เอสโตเนียโชว์ปลดล็อกเลือกตั้งยุคดิจิทัล ด้วย Blockchain
ถ้าวันหนึ่งเราสามารถเลือกตั้งผ่านมือถือได้ ก็คงถึงยุค Smart Mobile-Internet of Things (M-IoT) แล้ว คือ สมาร์ตโฟนสามารถทำอะไรก็ได้ แม้แต่เรื่องที่ต้องการความมั่นคง ปลอดภัย โปร่งใสสูง และกำหนดความเป็นไปของประเทศได้อย่าง การเลือกตั้งสมาชิกผู้แทนราษฎร แต่ไม่ว่าวันนั้นจะมาถึงในเร็ววันหรือไม่ ปัจจุบันก็มีหลายประเทศนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้ประโยชน์เกี่ยวกับการเลือกตั้งกันแล้ว ดังเช่น สาธารณรัฐเอสโตเนีย (Republic of Estonia) ที่นำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้ในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง หรือที่เรียกกันว่า i-Voting
เอสโตเนียเริ่มใช้ระบบการลงคะแนนแบบดิจิทัล (Digital Voting) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2005 และอนุญาตให้มีการลงคะแนนเสียงผ่านระบบออนไลน์ในปี ค.ศ. 2007 ต่อมาในปี ค.ศ. 2015 จึงมีการนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้ในการเลือกตั้ง
สำหรับระบบ i-Voting เป็นการลงคะแนนเสียงทางอินเทอร์เน็ตที่อนุญาตให้ผู้ลงคะแนนสามารถเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์จากที่ไหนก็ได้ ซึ่งในช่วงลงคะแนนเสียงผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะเข้าสู่ระบบการเลือกตั้งโดยใช้บัตรประจำตัวประชาชน (ID-card) หรือรหัสเครื่องโทรศัพท์มือถือ (Mobile-ID) เข้ามายืนยันตัวตนในระบบ โดยข้อมูลดังกล่าวจะถูกเข้ารหัสไว้ สำหรับการลงคะแนนเสียงผ่านระบบ i-Voting ซึ่งผู้ลงคะแนนสามารถเข้าสู่ระบบการลงคะแนนได้บ่อยแค่ไหนก็ได้ในช่วงการลงคะแนนล่วงหน้า เพราะระบบจะบันทึกการลงคะแนนเสียงอัปเดตให้ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลง
หลังจากนั้น จะมีการใช้เทคโนโลยี Blockchain ในการนำส่งบัตรลงคะแนนเลือกตั้งที่อยู่ในระบบ โดยเมื่อมีการตรวจความถูกต้องบัตรลงคะแนนตามกระบวนการต่าง ๆ เรียบร้อยแล้ว จะมีการประทับเวลา (Time Stamp) พร้อมจัดเก็บไว้บนระบบ Blockchain เพื่อทำหน้าที่พิสูจน์การมีอยู่จริงของบัตรลงคะแนนนั้น ๆ (Proof of Existence) แทนการใส่หีบบัตรเลือกตั้ง นับเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยลดช่องโหว่มากมายจากการลงคะแนนด้วยกระดาษลงได้
ทั้งนี้ ประโยชน์ของการนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้กับการลงคะแนนเสียง จึงเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจมากในยุคดิจิทัลที่สามารถนำมาใช้ลดโอกาสการทุจริต และทำให้การเลือกตั้งมีความเป็นธรรมมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนับคะแนนเสียง เนื่องจากจะไม่สามารถทุจริตในการเลือกตั้งได้โดยไม่ทิ้งร่องรอยไว้ภายใต้เทคโนโลยี Blockchain ได้เลย นอกจากนี้ในแง่ความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของข้อมูล ระบบ Blockchain สามารถออกแบบการเข้ารหัสเพื่อรักษาข้อมูลส่วนตัว มีการปกปิดตัวตน และข้อมูลการมีส่วนร่วมทางการเมืองต่าง ๆ ของผู้ลงคะแนนเสียงได้อย่างดี ดังนั้น Blockchain จึงเป็นเทคโนโลยีสำคัญที่ทำให้เกิดความโปร่งใสในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง และช่วยอำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางประเทศได้ทุกที่ทุกเวลา นับเป็นการส่งเสริมกระบวนการประชาธิปไตยอีกทางหนึ่งด้วย
ดาวน์โหลดหนังสือการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนสำหรับภาครัฐฉบับภาษาไทย โดย สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สพร. หรือ DGA ได้ที่ https://www.dga.or.th/document-sharing/dga-e-book/annual-blockchain/47115/