ศักดิ์ เสกขุนทด อีกอฟเวิร์นเมนท์เพื่อมหาชน


16 March 2558
910

ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผอ.คนแรกของสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน)องค์กรใหม่ป้ายแดงกับภารกิจที่เจ้าตัวยอมรับว่าหนักและใหญ่กว่าเดิมมาก

“งานพวกนี้เป็นงานปิดทองหลังพระ เพราะเป็นเรื่องเข้าใจยาก ไม่เหมือน 3จี หรือเทคโนโลยีที่จับต้องได้ง่าย แต่งานอีกอฟเวิร์นเมนท์เป็นเรื่องที่อธิบายยาก ถ้าบอกประชาชนว่าต่อไปบริการภาครัฐไม่ต้องเอาสำเนาเอกสารไป หรือไม่ต้องไปที่หน่วยงานรัฐ แต่ทำผ่านอินเทอร์เน็ตได้เลยก็อาจเข้าใจได้มากกว่า”

เสียง สะท้อนจาก ศักดิ์ เสกขุนทด ดอกเตอร์ผู้อำนวยการคนแรกของสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ที่เพิ่งได้ไฟเขียวจาก ครม.เป็นองค์กรใหม่ป้ายแดงกับภารกิจที่เจ้าตัวยอมรับว่า หนักและใหญ่กว่าเมื่อครั้งมีบทบาทเป็นเพียงสำนักบริการด้านไอทีให้แก่ภาครัฐ มาตลอดระยะเวลากว่า 15 ปี

ในโอกาสนั่งคุยกับ “กรุงเทพไอที” ศักดิ์ ยอมรับว่า ความหนักใจที่สุดของภารกิจครั้งนี้คือ การสร้างความเข้าใจกับหน่วยงานภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นระดับบริหาร, ปฏิบัติการ หรือยูสเซอร์ถึงแผนการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมตลอด 4 ปีข้างหน้าตามวาระการดำรงตำแหน่ง และยังเป็นจังหวะประจวบเหมาะกับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งทั้งไอที และระบบอีกอฟเวิร์นเมนท์จะเป็นกุญแจสำคัญที่ให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันได้

ภารกิจกู้หน้าสารสนเทศภาครัฐ

หลังจากโอนภารกิจของสำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศภาครัฐ (สบทร.) ภายใต้สำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งบุคลากรทั้งหมดเข้ามาสังกัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เป็นองค์การมหาชนอย่างเต็มตัว “สำนักงานอีกอฟฯ” จึงเริ่มถูกคาดหวังว่าจะสามารถสร้างแรงขับเคลื่อนใหม่ๆ ให้หน่วยงานภาครัฐสามารถทำงานได้ดีขึ้น

บทบาทหลักๆ คือ การเป็นหน่วยงานกลางเพื่อขับเคลื่อนอีกอฟเวิร์นเมนท์ของประเทศ ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานปฏิบัติการให้บริการโครงสร้างพื้นฐาน, ที่ปรึกษาหน่วยงานภาครัฐ และยกระดับทักษะของบุคลากรภาครัฐในการใช้ไอที

รวม ทั้ง “กู้หน้าตา” ประเทศด้านการพัฒนาระบบสารสนเทศของภาครัฐ ซึ่งผลการจัดอันดับของสหประชาชาติสำรวจพบว่า อันดับการพัฒนาด้านอีกอฟเวิร์นเมนท์ของประเทศไทยปีล่าสุดหล่นมาอยู่ที่ 76 จากอันดับที่ 64

