7 ประโยชน์ที่หน่วยงานของรัฐจะได้รับ จากพระราชบัญญัติการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562


4 April 2562
43298

1. เกิดการบูรณาการร่วมกัน และลดปัญหาการทำงานซ้ำซ้อนระหว่างหน่วยงานของรัฐ

หน่วยงานของรัฐจะมีการทำงานที่บูรณาการกันมากขึ้น เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้ต้องเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลภาครัฐและการทำงานให้มีความสอดคล้องกัน รวมทั้งมีแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลเพื่อกำหนดกรอบและทิศทางการบริหารงานภาครัฐและการจัดทำบริการสาธารณะในรูปแบบดิจิทัล [อ้างอิง มาตรา 4 มาตรา 5 มาตรา 12 และมาตรา 13]

2. ลดขั้นตอนและระยะเวลาดำเนินการเนื่องจากมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เป็นเครื่องมือ

เจ้าหน้าที่ของรัฐจะเกิดความสะดวกและลดภาระในการปฏิบัติงานที่ซ้ำซ้อน เนื่องจากมีการนำระบบดิจิทัลมาที่เหมาะสมมาใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารงานและการให้บริการประชาชน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพรวมทั้งเกิดการทำงานอย่างเต็มศักยภาพ ตลอดจนสามารถเรียกใช้ข้อมูลภาครัฐที่ถูกจัดเก็บอยู่ในรูปแบบดิจิทัลมาใช้เพื่อสนับสนุนการทำงานได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ [อ้างอิง มาตรา 4 มาตรา 12 มาตรา 13 และมาตรา 15]

3. มีธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐเป็นกรอบในการบริหารจัดการข้อมูล

หน่วยงานของรัฐมีระบบบริหารจัดการข้อมูลของภาครัฐและข้อมูลของประชาชนที่อยู่ในการควบคุมหรือครอบครองของหน่วยงานของรัฐให้มีความมั่นคงปลอดภัย เนื่องจากมีธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐเป็นกรอบในการกำกับดูแลและการบริหารจัดการ รวมทั้งกำหนดสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบในการบริหารจัดการข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐ [อ้างอิง มาตรา 7 มาตรา 8 และมาตรา 12]

4. ภาครัฐโปร่งใส และประชาชนมีส่วนร่วม

หน่วยงานของรัฐมีระบบการทำงานที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ เนื่องจากกฎหมายนี้กำหนดให้ต้องเปิดเผยข้อมูลเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของราชการหรือข้อมูลเปิดภาครัฐผ่านรูปแบบหรือช่องทางดิจิทัล ขณะเดียวกันประชาชนสามารถใช้ข้อมูลเปิดภาครัฐในการมีส่วนร่วม ติดตาม และตรวจสอบการทำงานของภาครัฐได้ด้วย [อ้างอิง มาตรา 17 และมาตรา 18]

5. .ลดภาระค่าใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ

กฎหมายฉบับนี้มีวัถตุประสงค์สำคัญประการหนึ่ง โดยกำหนดให้การบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล จะต้องเป็นไปเพื่อรักษาวินัยการเงินการคลังและเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ ให้เกิดความคุ้มค่าและเป็นไปตามเป้าหมาย โดยมีการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินความคุ้มค่าของการดำเนินการ รวมทั้งต้องพัฒนาให้มีกลไกการใช้ข้อมูลเพื่อลดความซ้ำซ้อนและเกิดความสอดคล้องกับแผนงานและโครงการต่าง ๆ ของหน่วยงานของรัฐด้วย [อ้างอิง มาตรา 4 (5)]

6. เจ้าหน้าที่ของรัฐได้รับการพัฒนาหรือยกระดับทักษะด้านดิจิทัล

กฎหมายฉบับนี้กำหนดให้คณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลมีหน้าที่และอำนาจที่สำคัญประการหนึ่งในการกำหนดแนวทางการพัฒนาศักยภาพบุคลากรภาครัฐเพื่อประโยชน์ในการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล ขณะเดียวกันยังกำหนดให้ สพร. มีหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนทางวิชาการเพื่อยกระดับทักษะความรู้ความสามารถด้านดิจิทัลให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ นอกจากนี้ยังกำหนดให้หน่วยงานของรัฐต่าง ๆ มีหน้าที่ต้องส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลแก่เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานอีกด้วย [อ้างอิง มาตรา 7 (4) มาตรา 10 (6) และมาตรา 12 (6)]

7. สร้างความพึงพอใจให้กับประชาชนผู้รับบริการจากภาครัฐ

เมื่อการดำเนินการต่าง ๆ บรรลุเจตนารมณ์ตามกฎหมายฉบับนี้ ตลอดจนสามารถพัฒนาหน่วยงานของรัฐให้ยกระดับสู่การเป็น "รัฐบาลดิจิทัล" ประโยชน์สุดท้ายย่อมเกิดแก่ประชาชน กล่าวคือเมื่อได้รับความสะดวก รวดเร็ว ไม่สร้างภาระเกินจำเป็นจากบริการภาครัฐ ประชาชนย่อมเกิดความพึงพอใจ และเกิดความรู้สึกที่ดีต่อกันระหว่างภาครัฐในฐานะผู้ให้บริการและประชาชนในฐานะผู้รับบริการ [อ้างอิง วัตถุประสงค์ของกฎหมายในมาตรา 4]