ดร.ศักดิ์ ผอ.สรอ. บรรยาย IPV6 กับหน่วยงานภาครัฐ ในงาน “Thailand IPv6 Conference Day 2012”


16 March 2558
1014

ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) บรรยายหัวข้อ “IPV6 กับหน่วยงานภาครัฐ”  ในการประชุมสัมมนา “Thailand IPv6 Conference Day 2012” เมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๕ ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ โดยมี นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นประธานเปิดงาน

ซึ่งภายในงานได้มีการบรรยายหัวข้อ “ความรู้เกี่ยวกับ IPv6 และสรุปผล World IPv6 Launch ระดับโลก” และการเสวนาสรุปผล World IPv6 Launch และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการให้บริการ IPv6 ของหน่วยงานภาครัฐ โดยมีนายวรกร คุรุวงศ์วัฒนา สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน), นายบุญลือ จิตตคาม กระทรวงการคลัง, นายทวี ศรีบุศย์ดี กระทรวงศึกษาธิการ (UNINET), ดร.พนิตา  พงษ์ไพบูลย์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (NECTEC) และนางสุพรรณี เกิดสุวรรณ์ กระทรวงมหาดไทย (กรมที่ดิน) ร่วมการเสวนาในครั้งนี้ นอกจากนี้มีการบรรยายหัวข้อ “การพัฒนา IPv6 ของผู้ให้บริการ” และ “IPv6 กับบทบาทของผู้ให้บริการโครงข่ายในปัจจุบัน” อีกด้วย โดยมีผู้เข้าร่วมการสัมมนาครั้งนี้กว่า 200 คน

ก.ไอซีที เดินหน้าผลักดันการเปลี่ยนถ่ายเครือข่ายอินเทอร์เน็ตจาก IPv4 สู่ IPv6

นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในการประชุมสัมมนา “Thailand IPv6 Conference Day 2012” ว่า ปัจจุบันอินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่ยังคงทำงานอยู่บน IPv4 ซึ่งกำลังประสบปัญหาที่สำคัญยิ่งคือ หมายเลขอินเทอร์เน็ต หรือที่เราเรียกว่า หมายเลข IP (Internet Protocol) กำลังจะหมดลงในเวลาอันใกล้นี้ การหมดลงของหมายเลข IP ทำให้การขยายตัวและการใช้งานอินเทอร์เน็ตเป็นปัญหา ซึ่งไม่ใช่เฉพาะอินเทอร์เน็ตเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงการใช้งานเทคโนโลยีการสื่อสารอื่น เช่น โทรศัพท์ 3G, LTE หรือ 4G ในอนาคต จะเป็นปัญหาด้วย ดังนั้น การเปลี่ยนถ่ายจากเครือข่าย IPv4 สู่เครือข่าย IPv6 จะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนหมายเลข IP ได้ เนื่องจาก IPv6 มีจำนวนหมายเลข IP มากมายมหาศาล นอกจากนี้ยังเป็นการปรับปรุงความสามารถด้านต่างๆ อีกหลายประการ ทั้งในแง่ของประสิทธิภาพและความปลอดภัย สามารถรองรับระบบแอพพลิเคชั่น (application) ใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งน่าจะเพียงพอต่อการใช้งานอีกนาน 40 ถึง 50 ปีข้างหน้า

