ถึงเวลาที่จะมี “ที่อยู่ดิจิทัล” (Digital Inbox) ที่เป็น “ทางการ” ของประชาชนได้แล้ว
ถึงเวลาที่จะมี “ที่อยู่ดิจิทัล” (Digital Inbox) ที่เป็น “ทางการ” ของประชาชนได้แล้ว
โดยดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์
ในอดีตที่ผ่านมา และแม้กระทั่งทุกวันนี้ ภาครัฐได้มีการกำหนดให้ประชาชนแจ้งที่อยู่ที่เป็นทางการ สำหรับการส่งเอกสารต่างๆ จากหน่วยงานของภาครัฐ ซึ่งที่อยู่ตามทะเบียนบ้านนั้นน่าจะถือว่าเป็นที่อยู่ที่เป็นทางการแล้ว แต่เอาเข้าจริงๆ คนจำนวนไม่น้อยไม่ได้อาศัยอยู่ตามทะเบียนบ้านเลย จึงเกิดกรณีที่เอกสารจากภาครัฐบางเรื่องส่งไปไม่ถึงประชาชนอย่างทันเวลาทำให้เกิดความไม่สะดวกตามมา
ต่อมาในยุคอินเทอร์เน็ต เรามีการใช้อีเมลติดต่อสื่อสารกันอย่างแพร่หลาย แต่ประเด็นคือเราเลือกใช้ชื่อบัญชีตามความสะดวก ไม่มีมาตรฐานที่แน่นอน ซึ่งการเลือกใช้อีเมลที่เป็นทางการนั้นควรเลือกของผู้ให้บริการที่ได้ตามมาตรฐานด้วย นอกจากนี้เราต่างมีอีเมลกันมากกว่าหนึ่งบัญชี ทำให้การเลือกบัญชีใดบัญชีหนึ่งเป็นเมลทางการนั้นอาจจะต้องหาวิธีการที่ตอบโจทย์มากกว่าการเลือกเพียงอีเมลเดียว
พอมาในยุคดิจิทัลที่ผู้ใช้มีทางเลือกในการติดต่อสื่อสารหลากหลายช่องทาง โดยเฉพาะการใช้โซเชียลมีเดีย อย่างเฟสบุ๊ค และไลน์ ที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น ทำให้คอนเซ็ปท์ของที่อยู่ดิจิทัล เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เพราะมันไม่ใช่แค่ การรับเอกสารดิจิทัลในรูปแบบการใช้อีเมลแล้ว ดังนั้นการใช้ที่อยู่ดิจิทัลโดยใช้โซเชียลมีเดียจึงต้องมีการหากลไกลมาใช้อย่างเหมาะสมด้วย
อีกช่องทางหนึ่งที่สามารถใช้เป็นช่องทางรับเอกสารดิจิทัลของประชาชนจากภาครัฐคือ Data Storage หรือ Cloud Storage ช่องทางนี้เหมาะสำหรับเอกสารดิจิทัลที่อาจมีขนาดใหญ่ สำหรับช่องทางนี้รูปแบบของเอกสารดิจิทัลต้องคำนึงถึงเรื่องมาตรการการตรวจสอบย้อนหลังที่เหมาะสมด้วยเช่นกัน
จากทั้งหมดที่กล่าวมา สามารถทำได้แต่ต้องมี Digital ID ของประชาชนที่จะทำให้การยืนยันตัวตนบนโลกดิจิทัลมีความมั่นใจในการกำหนดช่องทางที่อยู่ดิจิทัลหรือ Digital Inbox ของประชาชนคนนั้นๆ เป็นเรื่องที่น่ายินดีว่า เราน่าจะได้ใช้ Digital ID ภายในปีหน้า การสร้างที่อยู่ดิจิทัลที่เป็นทางการก็จะเริ่มต้นขึ้น ต่อไปประชาชนจะสามารถบริหารจัดการเอกสารดิจิทัลที่ออกโดยภาครัฐด้วยตนเอง ที่มีใช้การเทคโนโลยีที่มั่นคงและปลอดภัย รวมถึงสะดวกในการตรวจสอบความถูกต้อง สามารถตอบโจทย์เรื่องการไปสู่ Paperless Government และ Thailand 4.0 ในที่สุด
———————————–
ตีพิมพ์ลงใน หนังสือพิมพ์ Posttoday ฉบับวันที่ 14 ธันวาคม 2560
คอลัมน์ e-Government หมวดเศรษฐกิจดิจิทัล หน้า C7