อีจีเอ โชว์ “สมาร์ทบ็อกซ์


13 March 2558
547

ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (EGA) ร่วมงานสัมมนาและนิทรรศการ “โครงการจังหวัดอัจฉริยะต้นแบบ จังหวัดนครนายก (Nakhonnayok Smart Province) กระทรวงมหาดไทย” ระหว่างวันที่ ๒๖-๒๘ สิงหาคม ๒๕๕๖ ณ อาคารราชพฤกษ์ ชลพฤกษ์ รีสอร์ท อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก ซึ่งโครงการฯ ดังกล่าวจะเป็นประโยชน์กับประชาชนและส่วนราชการของจังหวัด ในการสนับสนุนการดำเนินงานจังหวัดอัจฉริยะต้นแบบ โดยมี นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวเปิดงาน เมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๕๖ 

สำหรับงานเปิดตัวโครงการนี้ มีการเสวนาหัวข้อ “Smart Province ติดปีกนักบริหาร” โดย นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร  รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ ดร.สุรชัย ศรีสารคาม ผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก 

นอกจากนี้ EGA โดย สำนักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี สำนักที่ปรึกษาระบบรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ และ สำนักวิศวกรรมและปฏิบัติการโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศ ร่วมจัดแสดงนิทรรศการ ให้คำปรึกษาและแนะนำบริการด้านระบบรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งนำเสนอผลงาน โครงการ Citizen Smart Info การเข้าถึงบริการระบบอิเล็กทรอนิกส์ของประชาชน คือ บริการ EGA Smart Box ที่ประชาชนสามารถตรวจสอบสิทธิประโยชน์ต่างๆ อาทิ ศูนย์บริการภาครัฐ Thailand e-Government ข้อมูลบุคคลด้วยสมาร์ทการ์ด ข่าว ข้อมูลการเกษตร ข้อมูลเศรษฐกิจ สถาบันการเรียนรู้ของชุมชนด้วยไอซีที วีดีโอแหล่งรวมความรู้ ปุ๋ยสั่งตัด ราคาข้าว เป็นต้น ผ่านอุปกรณ์ Smart Box จากจุดเดียว ซึ่งมีหน่วยงานภาครัฐเข้าร่วมงานดังกล่าวกว่า ๕๐๐ คน 

น.อ. อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในฐานะประธานในพิธี เปิดเผยว่า จากยุทธศาสตร์ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555-2559) และแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารฉบับที่ 2  (พ.ศ. 2552-2556) ได้วางแนวทางหลักในการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศของประเทศไทย คือการพัฒนาโครงการพื้นฐานด้านไอซีที ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ และพัฒนาบริการภาครัฐผ่านระบบไอซีที เพื่อสร้างโอกาสให้ประชาชน สามารถเข้าถึงบริการได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม เพื่อให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมและเป็นโครงการเร่งด่วนนำร่อง การพัฒนาประเทศไปสู่การเป็น Smart Country  

“เป้าหมายของโครงการอัจฉริยะ คือต้องการให้ประชาชนได้รับความสะดวกและรวดเร็วในการตรวจสอบข้อมูลการให้ บริการและสนับสนุนความช่วยเหลือตามมาตรการต่างๆ  รวมถึงข้อมูลสิทธิที่ตนพึงได้รับจากการบริการภาครัฐผ่านบัตรประจำตัว ประชาชน (Smartcard)   ทั้งนี้ ประชาชนสามารถทำธุรกรรมหรือขั้นตอนทางราชการต่างๆ  ด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพแบบ One Stop Service และยังสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ในการพัฒนาปรับปรุงคุณภาพของระบบข้อมูลข่าวสารและบริการภาครัฐแบบบูรณาการ ผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศกลางของภาครัฐ เบื้องต้นได้กำหนดให้ “จังหวัดนครนายก” ซึ่งมีความพร้อมและความเหมาะสมในหลายด้านเป็นต้นแบบในการขับเคลื่อนโครงการ เพื่อขยายผลไปสู่จังหวัดอื่นๆ  ต่อไป”  น.อ. อนุดิษฐ์ กล่าว