“ในการเปลี่ยนสู่ IPv6 นั้น การวางแผนเพื่อการปรับเปลี่ยนการใช้งานถือเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญต่อการขยาย ตัวอย่างมั่นคงของเครือข่ายอินเทอร์เน็ตและต่อวงการ ICT ของโลก กระทรวงไอซีที จึงได้ร่วมกับสมาคมไอพีวี 6 ประเทศไทย และผู้ให้บริการด้านอินเทอร์เน็ตและการสื่อสารโทรคมนาคมในประเทศ ตั้งคณะทำงานส่งเสริมนโยบาย IPv6 เพื่อร่วมกันดำเนินการจัดทำนโยบาย แผนงาน และกิจกรรมเพื่อส่งเสริมและเร่งรัดการดำเนินการในการรองรับการเปลี่ยนถ่าย เครือข่ายอินเทอร์เน็ตจาก IPv4 สู่ IPv6 อย่างต่อเนื่อง โดยในปีที่แล้ว กระทรวงฯ ได้ประกาศที่จะดำเนินการให้เครือข่ายและบริการภาครัฐสามารถรองรับการใช้งาน IPv6 ได้ภายในปี 2558 ซึ่งช่วงแรกจะเน้นให้ภาครัฐเป็นผู้นำในการให้บริการผ่านเครือข่ายอิน เทอร์เน็ต IPv6 อันเป็นการกระตุ้นเตือนให้ทุกภาคส่วนตระหนัก และใส่ใจที่จะผลักดันสู่ระดับประเทศต่อไป ส่วนในระดับโลกได้มีการร่วมกันทดสอบการใช้งาน IPv6 พร้อมกันในวันที่ 8 มิถุนายน 2554 ซึ่งถือเป็นวัน World IPv6 Day” นางจีราวรรณ กล่าว

สำหรับในปีนี้ทั่วทั้งโลกได้พร้อมใจกันให้บริการผ่านเครือข่าย IPv6 ภายใต้ชื่อว่า World IPv6 Launch โดยทั้ง Google, Facebook, Yahoo และผู้ให้บริการรายอื่นๆ รวมถึงผู้ค้าอุปกรณ์ และองค์กรขนาดใหญ่ทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วโลกได้เริ่มให้บริการผ่านเครือข่าย IPv6 ตั้งแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2555 เป็นต้นมา ส่วนกระทรวงไอซีที ได้ร่วมกับสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ให้การสนับสนุนทางด้านเทคนิคแก่หน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐ ในการปรับปรุงระบบการให้บริการให้สามารถใช้งานผ่านเครือข่าย IPv6 ได้ โดยเทคนิคที่ใช้เป็น Dual Stack และ Reverse Proxy เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับการให้บริการผ่านเครือข่าย IPv4 แต่ช่วยให้สามารถบริการผ่านเครือข่าย IPv6 ได้อีกทางหนึ่ง

ดังนั้น เพื่อทำการตรวจสอบและทดสอบว่าการใช้งานร่วมกันระหว่าง IPv4 และ IPv6 จะมีผลกระทบหรือปัญหาใดบ้าง เมื่อต้องรองรับข้อมูลอินเทอร์เน็ตพร้อมกันทั้งโลก กระทรวงฯ จึงได้จัดประชุมสัมมนาในหัวข้อ “Thailand IPv6 Conference Day 2012” ขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาในภาครัฐ และภาคธุรกิจ ได้รับทราบตัวอย่างการพัฒนาและปรับปรุงเครือข่ายเพื่อรองรับการใช้งาน IPv6 จากองค์กรบริษัทเอกชนชั้นนำ รวมทั้งได้พบปะและแลกเปลี่ยนความรู้ ข้อคิดเห็นซึ่งกันและกัน อันจะนำไปสู่การแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างหน่วยงานได้ “การก้าวเข้าสู่ IPv6 จะเป็นส่วนประกอบที่สำคัญด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ในการพัฒนาโครงข่ายการสื่อสารยุคใหม่ กล่าวคือ เป็นการกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้าน ICT ให้มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง ทันต่อเทคโนโลยี และมีความมั่นคงปลอดภัย ตลอดจนสามารถรองรับกับระบบงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (Smart-Government) นโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติ นโยบาย Free WiFi และนโยบาย One Tablet Per Child รวมถึงเป็นการเตรียมพร้อมให้กับบริการใหม่ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นทั้ง 3G, LTE และ IPTV เป็นต้น” นางจีราวรรณ กล่าว

ชมภาพเพิ่มเติมได้ที่
https://www.facebook.com/media/set/?set=a.420202648018091.87050.100000850770441&type=1