นโยบายมุ่งพาร์ทเนอร์

เขา บอกว่า แม้จะเป็นองค์กรใหม่ แต่ก็สามารถเริ่มทำงานได้ตั้งแต่วันแรก เนื่องจากเป็นงานที่ทำต่อเนื่องจากเมื่อครั้งเป็น สบทร. ซึ่งทุกโครงการเป็นการพัฒนาอีกอฟเวิร์นเมนท์อยู่แล้ว เช่น เมลไทยภาครัฐ, อี-พอร์ทัล โดยแผนระยะสั้นคือ การเร่งสำรวจสถานภาพอีกอฟเวิร์นเมนท์ของประเทศ พร้อมกับวางแผนระยะกลางเพื่อทำให้เกิดบูรณาการกัน และหน่วยงานภาครัฐต้องสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้ โดยเน้นความร่วมมือกับพันธมิตรหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งการซินเนอร์นี่กับ “สำนักงานอีคอมเมิร์ซ” ซึ่งเป็นองค์การมหาชนที่เกิดมาพร้อมกัน

“ประเทศ อย่างมองโกเลียยังชนะเรา เพราะฉะนั้นการเข้ามาของหน่วยงานนี้คือ ต้องช่วยยกระดับประเทศไทยให้ดีขึ้น แต่ไม่ใช่ว่า อีกอฟเวิร์นเมนท์ เราไม่เคยทำ เพราะมีหลายหน่วยงานที่เริ่มแล้ว เช่น สรรพากร, ศุลกากร หรือกรมการขนส่ง แต่ประเด็นคือ หน่วยงานแบบนี้มีไม่น่าเกิน 20% ของหน่วยงานรัฐทั้งหมด ดังนั้นอีก 80% คือโจทย์ที่เราต้องยกระดับให้ดีขึ้น”

หลักกิโลเมตรความสำเร็จ

อย่างไรก็ตามแม้จะถูกย้ายสังกัดจากกระทรวงวิทย์มาอยู่ใต้ร่มกระทรวงไอซีที แต่ก็ไม่ถือเป็นปัญหาสำหรับผู้อำนวยการกับองค์กรใหม่ถอดด้าม เพราะแม้จะมีกระทรวงไอซีที แต่งานส่วนใหญ่จะดูแลเฉพาะนโยบาย ส่วนสำนักงานถือเป็นหน่วยงานระดับปฏิบัติการ

นอกจากนี้เขา ยังย้ำถึงหลักกิโลเมตรที่แสดงถึงความสำเร็จของหน่วยงานที่วัดได้ง่ายๆ คือ วัดจากประชาชน เช่น กรณีทะเบียนราษฎรของมหาดไทย ปกติใช้เวลาทำบัตรประชาชน 1 วัน ก็จะเหลือ 15 นาที และก็ยังมีอีกหลายงานที่น่าจะทำให้ดีขึ้น เช่น ธุรกรรมภาครัฐที่ต้องใช้สำเนาต่างๆ ที่ควรจะปรับปรุงให้ใช้สมาร์ทการ์ดแทนได้เพื่อลดการใช้กระดาษที่ไม่จำเป็น

ทั้งนี้ หนึ่งในปัจจัยส่งเสริมคือการมีกฎหมายอิเล็กทรอนิกส์ที่ออกมาเป็น 10 ปีแล้วว่าหลักฐานที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์ กับหลักฐานที่เป็นกระดาษมีค่าเท่าเทียมกัน ซึ่งทุกอย่างมีหมดแล้วทั้งกฎหมาย, เทคนิค ส่วนที่เหลือก็คือ การผลักดันให้เกิดการใช้งาน และก็เป็นหนึ่งในภารกิจของสำนักงานอีกอฟเวิร์นเมนท์

“แต่เรา จะไม่ใช่คนทำโดยตรง เราเหมือนเป็นคนปิดทองหลังพระที่เข้าไปสนับสนุน และประสานงานให้เกิดให้ได้ โดยใช้กลไกหลายๆ อย่าง มันไม่ใช่เทคนิคอย่างเดียว แต่มันคือการบริหารจัดการ และประเทศไทยต้องเริ่มมองแล้วว่า ถ้าอีก 4 ปีจะเกิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเราต้องทำอะไรบ้าง เช่น การเทรดดิ้ง และเนชั่นนอล ซิงเกิล วินโดว์ส”

