อีจีเอ จัดสัมมนา “ก้าวสู่ผู้บริหารรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ระดับสากล


13 March 2558
1201

สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) จัดงานสัมมนา “ก้าวสู่ผู้บริหารรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ระดับสากล” และพิธีมอบประกาศนียบัตร ให้กับผู้สำเร็จการอบรมหลักสูตรนักบริหารรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ รุ่นที่ ๓ 

สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ EGA เป็นหน่วยงานของรัฐและเป็นองค์การมหาชน จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) พ.ศ. ๒๕๕๔ เมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ และคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้มีอำนาจหน้าที่ พัฒนา บริหารจัดการ และบริการโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศ ในส่วนที่เกี่ยวกับรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงส่งเสริม สนับสนุน และจัดอบรมเพื่อยกระดับทักษะความรู้ความสามารถด้านรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์

EGA ได้จัดโครงการอบรมหลักสูตรนักบริหารรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ รุ่นที่ ๓ ให้กับผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานภาครัฐ ที่ทำหน้าที่กำกับดูแลนโยบายและการปฏิบัติงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในองค์กร เพื่อเป็นการให้ความรู้ ทักษะทางด้านการบริหารจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างเหมาะสม และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ รวมถึงการศึกษาดูงานทางด้านรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานการบริหารจัดการและการให้บริการประชาชนสู่ระดับ สากล

ด้วยเหตุผลที่กล่าวมานี้ EGA จึงจัดงานสัมมนา “ก้าวสู่ผู้บริหารรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ระดับสากล” (Towards World-class e-Government Executive) และพิธีมอบประกาศนียบัตร ให้กับผู้สำเร็จการอบรมหลักสูตรนักบริหารรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ รุ่นที่ ๓ ขึ้น เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้จากโครงการอบรมดังกล่าว และเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ในมุมมองของการบริหารรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศสหรัฐอเมริกา กับประเทศไทย รวมถึงกรณีศึกษาของรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ในประเทศไทย เพื่อจะได้แนวทางในการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ หรือต่อยอดในการขับเคลื่อนรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ร่วมกัน โดยมี นาวาอากาศเอก อนุดิษฐ์      นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวเปิดงาน และมอบประกาศนียบัตรในครั้งนี้  เมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๕๖  ณ  ห้องบอลรูม บี ชั้น เอ็ม โรงแรมปทุมวัน ปริ้นเซส 

การสัมมนาครั้งนี้ “กล่าวรายงาน โครงการอบรมหลักสูตรนักบริหารรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ และงานสัมมนาก้าวสู่ผู้บริหารรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ระดับสากล” โดย ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (EGA) และ “รายงานนำเสนอแนวทางการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร” โดย นายกฤษณ์ธวัช นพนาคีพงษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และรองประธานรุ่นหลักสูตรนักบริหารรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ รุ่นที่ ๓ และ “กล่าวแสดงยินดี ผู้สำเร็จหลักสูตรนักบริหารรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ รุ่นที่ ๓” โดย พ.ต.อ.ญาณพล ยั่งยืน รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และประธานรุ่น หลักสูตรนักบริหารรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ รุ่นที่ ๑ นาวาอากาศเอกพิเศษ สมภพ เปรมจิตต์ นายทหารปฏิบัติการสำนักงานปลัดบัญชีทหารอากาศ และรองประธานรุ่น หลักสูตรนักบริหารรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ รุ่นที่ ๒ ตามลำดับ

สำหรับงานสัมมนานี้มีการเสวนา ในหัวข้อ “กรณีศึกษาการดูงาน ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา สู่การประยุกต์เพื่อการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ประเทศไทย” โดย นายแพทย์ภาสกร ไชยเศรษฐ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอานาจเจริญ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอำนาจเจริญ นายอภิรัตน์ อรุณวิไลรัตน์ ผู้อำนวยการฝ่าย ปฏิบัติการสารสนเทศ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ นายไวบูลย์ ชาญเชี่ยว ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนเทคโนโลยีสารสนเทศ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินการเสวนา โดย นางสาวนันทวัน วงศ์ขจรกิตติ ผู้อำนวยสำนักวิศวกรรมและปฏิบัติการโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ซึ่งมีผู้บริหารของหน่วยงานภาครัฐเข้าร่วมในโครงการดังกล่าวประมาณ ๔๐ ท่าน

นาวาอากาศเอก อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่ากระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวว่า “รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับเกียรติให้เป็นประธานพิธี เปิดงานสัมมนา “ก้าวสู่ผู้บริหารรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ระดับสากล และพิธีมอบประกาศนียบัตรแก่ผ่านการอบรมหลักสูตรนักบริหารรัฐบาล อิเล็กทรอนิกส์ รุ่นที่ ๓” ในวันนี้ 

