ภาครัฐต้องหันมาใช้ข้อมูลบิกดาต้าจากโซเชียลมีเดียได้แล้ว


25 October 2560
4235

ภาครัฐต้องหันมาใช้ข้อมูลบิกดาต้าจากโซเชียลมีเดียได้แล้ว
โดยดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์

ในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา เกิดปรากฏการโพสต์ข้อมูลน้ำท่วมต่างๆ บนสื่อโซเชียลมีเดียกันอย่างมากมาย มีทั้งข้อมูลที่เป็นภาพถ่าย ภาพเคลื่อนไหว ไปจนถึงข้อความที่มีการติดแฮชแท็ก นี่คือข้อมูลบิกดาต้า (Big Data) อย่างแท้จริงเลย เพราะมีทั้งมิติในด้านขนาดของข้อมูลที่ใหญ่โตมโหฬาร มีความหลากหลายในรูปแบบต่างๆ บางอย่างไม่มีโครงสร้างที่แน่นอนเลย และที่สำคัญที่สุดคือ เวลาของข้อมูลนั้นๆ มีนัยยะสำคัญอย่างยิ่งยวด 

ความยากของการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่หรือบิกดาต้าในกรณีข้างต้นคือ การที่ต้องมีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ ตั้งแต่การจัดเก็บ การวิเคราะห์ สังเคราะห์ เพื่อนำไปสู่การทำความเข้าใจข้อมูลเหล่านี้ ที่สามารถตอบโจทย์ปัญหาต่างๆ ได้อย่างตรงจุด ทันท่วงที และนำไปสู่การสร้างความรู้ใหม่ๆ ที่ได้จากการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อจะนำไปสู่ความสามารถในการคาดการณ์เหตุการณ์ล่วงหน้าได้อย่างใกล้เคียง

ข้อดีของการนำข้อมูลจากสื่อโซเชียลมีเดียมาใช้คือ สามารถนำไปใช้ได้อย่างไม่ยากนัก เพราะมีระบบรองรับการนำไปต่อยอดอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องมีการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลให้เหมาะสม ดังนั้นการตรวจสอบข้อมูลจากหลายๆ แหล่งเพื่อให้แน่ใจว่าข้อเท็จจริงน่าจะคืออะไรกันแน่ เป็นหัวใจของการวิเคราะห์ การตีความหมายของข้อมูลที่เป็นภาพ หรือภาพเคลื่อนไหวให้กลายเป็นสารสนเทศที่นำไปใช้ในการวิเคราะห์ต่อที่เหมาะสม จำเป็นต้องมีการพัฒนาแบบจำลอง (Model) ที่มีประสิทธิภาพเพียงพอและใช้ได้ในทุกกรณี เหล่านี้หมายความว่า ต้องมีการเตรียมการบุคคลากรที่มีความรู้ความสามารถให้พร้อมด้วย

โดยทั่วไปในการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่แบบนี้ จะมีต้องมีการตั้งทีมบิกดาต้าภายในองค์กร ที่ประกอบด้วยคนหลากหลายความเชี่ยวชาญ ไม่ว่าจะเป็น นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientist) นักสถิติ ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ ดังนั้นการจะเริ่มใช้ข้อมูลขนาดใหญ่สำหรับภาครัฐ สิ่งสำคัญคือ การสร้างคนภาครัฐให้เข้าใจว่า บิกดาต้าคืออะไร สิ่งที่สำคัญคือ การวิเคราะห์จากข้อมูลในลักษณะนี้จะนำใช้ทำอะไร และโดยความเป็นจริงแล้ว ไม่ว่าจะเป็น Small Data หรือ Big Data หัวใจที่สำคัญคือความเข้าใจในการนำไปใช้ต่อนั่นเอง

———————————–
ตีพิมพ์ลงใน หนังสือพิมพ์ Posttoday ฉบับวันที่ 26 ตุลาคม 2560
คอลัมน์ e-Government หมวดเศรษฐกิจดิจิทัล หน้า C7