DGA โชว์ผลการสำรวจความต้องการของชาวต่างชาติที่มีต่อบริการภาครัฐพร้อมเตรียมเร่งเดินหน้า (ร่าง) แผนแม่บทการพัฒนาพอร์ทัลบริการเพื่อชาวต่างชาติ ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) (One Platform for Foreigner Roadmap)


20 May 2565
315

ภายใต้แนวทางการพัฒนาพอร์ทัลบริการเพื่อชาวต่างชาติระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) ได้มีการศึกษา และวิเคราะห์ความพึงพอใจและความต้องการของชาวต่างชาติต่อการรับบริการภาครัฐในรูปแบบดิจิทัลในประเทศไทย เพื่อแก้ไขปรับปรุงบริการดิจิทัลของภาครัฐที่มีอยู่เดิมให้ดียิ่งขึ้นตอบสนองการใช้งาน รวมถึงพัฒนาบริการดิจิทัลของภาครัฐใหม่ให้ตอบสนองความต้องการบริการของชาวต่างชาติ โดยได้มีการสำรวจความคิดเห็นของชาวต่างชาติทั้งหมด 2,139 คน ครบทุกช่วงอายุ ครบทุกวัตถุประสงค์ในการเดินทาง และจากผู้ตอบแบบสอบถาม 63 สัญชาติ ผ่านช่องทางออนไลน์และการลงพื้นที่ ครอบคลุมกลุ่มชาวต่างชาติในทุกกลุ่ม ได้แก่ นักท่องเที่ยว แรงงาน นักธุรกิจและนักลงทุน ผู้อยู่อาศัยระยะยาว และนักศึกษาต่างชาติ จากผลการสำรวจ พบว่า ส่วนใหญ่ชาวต่างชาติมีความพึงพอใจในบริการด้านสาธารณสุข ด้านการเงินและภาษี และด้านการท่องเที่ยว โดย 5 อันดับบริการที่ชาวต่างชาติมีความพึงพอใจมากที่สุด ได้แก่ บริการข้อมูลที่พักภายในประเทศในด้านการท่องเที่ยว ข้อมูลอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา และข้อมูลเงินตราและค่าครองชีพในประเทศไทยในด้านการเงินและภาษี ข้อมูลรายชื่อสถานที่กักกันที่ทางรัฐบาลไทยกำหนด และบริการแจ้งผลตรวจ COVID – 19 ผ่านแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” ในด้านสาธารณสุข ที่อำนวยความสะดวกให้แก่ชาวต่างชาติในการเดินทางเข้าประเทศในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ขณะที่ 5 อันดับบริการที่ชาวต่างชาติมีความพึงพอใจต่ำที่สุดเป็นบริการด้านวีซ่าและการตรวจลงตรา และด้านคมนาคม ได้แก่ บริการแจ้งอยู่ในราชอาณาจักรเกิน 90 วัน (ตม.47) บริการยื่นขอวีซ่าผ่านทาง e-Visa ข้อมูลรายละเอียดเอกสารการยื่นของวีซ่าประเภทต่างๆ และบริการดาวน์โหลดแบบฟอร์มคำขออนุญาตเพื่ออยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไป (ตม. 7) ในด้านวีซ่าและการตรวจลงตรา ข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งและจราจรในด้านการคมนาคม

ทั้งนี้ ปัญหาและอุปสรรคที่ชาวต่างชาติพบเจอจากการใช้บริการ ส่วนใหญ่เกิดจากการใช้บริการที่ไม่สามารถดำเนินการตรวจสอบได้เนื่องจากบางบริการยังไม่สามารถดำเนินการในรูปแบบออนไลน์ได้ หรือ ในบางบริการที่มีการพัฒนาในรูปแบบออนไลน์แต่ไม่สามารถใช้งานได้จริง เช่น ระบบแจ้งอยู่ในราชอาณาจักรเกิน 90 วัน เป็นต้น ส่วนการขอวีซ่า ขอขยายหรือเปลี่ยนประเภทวีซ่ามีขั้นตอนการอนุมัติที่ยุ่งยาก ซับซ้อน ขั้นตอนการดำเนินการที่ไม่ชัดเจน รวมถึงต้องใช้เอกสารประกอบการขออนุมัติ/อนุญาตมีจำนวนมาก อีกทั้ง หลายบริการยังไม่มีการรองรับภาษาต่างประเทศ อย่างเช่นอังกฤษและจีนทำให้ชาวต่างชาติไม่สามารถใช้บริการได้

