Open Data : ระดับการเปิดเผยข้อมูล 5 ระดับ


29 May 2558
15544

การกำหนดรูปแบบของข้อมูลเปิดภาครัฐมีผลต่อการนำชุดข้อมูลไปประยุกต์ใช้สร้างสรรค์นวัตกรรม เพื่อตอบสนองการขับเคลื่อนนโยบายดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 

หน่วยงานภาครัฐเปิดเผยข้อมูลข่าวสารอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 มีผลบังคับใช้ เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลการดำเนินงานของรัฐ ซึ่งเป็นการสร้างความโปร่งใส การมีส่วนร่วมของประชาชน รวมถึงเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศด้านการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ

ปัจจุบัน ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารราชการได้ด้วยการเข้าใช้เว็บไซต์ของหน่วยงานภาครัฐ โดยมักพบไฟล์ข้อมูลในรูปแบบ PDF, XLS และ DOC ที่สามารถดาวน์โหลดหรือเปิดอ่านได้ด้วยโปรแกรมที่ประชาชนใช้อยู่แล้วโดยทั่วไป

อย่างไรก็ตาม สำหรับยุคเศรษฐกิจดิจิทัล การผลักดันให้เกิดการเปิดเผยข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐในแนวทางเดียวกันมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อให้เกิดการจัดทำข้อมูลเปิดภาครัฐ (Open Government Data) รวมถึงชุดข้อมูล (Data set) ที่จะสามารถนำไปใช้สร้างสรรค์นวัตกรรมทางเศรษฐกิจ สังคม และชีวิตความเป็นอยู่ เพื่อนำไปสู่การเป็นประเทศที่มีความเข้มแข็ง และความก้าวหน้าด้วยความสามารถของการเข้าถึงแหล่งข้อมูลความรู้

สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สรอ.) หรือ อีจีเอ จึงบริหารจัดการโครงการศูนย์กลางข้อมูลภาครัฐ (Open Government Data Center) ภายใต้ชื่อ Data.go.th โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งเน้นการพัฒนาระบบศูนย์กลางสำหรับให้บริการข้อมูลเปิดภาครัฐ และเพื่อการเผยแพร่ความรู้ รวมถึงสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐในการจัดทำ Open Data

แนวทางเบื้องต้นในการจัดทำ Open Data
1. ทำให้ง่ายเข้าไว้ เริ่มต้นด้วยสิ่งที่เล็ก ง่าย และเร็ว ไม่จำเป็นว่าทุกๆ ชุดข้อมูลจะต้องถูกสร้างให้ open ในตอนนี้ เริ่มต้นด้วยการเปิดเพียงแค่ 1 ชุดข้อมูล หรือแม้แต่ 1 ส่วนของชุดข้อมูลขนาดใหญ่ก็เพียงพอแล้วสำหรับการเริ่มต้น 
2. มีส่วนร่วมตั้งแต่แรกและบ่อยๆ การมีส่วนร่วมกับผู้ใช้งานจริงที่นำข้อมูลไปใช้ตั้งแต่ในระยะแรกและบ่อยเท่าที่ทำได้ ไม่ว่าจะเป็นภาคประชาชน ภาคธุรกิจ หรือกลุ่มนักพัฒนา จะทำให้การพัฒนาบริการของหน่วยงานนั้น มีความสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนได้ง่ายขึ้น เนื่องจากข้อมูลจำนวนมากจะไปไม่ถึงผู้ใช้งานโดยตรง แต่จะต้องผ่าน ‘info-mediaries’ ที่มีการดึงข้อมูลและแปลงหรือเรียบเรียงขึ้นใหม่เพื่อนำมาเสนอ ตัวอย่างเช่น ส่วนใหญ่เราจะไม่ต้องการฐานข้อมูลพิกัด GPS ขนาดใหญ่ แต่เราจะต้องการแผนที่มากกว่า ดังนั้นจึงต้องทำในส่วนตัวกลางข้อมูลก่อน 
3. ขจัดความกลัวและความเข้าใจผิดโดยทั่วไป ซึ่งมีความสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลของภาครัฐ เมื่อมีการเปิดเผยข้อมูล อาจจะต้องเจอกับคำถามและความกลัวมากมาย ดังนั้นสิ่งสำคัญคือ (1) ระบุสิ่งที่สำคัญมากที่สุด และ (2) จัดการสิ่งเหล่านั้นในระยะแรกที่สุดเท่าที่เป็นไปได้

ระดับการเปิดเผยข้อมูล 5 ระดับ

Data.go.th กำหนดระดับการเปิดเผยข้อมูล เพื่อให้สามารถพิจารณาถึงการนำไปใช้ได้สะดวกมากยิ่งขึ้น โดยจัดระดับการเปิดเผยข้อมูล 5 ระดับ ดังนี้

ระดับการเปิดเผย

รายละเอียด

ประเภทข้อมูล

★ (1 ดาว)

เผยแพร่ข้อมูลในทุกรูปแบบบนเว็บไซต์ 

PDF, DOC, TXT, TIFF, JPEG

★★ (2 ดาว)

เผยแพร่ข้อมูลในรูปแบบ Structured data ที่เครื่องสามารถอ่านได้ (Machine-readable) เช่น ข้อมูลอยู่ในรูปแบบไฟล์ Excel 

XLS

★★★ (3 ดาว)

เผยแพร่ข้อมูลในรูปแบบ Non-proprietary format เช่น ข้อมูลในรูปแบบ CSV แทนรูปแบบ Excel

CSV, ODS, XML, JSON, KML,
SHP, KMZ 

★★★★ (4 ดาว)

ใช้ URI (Uniform Resource Identifier) ในการระบุตัวตนของทรัพยากร (ข้อมูล) และชี้ไปยังตำแหน่งของทรัพยากรนั้น

RDF (URIs)

★★★★★ (5 ดาว)

ข้อมูลมีการเชื่อมโยงไปสู่แหล่งข้อมูลอื่นๆ ในบริบทที่เกี่ยวข้องกันได้

RDF (Linked Data)

*ที่มา : เอกสารประกอบการบรรยายงานสัมมนา Open Government Data Conference 2015 วันที่ 26 พฤษภาคม 2558
**ดูคำอธิบายชุดข้อมูลได้ที่ https://data.go.th/dataset

หน่วยงานภาครัฐที่ต้องการจัดทำชุดข้อมูล สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติม และติดตามข้อมูลข่าวสารการจัดงานสัมมนาและกิจกรรมเกี่ยวกับข้อมูลเปิด ได้ที่ data.go.th

เรียบเรียงโดย : ส่วนจัดการความรู้และสารสนเทศ

แหล่งข้อมูล : Data.go.th