น.อ. อนุดิษฐ์ กล่าวอีกว่า ระบบจังหวัดอัจฉริยะเป็นการเข้าถึงข้อมูลทั้งหมดด้วย “บัตรประชาชน” เพียงใบเดียว โดยเฉพาะในส่วนการให้บริการประชาชน ผู้มีบัตรประจำตัวประชาชนจะสามารถดำเนินการได้ด้วยตนเองอย่างครบวงจร โดยผู้ใช้จะสามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของตนเอง ข้อมูลของครอบครัว และข้อมูลอื่นๆ  ในขอบเขตที่ระบบได้กำหนดไว้ โดยข้อมูลของทางราชการส่วนกลาง ราชการส่วนจังหวัด ท้องถิ่น  ท้องที่ ภาคเอกชนและธนาคารจะสามารถเข้าถึงได้โดยผ่านระบบคลาวด์  โดยการใช้งานจะประกอบด้วย การบันทึกข้อมูล การให้บริการ การเรียกใช้ข้อมูล การเตือนสังคม การสื่อสารกับสังคม การเรียนรู้และการซื้อขายสินค้าและบริการ ซึ่งทุกส่วนการใช้งานจะแบ่งระดับของการเข้าถึงข้อมูลตามขอบเขตของระบบ

ด้าน ดร.สุรชัย ศรีสารคาม ผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก กล่าวว่า โครงการนี้ เป็นระบบการบริหารงานแบบบูรณาการเพื่อคุณภาพชีวิตและสังคมอุดมปัญญา เป็นกรอบการดำเนินงาน กำหนดตัวชี้วัดเป็นเป้าหมายหลักในการพัฒนาสู่คุณภาพชีวิตและสังคมอุดมปัญญา ในระดับจังหวัดและประเทศ โดยได้นำ C.I.S.E.E. มาดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนโครงการจังหวัดอัจฉริยะ ได้แก่ 1. การสื่อสาร (Communication) สามารถเรียกดูข้อมูลในภาคการเกษตร เศรษฐกิจและสังคม ผ่านเทคโนโลยีการสื่อสารในระบบ LAN  3G  และ WiFi  ที่ครอบคลุมทั้งจังหวัดได้โดยผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ภาครัฐและประชาชนทั่วไป สามารถเข้าถึงข้อมูลและนำไปใช้ได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว  2.สารสนเทศ (Information) คือการได้รับข้อมูลข่าวสารต่างๆ  ในทุกๆ  ด้าน  3.การบริการ (Service)  การเข้าถึงบริการภาครัฐอย่างสะดวกรวดเร็ว  4.การศึกษา (Education)  การพัฒนาคุณภาพการศึกษาในทุก ๆ ด้าน และ  5.เศรษฐกิจ (Economic)  การสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ โดยการยึดหลักระบบสหกรณ์มาใช้ให้เกิดประโยชน์

ดร.สุรชัย กล่าวว่า ขั้นตอนการทำงานของระบบจังหวัดอัจฉริยะต้นแบบประกอบไปด้วย 3 ระบบที่บูรณาการเข้าด้วยกัน คือ 1.ระบบทะเบียนราษฎรของกรมการปกครอง (NERS) 2.ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) และ 3.ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหาร (MIS) โดยทั้ง 3 ระบบ จะสามารถแสดงข้อมูลที่มีรายละเอียดอย่างครบถ้วน สามารถนำไปใช้ในการแก้ปัญหาและพัฒนาได้อย่างครอบคลุมทุกด้าน  การเก็บข้อมูลจะเริ่มตั้งแต่ ระดับหมู่บ้าน ได้แก่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล  โรงเรียน  บ้าน วิสาหกิจชุมชน  วัด  เป็นต้น  จากนั้นจะส่งข้อมูลเชื่อมโยงไปสู่ระดับตำบล ซึ่งประกอบไปด้วย อบต. หรือเทศบาลตำบล  สหกรณ์ตำบลหรือสหกรณ์เทศบาลและสถานีตำรวจ ส่งต่อไปสู่ระดับอำเภอ ได้แก่ สำนักงานอำเภอ  โรงพยาบาลอำเภอ และกรอ. ภาคเอกชนระดับอำเภอ ก่อนจะเชื่อมโยงต่อไปยังระดับจังหวัด ได้แก่ สำนักงานจังหวัด   ส่วนราชการจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ กรอ.ภาคเอกชนระดับจังหวัด กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัด อบจ. และชุมนุมสหกรณ์จังหวัด  และในระยะสุดท้ายจะเชื่อมโยงไปสู่รัฐบาลกลาง หน่วยงานระดับกระทรวงและองค์กรนานาชาติ เป็นต้น

โดยหลักการบริหารแบบบูรณาการ สามารถเชื่อมโยง 5 ภาคส่วนสำคัญ  ได้แก่ ส่วนท้องที่และชุมชน, หน่วยงานส่วนท้องถิ่น, หน่วยงานราชการ ส่วนภูมิภาค, หน่วยงานราชการส่วนกลางและภาคเอกชนเข้าด้วยกัน เมื่อทุกภาคส่วนทำงานเชื่อมโยงกันจนเป็นระบบ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ การประสานงาน และการสั่งการให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว ทันต่อเหตุการณ์ ช่วยลดระยะเวลาและรายจ่าย ซึ่งเป็นผลดีทั้งรัฐ  เอกชนและประชาชน ซึ่งผลที่ได้รับคือการพัฒนาและศักยภาพที่ก้าวกระโดดของจังหวัดและประเทศชาติ  