สำหรับความต้องการบริการดิจิทัลของชาวต่างชาติบนพอร์ทัลบริการเพื่อชาวต่างชาตินั้น ส่วนใหญ่ต้องการให้มีบริการด้านการขอวีซ่าและการตรวจลงตรา ด้านความปลอดภัย รวมถึงด้านการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นบริการเกี่ยวข้องกับการเดินทางเข้าประเทศ โดย 5 อันดับบริการที่ชาวต่างชาติต้องการมากที่สุด ได้แก่ บริการยื่นขอ Visa ผ่านทาง e-Visa บริการตรวจสอบสถานะการยื่นขอ Visa ผ่านช่องทางออนไลน์ Thailand Pass ในด้านการขอวีซ่าและการตรวจลงตรา ข้อมูลขั้นตอนการเดินทางเข้าประเทศไทยช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในด้านการท่องเที่ยว และข้อมูลเกี่ยวกับโรงพยาบาลสำหรับชาวต่างชาติที่ต้องได้รับการรักษาในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินในด้านความปลอดภัย ทั้งนี้ นอกจากบริการที่มีอยู่เดิมแล้ว ชาวต่างชาติยังต้องการให้มีการพัฒนาบริการเพิ่มเติมเพื่ออำนวยความสะดวกแก่การใช้บริการในการเดินทาง ได้แก่ บริการแจ้งเตือนผู้ติดเชื้อ COVID ในพื้นที่ประเทศไทยผ่านช่องทางออนไลน์ในด้านสาธารณสุข บริการข้อมูลรีวิวสถานที่ท่องเที่ยวและประสบการณ์ในการท่องเที่ยวในประเทศไทย ข้อมูลสถานที่ซื้อสินค้าปลอดภาษี และบริการจองที่พักหรือบริษัทนำเที่ยวที่ได้รับการอนุญาตอย่างถูกกฎหมายในด้านการท่องเที่ยว บริการความช่วยเหลือและบริการถาม-ตอบ คำถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับการยื่นขออนุญาตวีซ่าทางออนไลน์ ข้อมูลรายชื่อประเทศที่ต้องขอวีซ่าและรายละเอียดเฉพาะของแต่ละประเทศ บริการต่ออายุวีซ่าและการขออยู่ต่อผ่านระบบออนไลน์ ข้อมูลและสิทธิประโยชน์ของวีซ่าแต่ละประเภท และบริการออกหนังสือเดินทางคนต่างด้าวหรือเอกสารเดินทางฉุกเฉินออนไลน์ในด้านการขอวีซ่าและการตรวจลงตรา รวมถึง บริการรับการร้องเรียนเกี่ยวกับการฉ้อโกงจากการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศในด้านการเงินและภาษี

สำหรับแพลทฟอร์มหรือพอร์ทัลบริการที่ชาวต่างชาติต้องการ ส่วนใหญ่ต้องการให้มีลักษณะเป็นการให้บริการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) เนื่องจาก สามารถรับบริการได้ในที่เดียว ลดขั้นตอนและเวลาในการดำเนินงาน รองลงมา ต้องการแพลตฟอร์มหรือพอร์ทัลบริการที่มีการจำแนกประเภทบริการที่ชัดเจน เนื่องจาก สามารถใช้บริการและค้นหาบริการได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว รวมถึงมีบริการที่เกี่ยวเนื่องกัน อีกทั้งต้องการให้แพลตฟอร์มหรือพอร์ทัลบริการมีการยืนยันตัวตนครั้งเดียวผ่านดิจิทัลไอดี เพื่อลดการมีรหัสผู้ใช้งานหลากหลาย ทำให้ยากต่อการจำและสับสนในการใช้งาน