สถาบัน TDGA by DGA จัดพิธีปิดหลักสูตร e-GCEO#31 เตรียมหนุนไอเดียโครงการผ่านงบบูรณาการฯ พร้อมเร่งตอบโจทย์นโยบาย Cloud First


25 November 2567
สถาบัน TDGA by DGA จัดพิธีปิดหลักสูตร e-GCEO#31 เตรียมหนุนไอเดียโครงการผ่านงบบูรณาการฯ พร้อมเร่งตอบโจทย์นโยบาย Cloud First

สถาบันพัฒนาบุคลากรภาครัฐด้านดิจิทัล (TDGA) โดย DGA จัดพิธีปิดการฝึกอบรมหลักสูตรการพัฒนาผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูงภาครัฐ (GCIO) รุ่นที่ 31 (Government Chief Information Officer Development: GCIO#31) โดยได้รับเกียรติจาก ดร.ณหทัย ทิวไผ่งาม ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายประเสริฐ จันทรรวงทอง) กล่าวปิดหลักสูตรพร้อมมอบประกาศนียบัตรให้แก่ผู้บริหารระดับสูงทั้ง 44 ท่าน โดยมี นางไอรดา เหลืองวิไล รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล กล่าวรายงานสรุปผลการฝึกอบรม หลังจากรับฟังการนำเสนอรายงานการศึกษาดูงานด้านรัฐบาลดิจิทัล ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีนจากผู้ที่เข้าร่วมการฝึกอบรม เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2567 ณ โรงแรมอมารี วอเตอร์เกท กรุงเทพ

สถาบัน TDGA by DGA จัดพิธีปิดหลักสูตร e-GCEO#31 เตรียมหนุนไอเดียโครงการผ่านงบบูรณาการฯ พร้อมเร่งตอบโจทย์นโยบาย Cloud First

ดร.ณหทัย ทิวไผ่งาม กล่าวแสดงความยินดีแก่ผู้บริหารที่สำเร็จการฝึกอบรมหลักสูตร GCIO#31 พร้อมแสดงความชื่นชมที่ สถาบัน TDGA มุ่งฝึกอบรมบุคลากรภาครัฐตามนโยบายของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับนโยบายเรือธงของรัฐบาลภายใต้การนำของ นายกรัฐมนตรี แพรทองธาร ชินวัตร ที่ได้ให้ความสำคัญ เรื่อง การปฏิรูประบบราชการให้เป็น Digital Government โดยมีเป้าหมายที่จะปรับเปลี่ยนระบบราชการให้ทันสมัย คล่องตัว เน้นการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน พัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรภาครัฐ ตลอดจน การยกระดับงานบริการภาครัฐให้ตอบสนองความต้องการของประชาชนมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งได้มีการประกาศนโยบายการใช้คลาวด์เป็นหลัก (Cloud First Policy) ซึ่งเป็นการวางรากฐานรัฐบาลดิจิทัล ด้วยโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่มั่นคง ปลอดภัย เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและทุกภาคส่วนในการใช้บริการออนไลน์ต่าง ๆ โดยผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูงภาครัฐ (GCIO) ของทุกภาคส่วน จะเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญของการขับเคลื่อนหน่วยงานไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลที่ประสบความสำเร็จได้อย่างเป็นรูปธรรม และเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และเงื่อนไขการสำเร็จการศึกษาของหลักสูตรอย่างครบถ้วน สำหรับข้อเสนอโครงการบูรณาการเพื่อการขับเคลื่อนสู่รัฐบาลดิจิทัล ที่ผู้เข้าอบรมฯ นำเสนอไว้ 4 โครงการ ได้แก่ 1.    โครงการ “ความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างด้าน Transparency in IT Procurement “TITP” 2. โครงการ “เรียนดี จ้างได้ Thai ET – Thailand Education and Talent Management Platform” 3. โครงการ “การพัฒนาแพลตฟอร์มบริหารจัดการข้อมูลเปิดด้านการแพทย์ The development of the open data medical platform” และ 4. โครงการ “ช่วยได้ ขายดี SME Go Faster Smarter” อาจได้รับการพิจารณาบรรจุไว้ในแผนงานบูรณาการรัฐบาลดิจิทัล ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 ต่อไป

