เมื่อรัฐบาลเริ่มให้ข้อมูลประชาชนโดยใช้ Chatbot
เมื่อรัฐบาลเริ่มให้ข้อมูลประชาชนโดยใช้ Chatbot
โดยดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์
เมื่อเดือนที่แล้ว กรมสรรพากร ประเทศออสเตรเลีย เริ่มเปิดใช้ Chatbot ชื่อว่า Alex มาให้ข้อมูลประชาชนที่ต้องการสอบถามประเด็นต่างๆ เรื่องภาษี ทำให้การค้นหาข้อมูลเปลี่ยนไปเป็นระบบที่ตอบสนองลักษณะถามมาตอบไป ผลคือ แทนที่จะเสียเวลาไล่ดูตามเมนูต่างๆ ในเว็บ เพียงแค่ตั้งคำถามว่าต้องการทำอะไร Alex จะตอบกลับมาว่าควรจะทำอย่างไร หรือควรจะไปดูข้อมูลที่ไหนบ้าง ช่วยให้ลดเวลาอย่างมากในการได้ข้อมูลที่ต้องการจริงๆ
การนำ Chatbot มาใช้ในงานภาครัฐเป็นเรื่องที่เหมาะสมอย่างมาก เพราะกฎระเบียบต่างๆ ของภาครัฐที่กำหนดให้การทำธุรกรรมต่างๆ มีความยุ่งยาก ซับซ้อน และบางครั้งเข้าใจยากมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนที่ไม่มีพื้นฐานในด้านนั้นๆ ตัวอย่างเช่น คำว่า "รถ" ภาษาราชการจะใช้คำว่า "ยานพาหนะ" แทน หรือคำว่า "ใบขับขี่" ภาษาราชการจะใช้คำว่า "ใบอนุญาตขับขี่ " เป็นต้น การใช้ ChatBot จะช่วยลดความยุ่งยากในการตีความภาษาราชการ เพื่อสื่อสารภาษาในแบบที่ประชาชนทั่วไปเข้าใจได้ง่ายขึ้น
สิ่งที่จะช่วยมากกว่านั้นในการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้คือ การที่ระเบียบภาครัฐมีจำนวนมากมาย และยังมีความสัมพันธ์ระหว่างกันด้วย ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ ระเบียบการให้สิทธิ์ประชาชนในการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล ปีที่แล้ว ศูนย์คอลเซ็นเตอร์ของสำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ ต้องรับโทรศัพท์จากผู้สอบถามเรื่องสิทธิ์ต่างๆ 7-8 แสนครั้ง ลองนึกดูว่า ถ้ามี Chatbot ที่มีความฉลาดพอในการตอบคำถามตรงกับความต้องการผู้ใช้สิทธิ์จริงๆ จะลดภาระเจ้าหน้าที่ลงไปได้อย่างมาก และเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการตอบข้อซักถามให้กับประชาชนอีกด้วย
แต่การจะนำเทคโนโลยีอย่าง ChatBot มาใช้ได้อย่างสัมฤทธิ์ผล หมายความว่า ภาครัฐจะต้องเตรียมข้อมูลที่เพียงพอในการ "สอน" ChatBot ให้สามารถตอบคำถามได้หลากหลายและครอบคลุม ดังนั้นการบริหารจัดการข้อมูลภาครัฐต้องคิดใหม่ทำใหม่ เพราะไม่ใช่แค่การกำหนดมาตรฐาน และวิธีการบริหารข้อมูลที่เป็นระบบเท่านั้น แต่รวมถึงการคำนึงถึงความสัมพันธ์ของข้อมูลในทุกมิติเลยทีเดียว นี่คือสิ่งที่เป็นพื้นฐานของการก้าวไปสู่รัฐบาลดิจทัลที่สมบูรณ์แบบ นั่นคือรัฐบาลที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลหรือ Data-driven Government
———————————–
ตีพิมพ์ลงใน หนังสือพิมพ์ Posttoday ฉบับวันที่ 14 กันยายน 2560
คอลัมน์ e-Government หมวดเศรษฐกิจดิจิทัล หน้า C7