สำหรับจังหวัดนครนายก ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 100  กิโลเมตร  แบ่งเขตการปกครองออกเป็น  4  อำเภอ 41 ตำบล 408 หมู่บ้าน  1  เทศบาลเมือง  4  เทศบาลตำบล และ 40 องค์การบริหารส่วนตำบล พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบ ทางตอนเหนือและตะวันออกเป็นภูเขาสูงชัน มีทรัพยากรและแร่ธาตุจำนวนมาก ทั้งยังมีสถานที่ท่องเที่ยวตามธรรมชาติ โบราณสถาน พิพิธภัณฑ์ แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร จึงมีความหมาะสมในหลายมิติ ที่จะเป็นจังหวัดต้นแบบของโครงการจังหวัดอัจฉริยะ โดยเราได้นำระบบที่เรียกว่า C.I.S.E.E หมายถึง การสื่อสาร  สารสนเทศ  การบริการ  การศึกษา และเศรษฐกิจ  มาดำเนินการจัดทำโครงการจังหวัดอัจฉริยะ Smart Province เพื่อนำร่องการพัฒนาประเทศไปสู่การเป็น Smart Country ซึ่งเป็นไปตามยุทธศาสตร์แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2552-2556) ที่ได้วางแนวทางหลักในการพัฒนาบริการภาครัฐผ่านระบบ ICT เพื่อสร้างโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ตามระบบกลยุทธ์การจัดการที่เรียกว่า “ จังหวัดอัจฉริยะสร้างคุณภาพชีวิตและสังคมอุดมปัญญา ” มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาผนวกกับระบบการบริหารจัดการข้อมูล ของทุกภาคส่วนของจังหวัดนั้นๆ ทำให้เกิดการเชื่อมโยงอย่างบูรณาการ  

โครงการจังหวัดอัจฉริยะ Smart Province นี้จะมีการดำเนินงาน ดังนี้ ในระหว่าง ปี 2557   จนถึงปี 2562  โดย ในปี  2557  จะขยายผลจากหมู่บ้านต้นแบบ ให้เต็มพื้นที่จังหวัดนครนายก หลังจากนั้น ในปี 2558  จะขยายผลอีก  10  จังหวัด  ได้แก่ กรุงเทพฯ   นครราชสีมา  นครปฐม  ชลบุรี  ขอนแก่น  อุดรธานี  สงขลา  สุราษฎร์ธานี  นครสวรรค์และเชียงใหม่   หลังจากนั้นในปี  2559  จะขยายผลอีก  18  จังหวัด  ได้แก่ จังหวัดเชียงราย  น่าน  พะเยา  แพร่  กาฬสินธุ์  ชัยภูมิ  นครพนม  บึงกาฬ  กำแพงเพชร  ชัยนาท  นนทบุรี   ปทุมธานี  ปราจีนบุรี  ตราด  กาญจนบุรี กระบี่  ชุมพรและตรัง  ในปี 2560  ขยายผล 18  จังหวัด  ได้แก่  แม่ฮ่องสอน  ลำปาง  ลำพูน อุตรดิตถ์  บุรีรัมย์  มหาสารคาม  มุกดาหาร  ยโสธร  พระนครศรีอยุธยา  พิจิตร  พิษณุโลก   เพชรบูรณ์ จันทบุรี  ฉะเชิงเทรา  ประจวบคีรีขันธ์  เพชรบุรี  นครศรีธรรมราช  นราธิวาส    ในปี 2561   ขยายผล 18  จังหวัด  คือ สุโขทัย  ตาก ร้อยเอ็ด   เลย  สกลนคร  สุรินทร์  ศรีสะเกษ  หนองคาย  ลพบุรี  สมุทรปราการ  สมุทรสงคราม  สมุทรสาคร  สิงห์บุรี  สุพรรณบุรี   สระแก้ว  และในปี  2562  ขยายผล  12  จังหวัด คือ  หนองบัวลำภู  อุบลราชธานี  อำนาจเจริญ  สระบุรี  อ่างทอง  อุทัยธานี  ระยอง  พัทลุง  ภูเก็ต  ระนอง  สตูล  และยะลา  ซึ่งการดำเนินโครงการจังหวัดอัจฉริยะ จะครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ ในปี 2562

ชมภาพเพิ่มเติมได้ที่  
https://www.facebook.com/eGovernmentAgency/media_set?set=a.595300443841643.1073741880.100000850770441&type=1