จากคำกล่าวรายงานของผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ EGA จะเห็นได้ว่าจากภารกิจหนึ่งของ EGA ที่มุ่งเน้นส่งเสริม สนับสนุน และจัดอบรมเพื่อยกระดับทักษะความรู้ความสามารถด้านรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้อง  ซึ่งสอดคล้องกับแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ฉบับที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๕๒-๒๕๕๖ ยุทธศาสตร์ที่ ๑, ๒, ๓ และ ๔ ที่เน้นการพัฒนาองค์ประกอบทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในทุกๆ ด้าน อาทิ ทักษะความรู้ของผู้บริหาร โครงสร้างพื้นฐาน ระบบการบริหารจัดการ รวมถึงการสนับสนุนการบริหารจัดการที่มีธรรมาภิบาล 

ทุกท่านในที่นี้ ล้วนอยู่ในฐานะตำแหน่งที่มีของการเป็นผู้บริหารรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ของ องค์กร ซึ่งเป็นผู้กำหนดและวางแผน เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในองค์กร ให้เป็นไปทิศทาง ที่เหมาะสม สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ พันธกิจขององค์กร หน่วยงาน และการบริการประชาชนได้อย่างทั่วถึง

อย่างไรก็ดี ในการส่งเสริมพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งถือว่าเป็นภารกิจสำคัญมากของหน่วยงานภาครัฐ ที่ต้องการความร่วมมือกันอย่างจริงจัง และต่อเนื่องอาทิ ระบบสนับสนุนการบริหารจัดการภายในองค์กร ระบบการให้บริการประชาชน การเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงาน และการแลกเปลี่ยนข้อมูลสารสนเทศ เป็นต้น 

สำหรับหลักสูตรนักบริหารรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ของสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ที่ท่านได้ศึกษาไปแล้วนั้น จะเห็นได้ว่าเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ตามนโยบาย ของรัฐบาล ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนทักษะความรู้กับวิทยากรผู้ทรงวุฒิ และผู้เข้าอบรมด้วยกัน ซึ่งถือได้ว่าเป็นการสร้างเครือข่ายในการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ของ ประเทศ อีกทั้งยังได้แลกเปลี่ยนความรู้กับหน่วยงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำของ โลก 

ผมมีความเชื่อมั่นและหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกท่านที่ผ่านการอบรมหลักสูตรใน วันนี้  จะเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันให้การพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทย มีความก้าวหน้าต่อไป”

ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า “ตามที่มีการจัดตั้งสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สรอ. หน่วยงานภายใต้กำกับของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยมีภารกิจหลัก ๔ ด้าน ได้แก่ (๑) พัฒนา บริหารจัดการ และให้บริการโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในส่วนที่ เกี่ยวกับรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (๒) ศึกษา วิจัย พัฒนา และเสนอแนะแนวทาง มาตรการ และมาตรฐานด้านรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (๓) ให้คำปรึกษา บริการด้านวิชาการ และบริหารจัดการโครงการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในส่วนที่เกี่ยว ข้องกับรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (๔) ส่งเสริม สนับสนุน และจัดอบรมเพื่อยกระดับทักษะความรู้ความสามารถ ด้านรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้อง 

สืบเนื่องตามภารกิจหลักด้านที่ ๔ นั้น EGA จึงได้จัดโครงการอบรมหลักสูตร นักบริหารรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ รุ่นที่ ๓ ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 

๑.เพื่อให้ผู้บริหารสามารถใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นเครื่องมือในการกำหนดยุทธศาสตร์ขององค์กร ในการวางแผนขับเคลื่อนองค์กรสู่การบริการประชาชน

๒.เพื่อให้ผู้บริหารเข้าใจกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารสามารถ กำหนดนโยบายองค์กรให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีในปัจจุบัน

๓.เพื่อให้ผู้บริหารสามารถใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการบริหารจัดการ ติดตามและกำกับดูแล ได้อย่างทั่วถึงตามหลักธรรมาภิบาล

๔.เพื่อให้ผู้บริหารสามารถในการใช้สารสนเทศอย่างมีวิจารณญาณและรู้เท่าทัน

EGA ได้จัดการอบรมและศึกษาดูงานขึ้น ในระหว่างวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๕๖ ถึงวันที่  ๒๖ กันยายน ๒๕๕๖ รวมจำนวน ๑๐ ครั้ง มีผู้บริหารจากหน่วยงานภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจ สนใจเข้าร่วมโครงการฯ และสำเร็จการอบรมหลักสูตรในรุ่นที่ ๓ นี้ จำนวนทั้งสิ้น ๓๔ ท่าน ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่วางไว้ ดังนั้น EGA จึงได้จัดให้มีพิธีมอบประกาศนียบัตร เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้บริหาร ซึ่งสำเร็จหลักสูตร

นักบริหารรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ รุ่นที่ ๓ นี้ พร้อมทั้งจัดให้มีงานสัมมนาเผยแพร่ และแบ่งปันองค์ความรู้แนวทางการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ในมุมมองของผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐ จากโครงการอบรมนี้รวมถึงตัวอย่างแนวทางการบริหารจัดการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศสหรัฐ อเมริกา”

นายกฤษณ์ธวัช นพนาคีพงษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า “ในฐานะผู้แทนของผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตร “นักบริหารรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ รุ่นที่ ๓”  ซึ่งเป็นหลักสูตรที่สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ได้จัดขึ้น ระหว่างวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๕๖ ถึงวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๕๖  โดยในระหว่างการอบรมประเทศทุกวันพฤหัสบดี รวมถึงศึกษาดูงานในประเทศ ที่บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ทางด้านการจัดเก็บ บันทึกข้อมูล และจัดให้มีการศึกษาดูงานที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ ๗-๑๖ กันยายน ๒๕๕๖  ซึ่งคณะผู้เข้ารับการอบรมฯ ได้สรุปประเด็นความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับจากการอบรมฯ สำหรับนำเรียนท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) และท่านผู้มีเกียรติซึ่งประชุมอยู่ ณ ที่แห่งนี้ เพื่อเป็นแนวทางในการส่งเสริมและพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ของประเทศไทย ดังนี้  
 

๑.เร่งส่งเสริมและสร้างความเข้าใจเรื่อง Cloud Computing 

จากการศึกษาดูงาน NIST (National Institute of Standards and Technology) และ CISCO ณ ประเทศสหรัฐอมริกา พบว่า ความก้าวหน้าทางวิทยาการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นตัวเร่งให้ต้องมีการพัฒนาการบริหารจัดการ และบูรณาการบริการภาครัฐสู่ประชาชน ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งเทคโนโลยี Cloud Computing จะเป็นเทคโนโลยีที่มีความสำคัญในการพัฒนาดังกล่าว การนำเทคโนโลยี Cloud Computing มาใช้ในการปฏิบัติงาน ในรูปแบบของการแชร์ทรัพยากร เช่น ส่วนประมวลผล, พื้นที่สำหรับเก็บข้อมูล, เครือข่าย เป็นต้น  นับเป็นเรื่องสำคัญและเร่งด่วนต่อการพัฒนาประเทศไทย แต่ในทางปฏิบัติยังมีความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมน้อยมาก เนื่องจากบางหน่วยงานยังขาดความรู้ความเข้าใจในตัวระบบหรือการทำงานของระบบ Cloud Computing อย่างชัดเจนเพียงพอ ในขณะที่บางหน่วยงานอาจจะมีความกังวลในด้านความปลอดภัย ขาดความเป็นส่วนตัวของข้อมูล และสุดท้ายการให้บริการ G-Cloud ภาครัฐยังถูกจำกัดด้วยงบประมาณในการให้บริการ

แนวทางดำเนินการส่งเสริมและสร้างความเข้าใจเรื่อง Cloud Computing

๑. ส่งเสริมและเผยแพร่สร้างความรู้ความเข้าใจเทคโนโลยี Cloud Computing ในทั้งระดับผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อการวางแผนในการใช้งานในหน่วยงานภาครัฐ อย่างขว้างขวาง

๒. กำหนดนโยบายให้หน่วยงานภาครัฐหันมาใช้เทคโนโลยี Cloud Computing เพื่อลดค่าใช้จ่ายงบประมาณ ทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และเสริมสร้างศักยภาพในการบริหารจัดการหน่วยภาครัฐ เพื่อมุ่งสู่ Smart Government 

๓. สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้บริการ Cloud Computing โดยมีมาตรฐานระดับสากล

๒.ผลักดันการใช้ระบบงานกลางภาครัฐ และบูรณาการกระบวนงานภาครัฐ

จากการศึกษา เรื่อง นโยบายและแนวทางการบูรณาการงบประมาณ ICT ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ พบว่าหลายหน่วยงานภาครัฐ มีการใช้งบประมาณในการพัฒนาระบบงานสารสนเทศภายใน ที่เรียกว่า Back Office เพื่อเป็นการส่งเสริมระบบบริหารจัดการภายในให้มีประสิทธิภาพ สามารถตรวจสอบได้ตามหลักธรรมาภิบาล นั้น ซึ่งระบบงานเหล่านี้มีลักษณะการทำงานที่คล้ายคลึงกันหรืออาจจะใช้ร่วมกันได้ อาทิ ระบบงานสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ ระบบจดหมายอิเล็กทรอนิกส์กลางภาครัฐ ระบบพัสดุ เป็นต้น ซึ่งหากภาครัฐสามารถพัฒนาระบบงานกลางภาครัฐ มาใช้งานภายใต้เทคโนโลยี Cloud Computing และสามารถบูรณาการกระบวนงานร่วมกันจะช่วยลดงบประมาณในการพัฒนาระบบงานได้ จำนวนมาก 

