รัฐมนตรีอนุชา ดันพอร์ทัลบริการเพื่อชาวต่างชาติ กระตุ้นเศรษฐกิจไทย อำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยว นักลงทุน และแรงงานต่างชาติ รับการเปิดประเทศเต็มรูปแบบ พร้อมเร่งคิกออฟชวนคนรุ่นใหม่ใช้ดิจิทัลทรานสคริปต์
นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้เกียรติเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ครั้งที่ 2/2565 วันที่ 26 เมษายน 2565 ผ่านระบบออนไลน์ โดยมี นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการฯ และ ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ในฐานะอนุกรรมการและเลขานุการฯ พร้อมด้วยคณะอนุกรรมการผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ เข้าร่วมประชุมเพื่อรับรองแนวนโยบายที่สำคัญตามมติคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล พร้อมอัปเดตความคืบหน้าการขับเคลื่อนโครงการสำคัญภายใต้แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย พ.ศ. 2563 2565 และเร่งเดินหน้าพอร์ทัลบริการเพื่อชาวต่างชาติ โดย รมต. อนุชา กล่าวถึงความคืบหน้าให้ฟังว่า เพื่อตอบรับนโยบายการเปิดประเทศของรัฐบาล สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA จึงได้เร่งจัดทำ (ร่าง) แผนแม่บทการพัฒนาพอร์ทัลบริการเพื่อชาวต่างชาติ ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 2570) ขึ้นเพื่อรองรับการให้บริการดิจิทัลชาวต่างชาติทุกกลุ่มทั้งนักท่องเที่ยว (Ease of Travelling) นักลงทุนและนักธุรกิจ (One Stop One Start Service) และแรงงานต่างชาติ (Work Permit) โดยสามารถใช้งานผ่าน Single Sign On ด้วย Digital ID เพื่ออำนวยความสะดวกให้สามารถเข้าถึงบริการของรัฐได้ง่ายขึ้น โดย DGA จะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการและเชื่อมโยงข้อมูลร่วมกันเพื่อจัดทำพอร์ทัลข้อมูลบริการเพื่อชาวต่างชาติ (Information Service Portal) เพื่อเติมเต็มความต้องการ ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงกลุ่มผู้พักอาศัยระยะยาว และกลุ่มนักศึกษาอีกด้วย ซึ่งปัจจุบันมีชาวต่างชาติที่เดินทางมาประเทศไทยทั้งกลุ่มที่เข้ามาท่องเที่ยว แรงงาน นักธุรกิจและนักลงทุน และอื่นๆ ประมาณ 45.8 ล้านคน (ที่มา: สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กรมการจัดหางาน กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) ทั้งนี้ชาวต่างชาติจะรับประโยชน์จาก (ร่าง) แผนแม่บทการพัฒนาพอร์ทัลฯ ทั้งในด้านการใช้บริการภาครัฐได้ง่ายขึ้นผ่านช่องทางดิจิทัล ประหยัดเวลา/ค่าใช้จ่าย และขอรับบริการได้
ตลอดเวลา ทางด้านหน่วยงานภาครัฐก็จะได้ประโยชน์ในด้านการพัฒนาบริการดิจิทัลที่มีมาตรฐาน สามารถลดกระบวนการทำงานที่ซ้ำซ้อน และเพิ่มช่องทางการเข้าถึงบริการได้สะดวกมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ได้เน้นย้ำเร่ง Kickoff ประชาสัมพันธ์ให้คนรุ่นใหม่ทราบถึงประโยชน์ของดิจิทัลทรานสคริปต์ (Digital Transcript) ทั้งด้านการนำเอกสารไปยื่นสมัครเรียนต่อหรือสมัครเข้าทำงาน รวมถึงขยายผลไปสู่บริษัทและองค์กรที่รับสมัครงานในวงกว้าง เพื่อให้เกิดแนวร่วมในการพัฒนาระบบการศึกษาให้ประเทศไทยให้ก้าวหน้าได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น
