DGA ร่วมกับ อว. และ สพธอ. จัดประชุมเชิงปฏิบัติการโครงการ Digital Transcript : กระบวนการจัดทำ Digital Transcript (สถาบันอุดมศึกษาภาคเอกชน) หนุน 72 แห่ง ตอบโจทย์นักศึกษารุ่นใหม่ เรียนจบแล้วสมัครงานด้วย Digital Transcript ได้เลย


25 June 2564
488

สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) ร่วมกับ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการโครงการ Digital Transcript : กระบวนการจัดทำ Digital Transcript ให้แก่สถาบันอุดมศึกษาภาคเอกชน ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ และถ่ายทอดประสบการณ์ให้แก่สถาบันอุดมศึกษาเอกชนในการพัฒนาและให้บริการ Digital Transcript ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยสู่สังคมดิจิทัลโดยมี ศ.ดร. ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานในพิธีเปิดพร้อมมอบนโยบายแก่ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สถาบันอุดมศึกษาภาคเอกชน 72 แห่งที่สนใจ เข้าร่วมประชุมผ่านโปรแกรม Zoom กว่า 262 บัญชี เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา โดย ศ.ดร. ศุภชัย ได้ชี้ให้เห็นว่า ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาโครงการ Digital Transcript นี้จะสร้างความก้าวหน้าในการสร้าง Big data ด้านการศึกษาที่สำคัญของประเทศ นำไปสู่การวางแผนการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความต้องการของบัณฑิตและตลาดแรงงานได้ในอนาคต

นายณัฐวัชร์ วรนพกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล กล่าวต้อนรับและรายงานผลการดำเนินงานที่ผ่านมาว่า ปัจจุบันโครงการ Digital Transcript มีสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ที่สามารถออก Digital Transcript ให้แก่นิสิต นักศึกษาจบใหม่และสามารถนำไปใช้สมัครงานได้แล้ว 5 แห่ง ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี นอกจากนี้ ยังมีสถาบันอุดมศึกษาของรัฐและเอกชนอีก
จำนวนมากที่สนใจเข้าร่วมโครงการและอยู่ระหว่าง

ดำเนินการร่วมกับ สพร. และ สพธอ. เพื่อผลักดันให้เกิดบริการภายในปี พ.ศ. 2564 ทั้งนี้ การใช้ Digital Transcript จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการสำเนาเอกสาร และลดค่าใช้จ่ายจัดทำและจัดเก็บเอกสารรูปแบบกระดาษลงได้อย่างมากในระยะยาว โดยสามารถใช้ประโยชน์จาก Digital Transcript ที่จัดทำขึ้นอย่างมั่นคงปลอดภัยและน่าเชื่อถือได้อย่างครบวงจร

สำหรับการประชุมในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร. ภุชงค์  อุทโยภาศ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประธานคณะกรรมการจัดทำร่างมาตรฐาน ข้อกำหนด และหลักเกณฑ์ ภายใต้พระราชบัญญัติการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 และที่ปรึกษาคณะทำงานกำหนดมาตรฐานการจัดทำเอกสารสำคัญทางการศึกษาในรูปแบบดิจิทัล (Digital Transcript) มาเล่าให้ฟังถึง แนวทางการขับเคลื่อนสู่นโยบายระดับประเทศ ต่อเนื่องด้วย นางสาวขนิษฐ์ ผาทอง ผู้ชำนาญการอาวุโส สพธอ. มาแนะนำ Technology (PKI, Life Cycle of Digital Certificate) และหลักการของ e-Timestamp ให้เข้าใจถึงระบบการทำงานของ Digital Transcript มากยิ่งขึ้น ด้าน ดร.พฤษภ์ บุญมา รองผู้อำนวยการสำนักทะเบียนและประมวลผล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมด้วย ผศ.ณัชติพงศ์ อูทอง และนายพัฒณ์รพี สุนันทพจน์ ผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี
ราชมงคลธัญบุรี
ได้บอกเล่าประสบการณ์ในการปรับปรุงกระบวนการของมหาวิทยาลัยรวมถึงแนวคิดในการใช้เทคโนโลยีเพื่อจัดทำ Digital Transcript ในช่วงสุดท้าย ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ สพร. ได้นำเสนอ
แนวทางการพัฒนาระบบการจัดทำ Digital Transcript ที่มีความมั่นคงปลอดภัยและน่าเชื่อถือ เพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาภาคเอกชนนำแนวทางการพัฒนา Digital Transcript ไปปรับใช้ได้อย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับการดำเนินการของสถาบันแต่ละแห่งต่อไป ทั้งนี้หน่วยงานสำคัญทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) มีนโยบายที่ชัดเจนในการสนับสนุนให้หน่วยงานเครือข่ายทั้งภาครัฐและภาคเอกชนรับ Digital Transcript เป็นหลักฐานสำคัญในการบรรจุข้าราชการและพนักงานบริษัทเอกชนต่อไป โดยนักศึกษารุ่นใหม่ ที่เรียนจบแล้วจะสามารถสมัครงานด้วย Digital Transcript ได้