ซึ่งผู้เข้าอบรมหลักสูตรฯ นำโดยท่านธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม และเป็น ประธานรุ่น หลักสูตรนักบริหารรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ รุ่นที่ ๓ เป็นผู้นำร่องในการนำระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ ไปใช้งานกับทุกกรมของกระทรวงยุติธรรม ซึ่งจะช่วยลดงบประมาณในการพัฒนาระบบงานสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ ลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงระบบ และเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของหน่วยให้เกิดความสะดวก รวดเร็วยิ่งขึ้น และสามารถเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานได้

แนวทางดำเนินการผลักดันการใช้ระบบงานกลางภาครัฐ และบูรณาการกระบวนงานภาครัฐ

๑. กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ควรกำหนดนโยบายส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐมาใช้งานระบบกลางภาครัฐ เพื่อลดงบประมาณทางด้านไอซีที

๒. กำหนดนโยบายให้หน่วยงานภาครัฐปรับลดกระบวนงานภายในหน่วยงานให้เหมาะสม ไม่ซ้ำซ้อน

๓. กำหนดมาตรฐานระบบงานภาครัฐ เพื่อให้มีมาตรฐานเดียวกัน สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลได้ อีกทั้งมาตรฐานด้านความปลอดภัยข้อมูลสารสนเทศ  เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือของหน่วยงานรัฐ

๓.ผลักดันการดำเนินการ data.gov

ปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐ มีการจัดเก็บข้อมูลจำนวนมาก ทั้งในรูปแบบเอกสาร รูปภาพ วีดิโอ มัลติมีเดีย ซึ่งต้องใช้พื้นที่ในการจัดเก็บข้อมูลจำนวนมาก แต่การจัดเก็บข้อมูลอย่างไม่เป็นระบบ จะทำให้ไม่สามารถสืบค้นข้อมูล หรือ นำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ได้ ทำให้เกิดปัญหาที่เรียกว่า Big Data จากปัญหาดังกล่าวมากกว่า 30 ประเทศทั่วโลก ให้ความสำคัญในการให้บริการข้อมูลภาครัฐแก่ประชาชน และดำเนินการตั้งศูนย์กลางข้อมูลภาครัฐ ซึ่งเป็นเครื่องมือในการจัดเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อเป็นประโยชน์ในการบริการประชาชน อาทิ ความโปร่งใส การมีส่วนร่วม การปรับปรุงสินค้า และบริการใหม่ การสร้างนวัตกรรม การปรับปรุงประสิทธิภาพ และประสิทธิผลการให้บริการของภาครัฐ สร้างองค์ความรู้ใหม่ที่ได้จากการรวบรวมข้อมูลจำนวนมาก 

จากศึกษาดูงาน Library of Congress ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งจัดเป็นห้องสมุดที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีหนังสือและสื่อต่างๆ เช่น ภาพถ่าย แผนที่ โน๊ตดนตรี เกือบ 147 ล้านชิ้น ความยาวรวมของ ชั้นหนังสือทั้งหมดคือ 838 ไมล์ หรือ 1,349 กิโลเมตร ดังนั้นเพื่อให้การจัดเก็บข้อมูลภาครัฐของไทย มีมาตรฐานข้อมูลเป็นแบบเดียวกัน สามารถเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐได้ เห็นควรจัดศูนย์ข้อมูลกลางภาครัฐในรูปแบบเว็บไซต์ เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลรัฐของไทย ที่ให้บริการประชาชนได้อย่างทั่วถึง 

แนวทางผลักดันการดำเนินการ data.gov

๑. กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ควรจัดตั้งศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐ เพื่อให้บริการข้อมูลประชาชน ผ่านสื่อทางอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างทั่วถึง

๒. กำหนดมาตรฐานข้อมูลในการจัดเก็บอย่างเป็นระบบ ให้สามารถเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงาน

ทั้งหมดนี้ เป็นการนำเสนอแนวทางการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ต่อ ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในฐานะผู้กำกับดูแลนโยบายทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ”

ชมภาพเพิ่มเติมได้ที่
https://www.facebook.com/eGovernmentAgency/media_set?set=a.614779761893711.1073741902.100000850770441&type=1