เราต้องการธรรมาภิบาลในการจัดการข้อมูลโดยด่วน
เราต้องการธรรมาภิบาลในการจัดการข้อมูลโดยด่วน
โดยดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์
ภาครัฐกำลังดำเนินการในการปรับปรุงและออกกฏหมายใหม่ๆ ในการบริหารจัดการข้อมูลของภาครัฐและเอกชน อย่างน้อยอีก 3 ฉบับ ฉบับแรกคือ ร่างพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารสาธารณะ ซึ่งจะเป็นการปรับปรุง พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการที่ใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 ให้ทันสมัยและครอบคลุมมากขึ้น ส่วนอีกกฎหมายฉบับที่รอมานานคือ ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่จะบังคับใช้ทั้งรัฐและเอกชน ส่วนฉบับล่าสุดคือ ร่างพระราชบัญญัติข้อมูลความมั่นคงของรัฐและความลับของทางราชการ ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2560
ซึ่งการเตรียมการในเรื่องนี้ จะประจวบเหมาะกับนโยบายรัฐบาลที่กำลังส่งเสริมเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัลและการมุ่งสู่ Thailand 4.0 ในที่สุด เพราะในยุคดิจิทัลข้อมูลจะเป็นหัวใจของทุกสิ่งเลยก็ว่าได้ จากการที่ประชาชนคนไทยเข้าถึงอินเทอร์เน็ตกว่า 80% แล้ว พร้อมกับนโยบาย National e-Payment ที่อีกไม่นานการใช้ QR Code กลางในการจ่ายเงินโดยไม่ได้ต้องใช้เงินสดจะแพร่หลายไปทั่ว เหล่านี้ยิ่งเน้นความสำคัญของข้อมูลที่จะวิ่งผ่านระบบดิจิทัลต่างๆ กันอย่างลื่นไหล ประเด็นที่สำคัญในตอนนี้คือ เราจะจัดการข้อมูลดิจิทัลให้มีประสิทธิภาพ มีความมั่นคงปลอดภัย และที่สำคัญคือจะมีธรรมาภิบาลอย่างไร ยิ่งกว่านั้นการเริ่มใช้ข้อมูลขนาดใหญ่หรือ Big Data และการใช้เทคโนโลยีอย่าง Cloud Computing ในการจัดเก็บข้อมูล จะทำให้รูปแบบการจัดการข้อมูลเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เราจึงต้องมีกรอบการจัดการธรรมาภิบาลข้อมูลของประเทศได้แล้ว
คำว่า ธรรมาภิบาลของข้อมูล หรือ Data Governance เป็นเรื่องที่ใหม่มากสำหรับภาครัฐไทยเพราะเราไม่เคยชินกับการใช้ข้อมูลในการดำเนินการที่ผ่านมามากนัก เพราะการใช้กระดาษเป็นหลักทำให้หลายๆ ขั้นตอนของการจัดการข้อมูลไม่เป็นระบบ พอจะเปลี่ยนเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ กระบวนการที่ทำให้เกิดธรรมภิบาลเลยต้องมาวางใหม่กันหมด อีกอย่างคือวัฒนธรรมการใช้ข้อมูลของในการวางแผนยังมีน้อย อาจจะเป็นเพราะมีข้อมูลไม่เพียงพอต่อการวางแผน สิ่งที่มักจะเห็นคือ การหารเฉลี่ยเป็นรายจังหวัด/อำเภอ/ตำบล/หมู่บ้าน
ผลที่ได้รับของการจัดการข้อมูลที่มีธรรมาภิบาล คือ จะมีการแบ่งประเภทข้อมูลที่ชัดเจน เกิดมาตรฐานที่จำเป็น มีนโยบายการใช้งานที่เหมาะสมตามประเภท ไปจนถึงการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล สิ่งที่ได้ต่อไปคือเจ้าหน้าที่ภาครัฐจะมีความเข้าใจมากขึ้นในการใช้ข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ หน่วยงานเองก็จะได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานให้เหมาะสมกับยุคดิจิทัล อาจจำเป็นต้องมีตำแหน่ง ผู้บริหารข้อมูลในระดับบริหารหรือ Chief Data Officer ประจำหน่วยงาน แน่นอนกระบวนการทำงานก็จะเปลี่ยนไปด้วย นี่คือสิ่งที่เริ่มทำให้ภาครัฐเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล หรือ Digital Transformation นั่นเอง
———————————–
ตีพิมพ์ลงใน หนังสือพิมพ์ Posttoday ฉบับวันที่ 23 พฤศจิกายน 2560
คอลัมน์ e-Government หมวดเศรษฐกิจดิจิทัล หน้า C7