โครงการพัฒนาการมีส่วนร่วมของประชาชน
ปัจจุบัน ในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทย ได้ให้ความสำคัญเรื่องการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนด ทิศทางของนโยบายผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์รูปแบบต่างๆ มากขึ้น ดังจะเห็นได้จากกรอบนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารระยะ พ.ศ. 2554 – 2563 ของประเทศไทย ซึ่งได้มีการกล่าวถึงการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม โดยสร้างความเสมอภาคของโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรและบริการสาธารณะสำหรับ ประชาชนทุกกลุ่ม ซึ่งการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นกระบวนการที่ประชาชนหรือผู้มีส่วนได้ส่วน เสียได้มีโอกาสแสดงทัศนะและเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่มีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ รวมทั้งมีการนำความคิดเห็นดังกล่าวไปประกอบการพิจารณากำหนดนโยบายและการ ตัดสินใจของรัฐ ซึ่งส่งผลต่อการขับเคลื่อนทั้งในระดับองค์กรและในระดับประเทศ อันจะนำไปสู่การเพิ่มคุณภาพในการตัดสินใจให้กับภาครัฐ สร้างความเท่าเทียมทางสังคม เป็นนโยบายจากประชาชนเพื่อประชาชน รวมถึงการตรวจสอบโครงการของภาครัฐโดยประชาชน ลดปัญหาด้านความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับองค์กรของรัฐในด้านต่างๆ และที่สำคัญ คือ ประชาชนจะมีความรู้สึกเป็นเจ้าของ ซึ่งถือเป็นพลังในการขับเคลื่อนที่ดีที่สุด โดยการมีส่วนร่วมนั้นมีหลายระดับ ตั้งแต่ระดับร่วมรับรู้ ร่วมคิด ร่วมตัดสิน ร่วมรับผิดชอบ และร่วมตรวจสอบ ดังนั้น หากประชาชนมีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการตัดสินใจในการดำเนินการต่างๆ แล้วจะทำให้การดำเนินการต่างๆ ของภาครัฐที่เกิดขึ้นสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนมากที่สุดและเป็นที่ ยอมรับร่วมกันของทุกภาคส่วน
จาก การสำรวจรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ขององค์การสหประชาชาติ (United Nations e-Government Readiness) ซึ่งเป็นรายงานการจัดอับดับความพร้อมของรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ สมาชิกทั่วโลกตั้งแต่ปี ค.ศ. 2003 จนถึงปัจจุบัน หนึ่งในตัวชี้วัดที่องค์การสหประชาชาติได้ให้ความสำคัญ คือ ดัชนีชี้วัดการมีส่วนร่วมของประชาชน (e-Participation Index) จากระดับคะแนนและการจัดอับดับ e-Participation Index ของประเทศไทย พบว่า มีระดับคะแนนและการจัดอับดับที่ดีขึ้น โดยในปี ค.ศ.2010 อยู่อันดับที่ 110 จาก 192 ประเทศ (ระดับคะแนน = 0.0857) และในปี ค.ศ. 2012 อยู่ในอันดับที่ 48 จาก 193 ประเทศ (ระดับคะแนน = 0.3158) ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยได้เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการเข้ามา มีส่วนร่วมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประชาชนมากขึ้น จากประเด็นดังกล่าว สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สรอ.) ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญจึงได้จัดทำโครงการพัฒนาการมีส่วนร่วมของประชาชน (e-Participation) ร่วมกับ GotoKnow ภายใต้ชื่อ “สรอ. ขอความรู้” ซึ่ง GotoKnow เป็นชุมชนออนไลน์เพื่อการจัดการความรู้ (Knowledge Management) ของคนทำงานภาครัฐและภาคสังคม โดยสมาชิกส่วนใหญ่เป็นข้าราชการและบุคลากรทางการแพทย์ โดยโครงการฯ ดังกล่าวเป็นการพัฒนาการมีส่วนร่วมของประชาชนผ่านระบบออนไลน์ (Social Media) เพื่อให้ประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีส่วนร่วมในการพัฒนารัฐบาล อิเล็กทรอนิกส์และเพื่อให้มีงานวิจัยเชิงนโยบายที่ช่วยกำหนดทิศทางการพัฒนา รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ให้สอดคล้องกับบริบทการเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งยังคงมีการดำเนินงานอยู่ ณ ปัจจุบัน โดยผลการดำเนินโครงการฯ ที่ผ่านมาตลอดระยะเวลา 4 เดือน ประชาชนให้ความสนใจและร่วมแสดงความคิดเห็น จากทั้งหมด 7 ประเด็น มีจำนวนบันทึก 1,678 รายการ มีผู้ให้ความสนใจเข้ามาอ่านบันทึกมากถึง 899,105 ครั้ง และมีผู้แสดงความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ จำนวน 16,065 รายการ
จาก ข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นว่า โครงการฯ ดังกล่าวได้รับการตอบรับจากประชาชนกลุ่มเป้าหมายที่นำร่องเป็นอย่างดี โดยข้อเสนอแนะเพื่อพัฒนาและต่อยอดจากการมีส่วนร่วมดังกล่าวมี ดังนี้
นอกจากนี้ การมีส่วนร่วมของประชาชนยังถือได้ว่าเป็นการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ตามหลักการของ Open Government ซึ่งประกอบด้วยการสร้างความโปร่งใส (Transparency) ความร่วมมือ (Collaboration) และการมีส่วนร่วมของประชาชน (Participation) โดย การดำเนินการตามหลักการดังกล่าว มีเป้าหมายหลักในการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ภาคประชาชนและภาคธุรกิจ เพื่อให้เกิดการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์อย่างยั่งยืน อันจะนำไปสู่การเชื่อมโยงหน่วยงานภาครัฐโดยยึดเอาประชาชนเป็นที่ตั้ง (e-Government for the People) และมุ่งสู่การเป็น Smart Government และ Smart Thailand ต่อไป