การใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ภาครัฐจะถูกทดแทนด้วย AI ในอนาคต


20 July 2560
5222

การใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ภาครัฐจะถูกทดแทนด้วย AI ในอนาคต
โดยดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์

หนึ่งในปัจจัยที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดคอร์รัปชันในภาครัฐคือ ระเบียบต่างๆ ที่ให้การตัดสินใจในบางกระบวนการเป็นการใช้ดุลพินิจโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจเรื่องค่าใช้จ่าย หรือผลลัพธ์ของการขออนุญาตหรืออนุมัติ บางกรณีการตัดสินใจเป็นไปตามกฎระเบียบที่มีความยุ่งยากและซับซ้อนมาก ส่งผลให้การใช้ดุลพินิจมีความยากในการได้มาซึ่งการตัดสินใจที่ถูกต้องจริงๆ

ในยุคดิจิทัลที่ความก้าวหน้าในด้านการประมวลผลข้อมูลไปถึงจุดที่สามารถส่งผลแบบ Real time ได้โดยไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายสูงเหมือนในอดีต รวมถึงการพัฒนาด้านปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) ที่มีมานานหลายสิบปีได้เริ่มเห็นผลทางปฎิบัติแล้ว ตัวอย่างเช่น AlphaGo คือความสำเร็จของการใช้ AI ที่เป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง นอกจากนี้ผลของการสร้างข้อมูลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลในโซเชียลมีเดีย หรือข้อมูลจากการใช้สมาร์ตโฟน ก่อให้เกิดข้อมูลขึ้นอย่างมโหฬาร เกิดเป็น Big Data ในทุกวงการ ทำให้การพัฒนาโมเดลต่างๆ ของ AI ถูกยกระดับไปสู่การเป็นโปรแกรมที่เลียนแบบความฉลาดของมนุษย์ได้ใกล้เคียงมากขึ้นทุกที

ภาครัฐเองมีการใช้ข้อมูลต่างๆ ในรูปแบบที่หลากหลายอย่างมากมาย มีการเชื่อมโยงฐานข้อมูลภาครัฐที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลา ทำให้เกิดระบบดิจิทัลที่มีการนำข้อมูลไปใช้ในลักษณะต่างๆ อย่างเช่น การขออนุญาตหรืออนุมัติ ในแบบออนไลน์ เป็นต้น เพียงแต่ขั้นตอนเหล่านี้ยังต้องให้เจ้าหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการอยู่ ยังไม่ได้ใช้ความสามารถของเทคโนโลยีดิจิทัลในขั้นสูงเลย 

แม้ว่ายังเป็นเรื่องใหม่ แต่เทคโนโลยีด้านปัญหาประดิษฐ์ หรือ AI ได้ถูกบรรจุให้เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่นำมาใช้ตามแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย พ.ศ. 2560-2564  โดยมีการระบุว่า AI จะถูกนำมาใช้ในด้านที่ต้องการความเชี่ยวชาญขั้นสูง อาทิ ด้านสาธารณสุขในเรื่องการวินิจฉัยโรค ในด้านการศึกษาสำหรับการเรียนรู้ในยุคใหม่ ด้านความมั่นคงโดยการตรวจสอบใบหน้า (Face Recognition) ในเรื่องต่างๆ แบบอัตโนมัติ และด้านการตรวจสอบกฏหมายต่างๆ เช่น งบการเงินและภาษีที่มีการใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ เป็นต้น

แน่นอนเมื่อการเชื่อมโยงฐานข้อมูลหลักๆ ครบถ้วน การประยุกต์ใช้งาน AI จะเริ่มเห็นความเป็นไปได้ เรากำลังพูดถึงระบบตัดสินใจบางอย่างของภาครัฐที่ไม่ต้องใช้เจ้าหน้าที่เลย เมื่อวันนั้นมาถึงรัฐบาลดิจิทัลไม่ใช่แค่ตอบโจทย์ความต้องการประชาชนในด้านอำนวยความสะดวกเท่านั้น แต่เป็นการดำเนินงานที่ชาญฉลาดอย่างแท้จริง

———————————–
ตีพิมพ์ลงใน หนังสือพิมพ์ Posttoday ฉบับวันที่ 22 กรกฎาคม 2560
คอลัมน์ e-Government หมวดเศรษฐกิจดิจิทัล หน้า C7

ป้ายกำกับ : AI