แผนงานบูรณาการรัฐบาลดิจิทัล ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567
ที่มาและความสำคัญ
ตามที่ พระราชบัญญัติการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 (พ.ร.บ.การบริหารงานฯ) ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำคัญ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้หน่วยงานของรัฐมีการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาประยุกต์ใช้ในการบริหารราชการแผ่นดินและการจัดทำบริการสาธารณะ รวมทั้งเพื่อการบูรณาการฐานข้อมูลของหน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงานเข้าเป็นระบบข้อมูลเดียวกัน โดย พ.ร.บ. การบริหารงานฯ ได้กำหนดให้มีกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลอย่างเป็นรูปธรรม โดยมอบหมายให้ สพร. ทำหน้าที่อำนวยการและสนับสนุนการปฏิบัติงานและจัดทำร่างแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลตามแนวทางที่คณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลกำหนด เพื่อกำหนดกรอบและทิศทางการบริหารงานภาครัฐและการจัดทำบริการสาธารณะในรูปแบบเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการพัฒนาประเทศ มีการปฏิบัติงานที่สอดคล้องกันระหว่างหน่วยงานของรัฐ และมีกรอบการพัฒนาและแผนการดำเนินงานของประเทศ โดยสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ตามมาตรา 6 ยุทธศาสตร์ชาติและแผนระดับชาติที่เกี่ยวข้องนั้น
เพื่อเป็นการขับเคลื่อนการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลให้เป็นไปอย่างรูปธรรม คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 เห็นชอบแนวทางแนวทางการจัดทำงบประมาณและปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ดังนั้น ในการจัดทำแผนงานบูรณาการรัฐบาลดิจิทัล ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) จึงได้เตรียมดำเนินการเพื่อให้การพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศเป็นไปอย่างต่อเนื่อง เชื่อมโยงในลักษณะบูรณาการ และสอดคล้องกับทิศทางนโยบายของรัฐบาล พร้อมสอดรับกับบริบทการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น อันจะส่งให้ผลเกิดกลไกการขับเคลื่อนประเทศให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน
วัตถุประสงค์การจัดทำแผนงานบูรณาการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล
- เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัลอย่างเป็นรูปธรรมตามแนวทางของพระราชบัญญัติการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 และ แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย พ.ศ. 2566-2570
- เพื่อส่งเสริมให้เกิดการบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ในการสร้างระบบนิเวศน์ด้านรัฐบาลดิจิทัลเพื่อก้าวไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลโดยสมบูรณ์
- เพื่อสนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัลแบบมีทิศทาง โดยมุ่งเน้นเรื่องการลดความซ้ำซ้อน การประหยัดงบประมาณ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเหมาะสม และเกิดบริการดิจิทัลที่ครอบคลุมการดำเนินชีวิตในทุกรูปแบบ
รูปแบบการบูรณาการภายใต้แผนงานบูรณาการรัฐบาลดิจิทัล
- การบูรณาการการทำงานของระบบ/ข้อมูล: ระบบที่ดำเนินการจะต้องมีการเชื่อมโยงระบบการทำงานหรือเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานอื่นซึ่งหน่วยงานที่ร่วมดำเนินการอาจจะของบหรือไม่ของบบูรณาการมาดำเนินการก็ได้ (รวมถึงโครงการที่เกี่ยวข้องกับการยกระดับทักษะดิจิทัลด้วยหลักสูตรกลางที่กำหนด หรือการพัฒนามาตรฐาน/แนวนโยบายกลาง)
- การบูรณาการการใช้งบประมาณ: การพัฒนาระบบ/การบริการกลางของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเพื่อให้หน่วยงานต่างๆ มาใช้งานร่วมกัน โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
แผนงานบูรณาการรัฐบาลดิจิทัล ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567
เป้าหมายที่ 1 (ต้นน้ำ)
แนวทางที่ 1.1 การเตรียมความพร้อมพื้นฐานที่จำเป็น (Fundamental) เพื่อนำไปสู่การตอบโจทย์ความต้องการด้านดิจิทัลของประเทศอย่างยั่งยืน
แนวทางที่ 1.2 การจัดทำโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับการให้บริการแก่หน่วยงานภาครัฐ
เป้าหมายที่ 2 (กลางน้ำ) (Digital Common Platform)
แนวทางที่ 2.1 การพัฒนาเครื่องมือหรือแพลตฟอร์มกลางภาครัฐเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัลอย่างเป็นรูปธรรม
เป้าหมายที่ 3 (ปลายน้ำ) (End-to-End Digital Data and Services via Digital Services Platform)
