DGA ร่วมกับ อว. และ สพธอ. จัดประชุมเชิงปฏิบัติการโครงการ Digital Transcript : กระบวนการจัดทำ Digital Transcript ดันสถานศึกษาของรัฐ 103 แห่ง หนุนบริการนักศึกษา/ผู้ประกอบการ ‘จบ จ้าง’ ได้ด้วย Digital Transcript สะดวก ปลอดภัย มิติใหม่การศึกษาไทย


15 June 2564
565

สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) ร่วมกับ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการโครงการ Digital Transcript : กระบวนการจัดทำ Digital Transcript ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อชี้แจงเกี่ยวกับกระบวนการและเทคโนโลยีในการจัดทำ Digital Transcript อย่างมั่นคงปลอดภัยและน่าเชื่อถือ โดยมี ศ.นพ. สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานในพิธีเปิดพร้อมมอบนโยบายแก่ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สถาบันอุดมศึกษาของรัฐ 103 แห่งที่สนใจเข้าร่วมประชุมผ่านโปรแกรม Zoom กว่า 402 บัญชี (Account)  เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา โดย ศ.นพ. สิริฤกษ์ ได้ย้ำถึงความสำคัญของโครงการ Digital Transcript ที่จะเป็นรากฐานสำคัญที่จะช่วยให้ภาครัฐมีข้อมูลเกี่ยวกับบัณฑิตสาขาวิชาต่าง ๆ นำไปสู่การวางแผนการพัฒนากำลังคนที่สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป

ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล กล่าวต้อนรับและรายงานผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของโครงการ Digital Transcript ว่า โครงการ Digital Transcript เป็นการปรับเปลี่ยนการจัดทำส่งต่อ และตรวจสอบ Transcript ของนิสิตนักศึกษาจากรูปแบบกระดาษเป็นรูปแบบดิจิทัลที่น่าเชื่อถือ ปัจจุบันมีสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่สามารถให้บริการ Digital Transcript แก่นิสิตนักศึกษาได้แล้ว ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี นอกจากนี้ ยังมีสถาบันอุดมศึกษาของรัฐและเอกชนอีกจำนวนมากที่สนใจเข้าร่วมโครงการและอยู่ระหว่างการดำเนินการร่วมกับ สพร. และ สพธอ. เพื่อผลักดันให้เกิดบริการภายในปี พ.ศ. 2564

ดร. สุพจน์ ยังได้ย้ำว่า โครงการ Digital Transcript ถือเป็นจุดเริ่มต้นการปรับเปลี่ยนประเทศให้เข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างแท้จริง โดยเป็นการเริ่มปรับเปลี่ยนวิธีคิด หรือ mindset ปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมในการทำงานหรือ culture และปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หรือ behaviour ของสังคมให้ยอมรับและคุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการสร้าง ตรวจสอบ และใช้งานเอกสารในรูปแบบดิจิทัลอย่างครบวงจร

สำหรับการประชุมในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก นางสาวขนิษฐ์ ผาทอง ผู้ชำนาญการอาวุโส สพธอ. มาให้คำแนะนำเกี่ยวกับเรื่อง Technology (PKI, Life Cycle of Digital Certificate) และ หลักการ e-Timestamp ต่อเนื่องด้วย ดร.พฤษภ์ บุญมา รองผู้อำนวยการ สำนักทะเบียนและประมวลผล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาเล่าให้ฟังถึง กระบวนการที่เกี่ยวข้อง รวมถึงแนวทางปรับเปลี่ยนไปสู่ Digital Transcript และ ดร.จิตติ นิรมิตรานนท์ รองผู้อำนวยการสำนักบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มาเล่าถึงแนวคิดในการใช้เทคโนโลยีและกระบวนการจัดทำ Digital Transcript (Implement) ให้ฟังอีกด้วย และในช่วงสุดท้าย ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ สพร. ได้นำเสนอแนวทางการพัฒนาระบบการจัดทำ Digital Transcript อย่างมั่นคงปลอดภัยและน่าเชื่อถือเพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งได้เลือกใช้ตามความเหมาะสม และยังให้ความมั่นใจแก่สถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งว่า หน่วยงานสำคัญทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) มีนโยบายที่ชัดเจนในการสนับสนุนให้หน่วยงานเครือข่ายทั้งภาครัฐและภาคเอกชนรับ Digital Transcript เป็นหลักฐานสำคัญในการบรรจุข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของบริษัทเอกชนต่อไป เพื่อยกระดับการศึกษาไทยให้สามารถใช้เอกสารสำคัญทางการศึกษาในการ ‘จบ จ้าง’ ได้ในรูปแบบดิจิทัลที่มีมาตรฐาน และความปลอดภัยสูงได้โดยสะดวก