9 ธันวาคม วันต่อต้านคอร์รัปชั่นสากล (International Anti-Corruption Day)
สหประชาชาติ ( UN ) กำหนดให้ วันที่ 9 ธันวาคม ของทุกปี
เป็นวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (International Anti-Corruption Day)
วันต่อต้านคอร์รัปชันสากล ถือกำเนิดขึ้นหลังจากที่ประชุมใหญ่สมัชชาสหประชาชาติ (UN) มีมติเห็นชอบ อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ.2003 (United Nations Convention against Corruption-UNCAC, 2003) อย่างเป็นเอกฉันท์เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2546 จากนั้นประเทศภาคีสมาชิก UN 191 ประเทศรวมทั้งประเทศไทย ได้เข้าร่วมลงนามในอนุสัญญาฯ ระหว่างวันที่ 9 -11 ธันวาคม 2546 ณ เมืองเมอริด้า ประเทศเม็กซิโก ดังนั้น UN จึงประกาศให้วันที่ 9 ธันวาคมของทุกปีเป็นวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (International Anti-Corruption Day) โดยในปี 2016 นี้ธีมคือ "United against corruption for development, peace and security"
(ที่มา: http://www.un.org/en/events/anticorruptionday/)
สำหรับอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ. 2003 ได้กำหนดประเด็นความร่วมมือที่สำคัญของรัฐภาคี 3 ประการ ดังนี้
1. ด้านมาตรการเชิงป้องกัน :ทุกประเทศต้องมุ่งป้องกันปัญหาคอร์รัปชั่นเป็นอันดับแรก
2. ด้านการบัญญัติความผิดทางอาญา :ทุกประเทศต้องถือว่าการคอร์รัปชั่นทุกรูปแบบคืออาชญากรรม
3. ด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ :ทุกประเทศต้องให้ความร่วมมือในการทำให้อนุสัญญามีผลในทางปฏิบัติได้จริง
ซึ่งในปี 2558 ที่ผ่านมา ผลการจัดอันดับดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน ประจำปี 2558 (Corruption Perceptions Index 2015) ผลคะแนนภาพลักษณ์คอร์รัปชันโลกประจำปี 2558 ประเทศไทยได้ที่ 76 จาก 168 ประเทศ
โดยเลขาธิการมูลนิธิองค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย (Transparency Thailand) เปิดเผยผลการจัดอันดับดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน ประจำปี 2558 ประเทศไทยได้คะแนน 38 คะแนนจากคะแนนเต็ม 100 คะแนน อยู่อันดับที่ 76 จาก 168 ประเทศทั่วโลก และเป็นอันดับที่ 3ในกลุ่มประเทศอาเซียน
ดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน ประจำปี พ.ศ. 2558 ของประเทศในภูมิภาคอาเซียน
(ที่มา: http://thaipublica.org/2016/01/corruption-perceptions-index-2015-thailand/)
จากผลดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์ปัญหาคอร์รัปชันของประเทศต่างๆ ทั่วโลก แสดงให้เห็นว่าปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันยังคงเป็นปัญหาสำคัญที่ทุกประเทศต้องเร่งแก้ไข มิเช่นนั้นจะทำให้เกิดปัญหาอื่นตามมา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ที่สำคัญมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและปราบปรามการทุจริตโดยการแสดงพลังและเจตนารมณ์ให้ทั่วโลกได้เห็น โดยทุกประเทศร่วมกันจัดงานวันต่อต้านคอร์รัปชัน ซึ่งกำหนดขึ้นอย่างเป็นสากล ในวันที่ 9 ธันวาคม ของทุกปีกำหนดเป็นวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล
ทุกคนจึงสามารถมีส่วนร่วมในการเป็นหูเป็นตาเพื่อแก้ปัญหาคอร์รัปชันได้เพียงแค่แจ้งข่าวสาร และอย่าปล่อยให้เกิดการกระทำผิดรอบๆ ตัวคุณ