แนวทางที่ 3.1 การบูรณาการข้อมูลและบริการภาครัฐในรูปแบบดิจิทัลผ่านแพลตฟอร์มบริการสำคัญ เพื่อการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลที่สอดคล้องกับตามแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลหรือด้านสำคัญอื่นๆ ที่สนับสนุนการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล
ในการเตรียมจัดทำแผนงานบูรณาการรัฐบาลดิจิทัล ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 สพร. จึงได้จัดการประชุมชี้แจง (ร่าง) แผนงานบูรณาการรัฐบาลดิจิทัล ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และแนวทางการจัดทำคำของบประมาณโครงการภายใต้ (ร่าง) แผนงานบูรณาการรัฐบาลดิจิทัลวันอังคารที่ 29 พฤศจิกายน 2565 เวลา 15.00 – 17.00 น. ผ่านการประชุมออนไลน์ระบบ MS Teams เพื่อให้หน่วยงานมีความเข้าใจและเตรียมความพร้อมในการเสนอโครงการภายใต้แผนงานบูรณาการรัฐบาลดิจิทัลเพื่อให้การขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัลบรรลุตามเป้าหมาย
สำหรับหน่วยงานที่มีความประสงค์ในการยื่นข้อเสนอโครงการเพื่อข้อรับการสนับสนุนงบประมาณภายใต้ (ร่าง) แผนงานบูรณาการรัฐบาลดิจิทัล ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ท่านสามารถจัดส่งรายละเอียดโครงการผ่านทางระบบสารสนเทศเพื่อการจัดทำคำของบประมาณและติดตามข้อมูล แผนงานบูรณาการรัฐบาลดิจิทัล (Submission and Monitoring System of Digital Government Integrated Budget Plan) หรือ ระบบ DGI-Budget ได้ตั้งแต่วันพุธที่ 30 พฤศจิกายน ถึง วันศุกร์ที่ 9 ธันวาคม 2565
คลิกเพื่อรับชมการประชุมชี้แจง (ร่าง) แผนงานบูรณาการรัฐบาลดิจิทัล ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และแนวทางการจัดทำคำของบประมาณโครงการภายใต้ (ร่าง) แผนงานบูรณาการรัฐบาลดิจิทัล
ประชุมคณะกรรมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567
สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA ในฐานะหน่วยงานเจ้าภาพแผนงานบูรณาการรัฐบาลดิจิทัล โดย ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล พร้อมด้วย นางไอรดา เหลืองวิไล รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล นายชรินทร์ ธีรฐิตยางกูร ผู้อำนวยการฝ่ายขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลดิจิทัล (DG) และส่วนงบประมาณบูรณาการ ติดตามและประเมินผล (DGB) ได้เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ) เป็นประธาน เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 66 ณ ห้องประชุมวิจิตรวาทการ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ทำเนียบรัฐบาล
ซึ่งที่ประชุมได้เห็นชอบกรอบงบประมาณตามที่ DGA นำเสนอจำนวน 5,523.9110 ล้านบาท โดยมีจำนวนโครงการทั้งสิ้น 78 โครงการ จาก 51 หน่วยงาน โดยแผนงานบูรณาการรัฐบาลดิจิทัล ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 มีการกำหนดเป้าหมายตาม Value Chain ได้แก่
- กลุ่มต้นน้ำ มีเป้าหมายในการยกระดับการเปลี่ยนผ่านดิจิทัลภาครัฐให้ยืดหยุ่น คล่องตัว เพื่อการบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพ (Digital Government Transformation)
- กลุ่มกลางน้ำ มีเป้าหมายในการสนับสนุนการพัฒนาแพลตฟอร์มหรือเครื่องมือดิจิทัลกลางภาครัฐ (Digital Common Platform)
- กลุ่มปลายน้ำ มีเป้าหมายในการบูรณาการข้อมูลภาครัฐและบริการภาครัฐในรูปแบบดิจิทัลผ่านแพลตฟอร์มบริการแบบเบ็ดเสร็จเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการ (End-to-End Digital Data and Services via Digital Services Platform)
ทั้งนี้ ประธานได้กล่าวในที่ประชุมว่า การพัฒนารัฐบาลดิจิทัลเป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญ เนื่องจากเป็นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน ตามวัตถุประสงค์ของ พ.ร.บ.การบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 โดยเป้าหมายสำคัญของ พ.ร.บ. ฉบับนี้มุ่งเน้นให้เกิดบริการดิจิทัลแบบเบ็ดเสร็จเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน และการทำงานของหน่วยงานภาครัฐนั้น สามารถเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานได้อย่างไม่ติดขัด หน่วยงานจะต้องมีการเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนเข้าถึงได้อย่างสะดวกและมีความปลอดภัย ซึ่งถือว่าเป็นความท้าทาย ดังนั้น รัฐบาลจึงเล็งเห็นถึงความสำคัญของโครงการด้านดิจิทัลที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายหน่วยงานและความต่อเนื่องในการทำงาน ผ่านแผนงานบูรณาการรัฐบาลดิจิทัล รวมถึงการส่งเสริมให้ความรู้และพัฒนาทักษะให้กับบุคลากรภาครัฐ ให้มีองค์ความรู้ด้านดิจิทัลก็ยังเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องผลักดันต่อไป