ด้าน ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล อนุกรรมการและเลขานุการฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการศึกษาและสำรวจการให้บริการชาวต่างชาติของประเทศไทยในปัจจุบันพบว่า บริการที่ชาวต่างชาติต้องการมี 4 ลักษณะบริการคือ การบริการแบบครบวงจร (One Stop Service Service) การมีบริการที่อำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรม การเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ การยืนยันตัวตนที่ง่ายและสะดวก DGA จึงได้เดินหน้าประชุมรับฟังความคิดเห็น (Public Hearing) พร้อมทั้งนำผลการประชุมมาประกอบการจัดทำกรอบแนวทางการพัฒนาพอร์ทัลบริการเพื่อชาวต่างชาติทุกกลุ่ม โดยแบ่งการดำเนินงานเป็น 3 ระยะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ ระยะที่ 1 ‘End to End Digital Journey’ (พ.ศ. 2566) การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ด้านการเดินทางเข้า-ออกประเทศและกลุ่มนักท่องเที่ยว ระยะที่ 2 ‘Foreigner Portals’ (พ.ศ. 2567-2568) ด้านการขยายผลตลาดแรงงาน และ ระยะที่ 3 ‘One Account, All of Foreigner Portals’ (พ.ศ. 2569-2570) การเติมเต็มความต้องการ ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย โดย DGA จะเร่งดำเนินการสร้างมาตรฐานการเชื่อมโยงข้อมูล พัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลรองรับบริการชาวต่างชาติ พัฒนาบริการใหม่ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ รวมถึงพัฒนาระบบการยืนยันตัวตนผ่าน Digital ID สำหรับชาวต่างชาติ และพัฒนาพอร์ทัลข้อมูลบริการเพื่อชาวต่างชาติ (Information Service Portal)
ทั้งนี้ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบเดินหน้า (ร่าง) แผนแม่บทการพัฒนาพอร์ทัลฯ และรับทราบความคืบหน้าโครงการสำคัญๆ อาทิ โครงการ Digital Transcript ที่ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยสามารถให้บริการเพิ่มขึ้น 31 แห่ง รวมเป็น 70 แห่ง จาก 103 มหาวิทยาลัย ซึ่งจะสามารถออกเอกสารดิจิทัลให้นิสิต/นักศึกษา สะสมรวมจำนวน 279279,01717 ฉบับ (70 มหาวิทยาลัย) ได้ในปีการศึกษา 2565 นี้ และมีเป้าหมายขยายผลใน รร. ระดับมัธยม กลุ่มสาธิต ให้พร้อมบริการเอกสารดิจิทัล ปพ. รวมถึงขยายผลในกลุ่มผู้ใช้เอกสารทางการศึกษาในรูปแบบดิจิทัล ทั้งภาครัฐและเอกชนรวม 170 แห่งต่อไป นอกจากนี้ในส่วนของความก้าวหน้าโครงการพัฒนาระบบแพลตฟอร์มอัจฉริยะในการบริหารจัดการข้อมูลด้านกำลังคนและการพัฒนาสมรรถนะ เพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประเทศไทย (E Workforce Ecosystem) ภายใต้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงงานและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ มีแนวทางการพัฒนา E-Coupon for Learning บนแอปพลิเคชันเป๋าตัง เพื่อสนับสนุนหลักสูตรพัฒนาสมรรถนะกับTraining provider ที่ได้รับการรับรอง การเริ่มทดลองใช้ E-portfolio สำหรับประชาชน และโครงการพัฒนาแพลตฟอร์มธนาคารหน่วยกิตดิจิทัล (Digital Credit Bank Platform) สำหรับคนที่เรียนไม่จบปริญญาแต่ทำงานอยู่สามารถเทียบโอนสมรรถนะในระดับการศึกษาที่สูงขึ้นได้ในอนาคต เป็นต้น สำหรับโครงการพัฒนาแพลตฟอร์มกลางข้อมูลด้านสวัสดิการ จาก Road map การขับเคลื่อนระบบการแจ้งเตือนสิทธิ์และช่วยเหลือในการรับสวัสดิการของประชาชนตลอดช่วงชีวิต พ.ศ. 2565-2567 ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นั้นได้ดำเนินการร่วมกับ DGA ให้ระบบสามารถแจ้งเตือนสิทธิ์และยื่นขอสวัสดิการตลอดช่วงชีวิตผ่านแอปพลิเคชันทางรัฐได้ ภายในเดือนสิงหาคม-กันยายน 2565 นี้