Digital Economy
(Pic source: http://www.hyperweb.com.au, http://static.guim.co.uk)
Digital Economy
โดย ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ (อธิการบดี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์)
ประธานกรรมการคณะกรรมการบริหาร สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน)
คนไทยรู้จักคำว่า Digital Economy เมื่อรองนายกรัฐมนตรีท่านใหม่ผู้รับผิดชอบด้านเศรษฐกิจ คือ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล แถลงนโยบายว่าต้องสนับสนุนให้เกิด Digital Economy ขึ้น เพื่อเปลี่ยนรูปภาคเกษตร อุตสาหกรรม และบริการดั้งเดิมของเรา ลองมาดูความหมายของคำนี้กัน
Digital Economy หมายถึงเศรษฐกิจที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศหรือไอที (ซึ่งมีอินเตอร์เน็ตเป็นหลัก) เป็นปัจจัยสำคัญ สิ่งที่เราเรียกว่า E-Commerce หรือการค้าขายกันทางอินเตอร์เน็ตคือลักษณะหนึ่งของ Digital Economy
ผู้บัญญัติศัพท์นี้ขึ้นเป็นคนแรกคือ Don Tapscott ผู้เขียนหนังสือชื่อ “The Digital Economy : Promise and Peril in the Age of Networked Intelligence” ใน ปี 1995 หนังสือเล่มนี้เป็นเบสส์เซลเลอร์ระดับชาติภายในเวลา 1 เดือน และคงความเป็นหนังสือยอดฮิตอยู่หลายเดือน ในที่สุดก็ได้เป็นหนังสือด้านไอเดียธุรกิจที่ฮิตอันดับ 1 ในปี 1996
Tapscott ชี้ให้เห็นว่าอินเตอร์เน็ตจะเปลี่ยนวิถีของการค้าขายอย่างชนิดที่โลกไม่เคย เห็นมาก่อน โดยจำเป็นต้องมีโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที กฎกติกาและกฎหมาย การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนการปรับตัวและปรับทัศนคติของประชาชน
Digital Economy มีชื่ออื่นอีกเช่น The Internet Economy / The New Economy หรือ Web Economy อย่างไรก็ดีชื่อที่คนนิยมที่สุดคือ Digital Economy
Digital Technology เป็นฐานสำคัญของไอทีซึ่งอาศัยการใช้เลข 0 และ 1 ซึ่งอยู่ในลักษณะของ Binary System (ถ้าเป็น Decimal System ก็จะเป็นฐาน 10 กล่าวคือประกอบด้วยเลข 0 ถึง 9) ในการส่งสัญญาณ ซึ่งการส่งสัญญาณ 0 และ 1 ส่วนใหญ่กระทำผ่านใยแก้วนำแสง (Optic Fiber)
ไอทีคือการผนวกเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เข้ากับเทคโนโลยีโทรคมนาคม สังคมที่มีโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม (เช่นเครือข่ายใยแก้วนำแสงเป็นตัวกลางนำเสียง ข้อมูลและภาพสู่โทรศัพท์และอุปกรณ์ไอทีทั้งหลาย / ชุมสาย / เสาส่งสัญญาณ / สถานีรีเลย์สัญญาณ ฯลฯ) ที่มีคุณภาพและครอบคลุมกว้างขวาง มีการบริหารจัดการเครือข่ายที่ดี ตลอดจนมีการประยุกต์ซอฟต์แวร์ และมีกลไกในการประสานการใช้โครงสร้างพื้นฐานที่ดี จะเป็นกุญแจสำคัญสู่การเป็น Digital Economy
การเป็น Digital Economy ทำให้เกิดสิ่งต่อไปนี้
