จำเป็นหรือไม่ที่ภาครัฐต้องมีเว็บไซต์เป็นร้อยเป็นพัน
จำเป็นหรือไม่ที่ภาครัฐต้องมีเว็บไซต์เป็นร้อยเป็นพัน
โดยดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์
จากสถิติการจดทะเบียนอินเทอร์เน็ตโดเมนขององค์กรต่างๆ ในประเทศไทย พบว่าชื่อโดเมนสำหรับหน่วยงานราชการ หรือ ที่ลงท้ายด้วย .go.th มีถึง 7,500 โดเมน และ .ac.th สำหรับภาคการศึกษามีกว่า 6,000 โดเมน ในจำนวนนี้อาจจะไม่ทั้งหมดที่ใช้สำหรับเว็บไซต์ แต่น่าจะเกินครึ่งแน่ๆ นอกจากนี้ในเว็บไซต์ www.govchannel.go.th พบว่า มีเว็บไซต์ภาครัฐที่ให้บริการ e-Service กว่า 900 บริการ
ไม่แปลกใจเลยที่รายงานที่ออกโดยหน่วยงานสากลที่ชื่อว่า OASIS ในปี 2012 กล่าวไว้ว่า การดำเนินงานด้านรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศส่วนใหญ่ที่ผ่านมา เต็มไปด้วยการลงทุนที่ซ้ำซ้อน มีการใช้ทรัพยากรด้านไอทีที่ไม่คุ้มค่า แต่ยิ่งกว่านั้นคือ บริการออนไลน์ภาครัฐกลับไม่ได้รับความสนใจในการเข้าไปใช้จากประชาชนมากเท่าที่ควร แม้กระทั่งประเทศพัฒนาอย่างนิวซีแลนด์ ที่ประกาศแผนรัฐบาลดิจิทัลในปี 2015 ซึ่งในแผนมีรูปแสดงภาพของเว็บไซต์ภาครัฐจำนวนหนึ่งโดยใต้ภาพมีการอธิบายว่า นี่คือบางส่วนของเว็บไซต์รัฐจากทั้งหมดกว่า 10,000 เว็บไซต์
หนึ่งในเหตุผลของการเติบโตของจำนวนเว็บไซต์ภาครัฐคือ การขยายภารกิจของรัฐตามการเปลี่ยนแปลงต่างๆ อย่างประเทศไทยเองที่มีการเพิ่มไปเป็น 20 กระทรวงเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว จากวันนั้นจนถึงวันนี้ มีการตั้งหน่วยงานรัฐระดับกรมขึ้นเรื่อยๆ การขยายบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวนสถานศึกษาใหม่ๆ เหล่านี้ทำให้จำนวนเว็บไซต์ภาครัฐเพิ่มขึ้นอย่างมาก
แต่ในมุมมองประชาชนแล้ว ไม่ได้ต้องการอะไรที่มากมายขนาดนั้น พวกเขาต้องการอะไรที่คล้ายๆ กูเกิ้ล พวกเขาไม่ทราบหรอกว่า ธุรกรรมแบบนี้ต้องไปกรมไหน รู้แต่ว่ามีปัญหาแบบนี้ควรจะไปที่ไหน และทำอย่างไร นี่คือสิ่งที่รัฐบาลอังกฤษประกาศนโยบายรวมศูนย์เว็บไซต์ภาครัฐ โดยให้ยกเลิกเว็บไซต์ของทุกหน่วยงาน แต่สร้างแค่เว็บไซต์เดียวคือ www.gov.uk ที่รวมข้อมูลและบริการภาครัฐมาอยู่ที่เดียว และให้ทุกหน่วยงานแค่เชื่อมโยงข้อมูลของตนเองมาที่เว็บไซต์กลาง มีการจัดระเบียบและหมวดหมู่ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ส่งผลให้เกิดความสะดวกแก่ผู้ใช้อย่างเห็นผลทันที
บ้านเราเองแม้จะยังทำแบบนี้ไม่ได้ แต่ได้มีการสร้างเว็บไซต์ www.govchannel.go.th ที่เริ่มร่วมข้อมูลและบริการภาครัฐให้มาอยู่ที่เดียวกัน แม้ว่าในเบื้องต้นจะยังเป็นแค่การรวมลิ้งค์ แต่หลายอย่างก็ได้เริ่มบูรณาการให้เป็นเนื้อเดียวกันบ้างแล้ว และนี่เองจะนำไปสู่การรวมศูนย์บริการข้อมูลและบริการภาครัฐที่เบ็ดเสร็จและครบวงจรอย่างแท้จริงในที่สุด
———————————–
ตีพิมพ์ลงใน หนังสือพิมพ์ Posttoday ฉบับวันที่ 27 เมษายน 2560
คอลัมน์ e-Government หมวดเศรษฐกิจดิจิทัล หน้า C7