คณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ไฟเขียวให้ทุกหน่วยงานใช้ 4 แพลตฟอร์มดิจิทัลกลาง เชื่อมต่อบริการรัฐสู่ภาคธุรกิจและประชาชน เผยดัชนีรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (EGDI) ไทยดีขึ้น 2 อันดับ อยู่ที่ 55 จาก 193 ประเทศและเป็นอันดับที่ 3 ของอาเซียน
นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้เกียรติเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ครั้งที่ 2/2565 วันที่ 29 กันยายน 2565 ณ ทำเนียบรัฐบาล โดยมี นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ปรึกษาคณะกรรมการ และ ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ในฐานะอนุกรรมการและเลขานุการฯ พร้อมด้วยคณะกรรมการผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ เข้าร่วมประชุม โดยมีมติเห็นชอบให้ ศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกลางภาครัฐ (GDX), ศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ (data.go.th), Biz Portal และ Citizen Portal (แอปพลิเคชันทางรัฐ) เป็น ‘แพลตฟอร์มกลาง’ เพื่อให้ประชาชนและภาคธุรกิจสามารถเข้าถึงการบริการของภาครัฐได้สะดวกที่จุดเดียว โดยไม่ต้องเสียเวลาในการค้นข้อมูล กรอกคำขอ และยื่นเอกสารใหม่ผ่านเว็บไซต์ของแต่ละหน่วยงาน โดยให้ DGA เสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาสั่งการให้ทุกหน่วยงานเชื่อมโยงข้อมูลหรือบริการเข้ากับแพลตฟอร์มกลางบริการภาครัฐ ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลต่อไป ทั้งนี้ หากหน่วยงานใดมีแพลตฟอร์มกลางที่ให้บริการอยู่แล้ว ให้นำมาเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล เพื่อให้ความเห็นชอบและประกาศเป็นทางการ (DG official announcement) ให้เป็นไปตาม พ.ร.ฎ. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 มาตรา 10
รองนายกดอน กล่าวว่า จากรายงานขององค์การสหประชาชาติ ได้เผยแพร่ผลการสำรวจรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (The UN E-Government Survey 2022) ซึ่งเป็นผลการสำรวจดัชนีด้านการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานภาครัฐของ 193 ประเทศ ล่าสุดดัชนีรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (E-Government Development Index: EGDI) ประเทศไทยขึ้นมา 2 อันดับ อยู่อันดับที่ 55 จากอันดับที่ 57 ปี 2563 โดยประเทศไทยได้อันดับ 3 ของอาเซียน ซึ่งปัจจัยหลักที่ส่งผลให้ไทยมีอันดับดีขึ้นคือ องค์ประกอบด้านทุนมนุษย์ (Human Capital Index) และด้านโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีและการสื่อสาร (Telecommunication Infrastructure Index) ส่วนตัวเลขดัชนีการมีส่วนร่วมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประชาชน (e-Participation Index: EPI) ประเทศไทยขึ้นมา 33 อันดับ อยู่อันดับที่ 18 จากอันดับที่ 51 ปี 2563 โดยประเทศไทยได้อันดับ 2 ของอาเซียน ซึ่งเป็นการตอกย้ำความสำเร็จจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการดำเนินงานเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่รัฐบาลดิจิทัล
นอกจากความยินดีนี้แล้วท่านรองนายกดอนได้กำชับให้ทุกฝ่ายเร่งดำเนินการหาแนวทางป้องกันเรื่องความมั่นคงปลอดภัยด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ และด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนยังคงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องดำเนินการเร่งด่วนด้วย
ด้าน ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล อนุกรรมการและเลขานุการฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแพลตฟอร์มกลางตามพระราชบัญญัติการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 DGA ได้แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มที่ 1 การบริหารงานภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล เช่น ศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกลางภาครัฐ (GDX), Linkage Center โดยกรมการปกครอง, Thailand National Single Window (NSW) โดยกรมศุลกากร, ศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกระบวนการยุติธรรม (Data Exchange Center: DXC) โดยสำนักงานกิจการยุติธรรม และระบบเชื่อมโยงข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ฯลฯ กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่บริการจัดการเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างภาครัฐด้วยกันเพื่อให้การทำงานมีความคล่องตัวมากขึ้น กลุ่มที่ 2 การให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล เป็นการให้บริการแก่ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการภาครัฐได้อย่างสะดวก ได้แก่ ศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ (data.go.th), ช่องทางในการเข้าถึงบริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จ (Portal) เช่น Citizen Portal (แอปพลิเคชันทางรัฐ), Biz Portal และ Foreigner Portal และระบบดิจิทัลที่ต้องรองรับการทำงานร่วมกันจากหลายหน่วยงาน เพื่อให้บริการประชาชนในบางเรื่อง เช่น ระบบชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งเป็น 1 ใน 12 บริการตามโจทย์ของประเทศ (Agenda สำคัญ) ที่ สำนักงาน ก.พ.ร ขับเคลื่อน ก็เป็นแพลตฟอร์มกลางได้เช่นกัน และกลุ่มที่ 3 เครื่องมือกลางสำหรับใช้ในกระบวนการสำคัญ (Microservices) เช่น Digital ID/e-Payment/e-Receipt/e-Document/Tracking System/GDCC เป็นต้น ทั้งนี้ แพลตฟอร์มกลางต้องสอดคล้องกับมาตรฐานในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและการดูแลเรื่องความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ด้วย
สำหรับแนวทางในการพัฒนาดิจิทัลนั้นจะให้ความสำคัญกับบริการที่มุ่งเน้นให้บริการประชาชนเป็นหลัก ส่วนหน่วยงานที่มีความพร้อมสูงก็สามารถพัฒนาระบบของตนเองได้โดยให้เป็นไปตามมาตรฐานที่คณะกรรมการรัฐบาลดิจิทัลกำหนด เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงข้อมูล และทำงานสอดคล้องกับระบบบริการของหน่วยงานอื่นได้ โดย DGA พร้อมที่จะร่วมมือกับทุกหน่วยงานในการจัดให้มีแพลตฟอร์มกลางเพื่อให้ส่วนราชการสามารถประสานงานและติดต่อผ่านระบบกลางได้โดยสะดวก