีเงื่อนไข ซึ่งจะทำให้ผลงานการเข้าประกวดกลายเป็นแอปพลิเคชันเชิงการค้าได้ทันที
ขณะนี้การแข่งขัน MEGA ในระดับผู้ประกอบการอยู่ระหว่างรอบ Idea Pitching โดยหมวดหมู่ที่แข่งขันมีทั้งหมด 3 หมวดคือ การพัฒนาเมืองและ Eastern Economic Corridor of innovation หรือ EECi คือ การขนส่งและการเดินทาง (Logistic / Transport) เมืองน่าอยู่ (Waste / Safety / Urban / Security / Sanitary) และหมวดสุดท้ายที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในการเลือกเข้าแข่งขันคือ การเข้าถึงบริการภาครัฐ (Public Service Accessibility / Health Tech) ซึ่งทีมทั้งหมดที่ผ่านเข้ารอบ Idea Pitching จะเข้าสู่ Camp สำหรับเสริมความรู้ทางด้านเทคโนโลยีต่างๆ เกี่ยวกับ City Innovation ซึ่งใน Camp จะจัดอบรมและ Workshop เกี่ยวกับ Prototyping & Testing Workshop และเทคโนโลยี เช่น Agile & Lean Development เป็นต้น
สำหรับในกลุ่มนักศึกษามีทีมที่สนใจถึง 200 ทีม โดย EGA ได้สร้างกิจกรรม “แคมป์บ่มเพาะ” (Incubation) รองรับ โดยมีการบ่มเพาะรวมทั้งหมด 3 ครั้ง เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและดึงศักยภาพสูงสุดในตัวผู้เข้าประกวดและทีมงาน ตลอดจนเสริมสร้างความรู้เรื่องเทคโนโลยี เครื่องมือการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่สำคัญ รวมทั้งชี้ให้เห็นแนวโน้มเทคโนโลยีใหม่ๆ ของโลก ตลอดจนบ่มเพาะทักษะทางธุรกิจ เพื่อก้าวสู่กลุ่ม Startup ต่อไป นอกจากนั้นผู้เข้ารอบยังมีโอกาสได้พบกับเจ้าของหน่วยงานภาครัฐที่เลือกนักพัฒนาแอปพลิเคชัน เพื่อรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะโดยตรง อีกทั้งอาจเป็นการต่อยอดธุรกิจต่อไปหลังจบโครงการ
ชมภาพเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/pg/EGAThailand/photos/?tab=album&album_id=1397162253686745