ประการสำคัญ Digital Economy อำนวยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของภาคต่าง ๆ มีมูลค่าสูงยิ่งขึ้นและมีประสิทธิภาพสูงขึ้นด้วย นอกจากนี้ยังสนับสนุนความแข็งแกร่งในการกำหนดกลยุทธ์การตลาดอันเนื่องมาจาก การมีข่าวสารข้อมูลที่กว้างขวางและลึกซึ้งยิ่งขึ้น
ภาค Hospitality ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมท่องเที่ยว พักผ่อนหย่อนใจ อาหาร บันเทิง การเดินทาง wellness (นวด สปา รักษาพยาบาล) ซึ่งกำลังจะมีความสำคัญในภูมิภาคของ CLMV (Cambodia-Laos-Myanmar-Vietnam) จีนตอนใต้และไทยมากยิ่งขึ้นจะได้อานิสงส์เป็นอย่างมากจากการเป็น Digital Economy
ปัจจุบันบ้านเรามีเครือข่ายใยแก้วนำแสงอย่างกว้างขวางไปถึงประชาชน 1 ใน 3 ของอำเภอทั้งหมด และตำบลใหญ่ ๆ เครือข่ายโทรคมนาคมของเราก็กระจายตัวไปเกือบทั่วประเทศ อีกทั้งมีการผนวกกิจกรรมเศรษฐกิจเข้ากับไอที จนอาจเรียกได้ว่าเราเป็น Digital Economy ในระดับหนึ่งในภาครัฐเอง สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สรอ.) ซึ่งทำหน้าที่ส่งเสริมการใช้ไอทีของงานภาครัฐก็วางโครงสร้างพื้นฐานของอินเตอร์เน็ตของภาครัฐไว้กว้างขวาง และสามารถนำเอาฐานข้อมูลของหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐจำนวนหนึ่งมารวมกันไว้ เพื่อความสะดวกในการใช้ของประชาชน หน่วยงานของรัฐชื่อสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) ก็ได้วางรากฐานกฎหมายของการต่อยอดขึ้นไปเป็น Digital Economy ไว้พอควรแล้ว เช่นเดียวกับองค์กรของภาครัฐที่สนับสนุนการผลิตซอฟต์แวร์ และการใช้ไอทีในการผลิตและให้บริการ
ถ้ารัฐบาลเอาจริงในเรื่องการสร้าง Digital Economy ก็จะทำให้สามารถต่อยอดขึ้นไปจากฐานที่มีอยู่ได้เป็นอย่างดี ด้วยการประสานงานของหน่วยงานต่าง ๆ เข้าด้วยกัน มีแผนพัฒนาเป็นขั้นตอนโดยมีลำดับความสำคัญ อะไรที่ขาดก็เติมให้เต็มและร่วมใช้ทรัพยากรกัน ก็เชื่อได้ว่าจะทำได้สำเร็จในระดับหนึ่งในเวลาพอควร และจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันและอนาคต
ปัจจุบัน Tapscott คนคานาดาผู้ประดิษฐ์คำว่า Digital Economy เป็นกูรูสำคัญของโลกในด้านการให้คำปรึกษาทางธุรกิจ เขาเขียนหนังสือธุรกิจร่วมกับคนอื่นรวม 15 เล่ม หลายเล่มดังระดับโลก เมื่อไม่นานมานี้กลุ่ม Thinkers50 ได้เรียงลำดับท๊อป 50 คน ในโลกซึ่งยังมีชีวิตอยู่ที่มีอิทธิพลต่อแนวคิดด้านธุรกิจมากที่สุด ผลก็คือ Tapscott อยู่ในอันดับที่ 4 ผู้เขียนรู้สึกตื่นเต้นและยินดีกับความสำเร็จของ Tapscott ผู้เกิดวันเดียวเดือนเดียวและ ปีเดียวกับผู้เขียน จำนวนนาทีที่เราสองคนมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ต่างกันอย่างมากก็ไม่เกิน 60 x 24 หรือ1,440 นาที
ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันอังคารที่ 23 ก.ย.2557
เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ ThaiPublica เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2557
http://thaipublica.org/2014/09/digital-economy/