รวมทั้งการยกระดับโครงการ การอีโลจิสติกส์เป็นวาระแห่งชาติ ก็เป็นอีกหนึ่งงานสำคัญ เนื่องจากเรื่องเทรดดิ้งเป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้ามีระบบที่แข่งกับคนอื่นไม่ได้ ก็จะทำให้ประเทศสูญเสียโอกาสจากธุรกิจการส่งออกที่มีมูลค่าเป็นหมื่นๆ แสนๆ ล้านบาท

จุดประกายคลาวด์ภาครัฐ

อีกทั้งเมื่อเป็นองค์การมหาชนแล้ว การหารายได้ไม่ใช่ประเด็นหลัก แต่คือการเข้าไปช่วยหน่วยงานภาครัฐ เน้นการเป็นพาร์ทเนอร์ เพราะปัจจุบันมีงานหลายๆ อย่างที่น่าจะปรับเป็นบริการได้ ประกอบกับตอนนี้มีเทคโนโลยี เช่น คลาวด์ คอมพิวติ้ง ซึ่งผู้ใช้ไม่ต้องลงทุนเอง แต่เช่าใช้บริการ ซึ่งหากรัฐสามารถทำได้ ก็ลดการลงทุนได้ โดยจะเริ่มทดลองโปรเจคคลาวด์สำหรับภาครัฐ ต.ค.นี้

“หนึ่ง ในไมล์สโตนของเราคือ ถ้าภาครัฐสามารถไปถึงจุดที่เช่าใช้ระบบไอทีได้เหมือนระบบสาธารณูปโภคได้นั่น คือ จุดที่จะช่วยให้การดำเนินงานไอทีของหน่วยงานลดลงมาก ไม่ต้องทำเรื่องของบที่ใช้เวลานาน แต่ใช้ระบบที่เป็นเซอร์วิสแทน ช่วยลดค่าเสียโอกาสได้มโหฬารมาก”

ปัดฝุ่น “ดิจิทัล ซิกเนเจอร์”

นอก จากนี้หนึ่งในภารกิจสำคัญที่ ผอ.ใหม่ให้ความสำคัญคือ การฟื้นงานระบบลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือดิจิทัล ซิกเนเจอร์ ที่เขายอมรับว่า ดำเนินการมานานแล้ว แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จเพราะแอพพลิเคชั่นส่วนใหญ่ยังไม่รองรับ แต่ปัจจุบันเริ่มมีความพร้อมทั้งเทคโนโลยี และกฎหมาย

“ดิจิ ทัล ซิกเนเจอร์ เป็นงานที่เหลือแค่ 10 เมตรสุดท้าย เพราะยิ่งระบบซีเคียวมากเท่าไร ความยุ่งยากก็มากขึ้น เช่น จะส่งอีเมลซักฉบับต้องเพิ่มขั้นตอนการใส่รหัส หรือมีขั้นตอนซับซ้อนขึ้น คำถามคือ จะหาจุดไหนที่ลงตัว ที่ยูสเซอร์จะไม่ยุ่งยากมากเกินไป”

กำหนด การมีว่า เดือน ต.ค.นี้จะเริ่มออกใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ให้ภาครัฐ (ดิจิทัล เซอร์ติฟิเคท) ซึ่งจะเริ่มผลักดันให้เกิดการใช้งานไปพร้อมกับการทำโครงการสารบรรณ อิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อมโยงกับระบบของ 20 กระทรวง และอีก 9 หน่วยงานรัฐ โดยทดลองใช้วิธีการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ในงานสารบรรณบางส่วน เมื่อถึงเวลานั้น ก็จะเป็นอีกก้าวหนึ่งของอีกอฟเวิร์นเมนท์ไทย

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ 27 มิถุนายน 2554 http://bit.ly/lVwBTq