ปี 2565
การประชุมคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ครั้งที่ 2/2565
นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้เกียรติเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ครั้งที่ 2/2565 วันที่ 29 กันยายน 2565 ณ ทำเนียบรัฐบาล โดยมี นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ปรึกษาคณะกรรมการ และ ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ในฐานะอนุกรรมการและเลขานุการฯ พร้อมด้วยคณะกรรมการผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ เข้าร่วมประชุม โดยมีมติเห็นชอบให้ ศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกลางภาครัฐ (GDX), ศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ (data.go.th), Biz Portal และ Citizen Portal (แอปพลิเคชันทางรัฐ) เป็น ‘แพลตฟอร์มกลาง’ เพื่อให้ประชาชนและภาคธุรกิจสามารถเข้าถึงการบริการของภาครัฐได้สะดวกที่จุดเดียว โดยไม่ต้องเสียเวลาในการค้นข้อมูล กรอกคำขอ และยื่นเอกสารใหม่ผ่านเว็บไซต์ของแต่ละหน่วยงาน โดยให้ DGA เสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาสั่งการให้ทุกหน่วยงานเชื่อมโยงข้อมูลหรือบริการเข้ากับแพลตฟอร์มกลางบริการภาครัฐ ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลต่อไป ทั้งนี้ หากหน่วยงานใดมีแพลตฟอร์มกลางที่ให้บริการอยู่แล้ว ให้นำมาเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล เพื่อให้ความเห็นชอบและประกาศเป็นทางการ (DG official announcement) ให้เป็นไปตาม พ.ร.ฎ. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 มาตรา 10
รองนายกดอน กล่าวว่า จากรายงานขององค์การสหประชาชาติ ได้เผยแพร่ผลการสำรวจรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (The UN E-Government Survey 2022) ซึ่งเป็นผลการสำรวจดัชนีด้านการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานภาครัฐของ 193 ประเทศ ล่าสุดดัชนีรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (E-Government Development Index: EGDI) ประเทศไทยขึ้นมา 2 อันดับ อยู่อันดับที่ 55 จากอันดับที่ 57 ปี 2563 โดยประเทศไทยได้อันดับ 3 ของอาเซียน ซึ่งปัจจัยหลักที่ส่งผลให้ไทยมีอันดับดีขึ้นคือ องค์ประกอบด้านทุนมนุษย์ (Human Capital Index) และด้านโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีและการสื่อสาร (Telecommunication Infrastructure Index) ส่วนตัวเลขดัชนีการมีส่วนร่วมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประชาชน (e-Participation Index: EPI) ประเทศไทยขึ้นมา 33 อันดับ อยู่อันดับที่ 18 จากอันดับที่ 51 ปี 2563 โดยประเทศไทยได้อันดับ 2 ของอาเซียน ซึ่งเป็นการตอกย้ำความสำเร็จจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการดำเนินงานเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่รัฐบาลดิจิทัล
นอกจากความยินดีนี้แล้วท่านรองนายกดอนได้กำชับให้ทุกฝ่ายเร่งดำเนินการหาแนวทางป้องกันเรื่องความมั่นคงปลอดภัยด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ และด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนยังคงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องดำเนินการเร่งด่วนด้วย
ด้าน ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล อนุกรรมการและเลขานุการฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแพลตฟอร์มกลางตามพระราชบัญญัติการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 DGA ได้แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มที่ 1 การบริหารงานภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล เช่น ศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกลางภาครัฐ (GDX), Linkage Center โดยกรมการปกครอง, Thailand National Single Window (NSW) โดยกรมศุลกากร, ศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกระบวนการยุติธรรม (Data Exchange Center: DXC) โดยสำนักงานกิจการยุติธรรม