สถาบัน TDGA by DGA จัดพิธีปิดหลักสูตร e-GCEO#31 เตรียมหนุนไอเดียโครงการผ่านงบบูรณาการฯ พร้อมเร่งตอบโจทย์นโยบาย Cloud First

นางไอรดา เหลืองวิไล กล่าวว่า จากความมุ่งมั่นในการเดินหน้าตามภารกิจของสถาบัน TDGA มาอย่างต่อเนื่องจนมาถึงรุ่นที่ 31 มีบุคลากรภาครัฐผ่านการอบรมเพื่อเป็นฟันเฟืองสำคัญของการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลมาแล้ว 263 คน ซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ส่งผลให้ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ขององค์การสหประชาชาติ หรือ UN e-Government Survey ในปี 2567 ทะยานขึ้นอันดับที่ 52 จาก 193 ประเทศทั่วโลก โดยครองอันดับที่ 2 ในภูมิภาคอาเซียน รองจากประเทศสิงคโปร์ โดยเป้าหมายของไทยคือ การผลักดันให้ประเทศไทยอยู่ใน 40 อันดับแรกของโลกภายในปี 2570 ซึ่งจะเป็นหมุดหมายสำคัญที่ช่วยยกระดับศักยภาพของประเทศ ผลสำเร็จนี้สะท้อนถึงความตั้งใจของรัฐบาลและการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ที่ร่วมมือกันพัฒนาบริการดิจิทัลในรูปแบบใหม่ ๆ โดยมุ่งเน้นการสร้างแพลตฟอร์มกลางทางดิจิทัล หรือ โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่รองรับการบริการประชาชนในทุกด้าน รวมถึง การพัฒนาข้อมูลหลักของหน่วยงาน หรือ Master Data ให้มีคุณสมบัติที่ดีตามกรอบธรรมาภิบาลข้อมูล ซึ่งเป็นข้อมูลที่มีความมั่นคงปลอดภัย และมีมาตรการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่ถูกต้องเหมาะสมสอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานสากล รวมถึง เป็นข้อมูลที่มีคุณภาพดี สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลายมิติผ่านเครื่องมือดิจิทัล

ดังนั้น การเห็นถึงความสำคัญของการ upskill / reskill เพื่อให้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ปรับไปตามบริบทในโลกของยุค AI จึงเป็นวิสัยทัศน์สำคัญอย่างยิ่งของผู้บริหารระดับสูง หากเมื่อนำองค์ความรู้และประสบการณ์ตรงที่ได้สัมผัสจริงไปถ่ายทอดต่อยอดในองค์กรก็จะเป็นการขยายขอบเขตความรู้ที่ได้อย่างชาญฉลาด สำหรับการจัดอบรมหลักสูตร GCIO ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องถึงรุ่นที่ 31 มีเนื้อหาของหลักสูตรและกิจกรรมการพัฒนาผู้เรียนที่ตอบโจทย์ของการปรับเปลี่ยนภาครัฐให้เป็นรัฐบาลดิจิทัลอย่างครบถ้วนทั้ง 4 องค์ประกอบ ทั้ง ด้าน People การเสริมสร้าง Digital Mindset ด้าน Process การวิเคราะห์และปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานและบริการภาครัฐให้ง่าย สะดวก รวดเร็ว และมั่นคงปลอดภัย ให้ประชาชนเชื่อมั่นและกล้าที่จะใช้บริการ ด้าน Technology การเลือกใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่เหมาะสมมาใช้ในการปฏิบัติงานและการบริการประชาชน ด้าน Data กระบวนการบริหารจัดการและกำกับดูแลข้อมูลที่ชัดเจน เพื่อให้เป็นข้อมูลที่ดีและมีคุณภาพ สามารถแลกเปลี่ยนเชื่อมโยงและนำไปใช้ประโยชน์ได้ในหลายมิติ ปัจจุบันประเทศไทยมีขุมกำลังบุคลากรภาครัฐด้านทักษะดิจิทัลกระจายอยู่ทั่วประเทศมีการบูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปฏิบัติราชการด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างแท้จริง โดยรัฐบาลเองก็มีความยินดีสนับสนุนการดำเนินงานของทุกหน่วยงานก้าวสู่รัฐบาลดิจิทัลอย่างเต็มที่