และระบบเชื่อมโยงข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ฯลฯ กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่บริการจัดการเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างภาครัฐด้วยกันเพื่อให้การทำงานมีความคล่องตัวมากขึ้น กลุ่มที่ 2 การให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล เป็นการให้บริการแก่ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการภาครัฐได้อย่างสะดวก ได้แก่ ศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ (data.go.th), ช่องทางในการเข้าถึงบริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จ (Portal) เช่น Citizen Portal (แอปพลิเคชันทางรัฐ), Biz Portal และ Foreigner Portal และระบบดิจิทัลที่ต้องรองรับการทำงานร่วมกันจากหลายหน่วยงาน เพื่อให้บริการประชาชนในบางเรื่อง เช่น ระบบชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งเป็น 1 ใน 12 บริการตามโจทย์ของประเทศ (Agenda สำคัญ) ที่ สำนักงาน ก.พ.ร ขับเคลื่อน ก็เป็นแพลตฟอร์มกลางได้เช่นกัน และกลุ่มที่ 3 เครื่องมือกลางสำหรับใช้ในกระบวนการสำคัญ (Microservices) เช่น Digital ID/e-Payment/e-Receipt/e-Document/Tracking System/GDCC เป็นต้น ทั้งนี้ แพลตฟอร์มกลางต้องสอดคล้องกับมาตรฐานในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและการดูแลเรื่องความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ด้วย
สำหรับแนวทางในการพัฒนาดิจิทัลนั้นจะให้ความสำคัญกับบริการที่มุ่งเน้นให้บริการประชาชนเป็นหลัก ส่วนหน่วยงานที่มีความพร้อมสูงก็สามารถพัฒนาระบบของตนเองได้โดยให้เป็นไปตามมาตรฐานที่คณะกรรมการรัฐบาลดิจิทัลกำหนด เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงข้อมูล และทำงานสอดคล้องกับระบบบริการของหน่วยงานอื่นได้ โดย DGA พร้อมที่จะร่วมมือกับทุกหน่วยงานในการจัดให้มีแพลตฟอร์มกลางเพื่อให้ส่วนราชการสามารถประสานงานและติดต่อผ่านระบบกลางได้โดยสะดวก
การประชุมคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ครั้งที่ 1/2565
นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2565 ผ่านระบบออนไลน์ พร้อมด้วย นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวง DE และ ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการฯ พร้อมด้วยคณะกรรมการซึ่งเป็นผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบ (ร่าง) แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลฯ ซึ่งได้กำหนด 4 เป้าหมายและตัวชี้วัดความสำเร็จของการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลในระยะเวลา 5 ปี (2566 – 2570) คือ เป้าหมายที่ 1 ให้บริการที่ตอบสนองประชาชนและลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการ (Responsive Government) เป้าหมายที่ 2 การเพิ่มความสามารถและศักยภาพในการแข่งขันของภาคธุรกิจ (Enhance Competitiveness) เป้าหมายที่ 3 โปร่งใส เปิดเผยข้อมูล ประชาชนเชื่อถือและมีส่วนร่วม (Open Government & trust) และเป้าหมายที่ 4 ภาครัฐที่ปรับตัวทันการณ์ (Agile Government) ทั้งนี้ เมื่อ DGA ปรับ (ร่าง) แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลฯ ตามข้อเสนอแนะในที่ประชุม และผ่านการเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลพิจารณารายละเอียดเรียบร้อยแล้ว ก็จะนำเสนอต่อสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อให้ความเห็นตามแนวทางการเสนอแผนระดับที่ 3 ก่อนที่จะมีการเสนอ (ร่าง) แผนฯ เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี และประกาศลงราชกิจจานุเบกษาต่อไป
โดย รองนายกฯ ดอน กล่าวว่า การนำภาครัฐสู่รัฐบาลดิจิทัลเป็นแนวคิดเชิงรุกที่รัฐบาลดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ไม่ว่าจะมีเทคโนโลยีใหม่ๆ แค่ไหนก็ตามก็ยังต้องให้ความสำคัญที่คนอยู่เสมอ จึงขอเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานเร่งจัดทำแผนพัฒนาบุคลากรเพื่อเพิ่มทักษะ (Up skill) ด้านดิจิทัล รวมถึงปรับเปลี่ยน Mindset บุคลากรให้รู้เท่าทันเทคโนโลยีและสามารถใช้ประโยชน์จากการเป็นรัฐบาลดิจิทัลเพื่อช่วยกันยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนให้มีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น
รวมถึงสามารถบริหารจัดการข้อมูล (Data Governance) เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนองค์กรด้วยข้อมูลที่ดีได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ให้สำนักงาน ก.พ. และกระทรวง DE หาแนวทางปรับปรุง Career Path และปรับเปลี่ยนโครงสร้างระบบการจ้างงานและผลตอบแทนสำหรับกลุ่มบุคลากรที่มีทักษะสูง รวมถึงร่วมกันกำหนดรูปแบบ คุณสมบัติ วิธีการ และการจ่ายค่าตอบแทนให้เหมาะสม
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีมติรับทราบเรื่อง ขั้นตอนการประกาศมาตรฐานรัฐบาลดิจิทัล และความคืบหน้าแนวทางการดำเนินการด้านมาตรฐาน หลักเกณฑ์ ตาม พ.ร.บ.การบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 และสถานะปัจจุบันของแพลตฟอร์มการแลกเปลี่ยนข้อมูลภาครัฐ รวมทั้งยังได้พิจารณาอนุมัติ แผนแม่บทการพัฒนาพอร์ทัลบริการเพื่อชาวต่างชาติ ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) และมาตรฐานรัฐบาลดิจิทัลว่าด้วยกรอบแนวทางทางการพัฒนามาตรฐานการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลภาครัฐด้วย และได้ขอความร่วมมือให้ทุกหน่วยงานช่วยกันประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนดาวน์โหลด ‘แอปพลิเคชันทางรัฐ’ ติดมือถือไว้เพื่อเพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงบริการและข้อมูลต่างๆ ของภาครัฐที่รวบรวมไว้ในแอปฯ เดียว ซึ่งเป็นบริการดีๆ ที่ภาครัฐตั้งใจมอบให้แก่ประชาชน
ด้าน ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผอ. DGA กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแผนแม่บทการพัฒนาพอร์ทัลบริการเพื่อชาวต่างชาติ ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 -2570) นี้ จะช่วยให้เกิดการบูรณาการข้อมูลของภาครัฐ พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนกระบวนการให้บริการดิจิทัลให้ง่าย และเพิ่มความสะดวกด้วยการมีบริการแบบรวมศูนย์ฯ
ทั้งนี้ พอร์ทัลบริการเพื่อชาวต่างชาตินี้ จะช่วยลดภาระให้หน่วยงานภาครัฐและชาวต่างชาติทำธุรกรรมต่าง ๆ ทั้งด้านเวลา ค่าใช้จ่าย และลดการให้ข้อมูลที่ซ้ำซ้อนลงด้วย ซึ่ง DGA ได้แบ่งการดำเนินงานเป็น 3 ระยะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ ระยะที่ 1 ปรับเปลี่ยนกระบวนการและกฎหมายเพื่อให้หน่วยงานรัฐสามารถให้บริการดิจิทัลได้เต็มรูปแบบ และสร้างมาตรฐานการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อบูรณาการข้อมูลสำหรับนักท่องเที่ยวและนักลงทุนชาวต่างชาติ พร้อมทั้งจัดให้มีเลขประจำตัวประชาชนชาวต่างชาติ ระยะที่ 2 ยกระดับการให้บริการ กลุ่มนักธุรกิจและนักลงทุน รวมถึงเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและยกระดับการให้บริการกลุ่มแรงงาน ผู้พักอาศัยระยะยาว และนักศึกษา รวมถึงการให้บริการพอร์ทัลข้อมูลบริการรองรับทุกกลุ่มชาวต่างชาติ และ ระยะที่ 3 ยกระดับการยืนยันตัวตนผ่านการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลสำหรับนักท่องเที่ยว (Digital ID) และการให้ข้อมูลและบริการดิจิทัลรัฐสำหรับชาวต่างชาติแบบครบวงจร โดย DGA จะเร่งดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
สำหรับ มาตรฐานรัฐบาลดิจิทัล ว่าด้วย กรอบแนวทางการพัฒนามาตรฐานการเชื่อมโยงและ แลกเปลี่ยนข้อมูลภาครัฐนั้น จัดทำขึ้นเพื่อให้หน่วยงานทราบถึง “แนวทาง” และวิธีการพัฒนามาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลภาครัฐทั้งใน (1) ระดับเทคนิคการเชื่อมโยงข้อมูล และ (2) ระดับความหมายข้อมูล มาตรฐานนี้เป็นกลไกสำคัญของภาครัฐในการเปลี่ยนผ่านสู่รัฐบาลดิจิทัล โดยหากมีการประกาศในราชกิจจานุเษกษาแล้ว DGA จะดำเนินการจัดอบรม เพื่อเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจให้หน่วยงานรัฐรับทราบต่อไป